การชมเชยลูกน้อยนั้นเป็นเหมือนการรดน้ำต้นไม้ให้เติบโตค่ะ ซึ่งการชมเชยที่ถูกวิธีจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อยอยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเทคนิคในการชมลูกด้วยนะคะ วันนี้เราจะมาเรียนรู้วิธี ชมเชยลูกยังไง ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก และส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของลูก เพื่อให้คำชมนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกน้อยกันค่ะ
สารบัญ
ทำไม? “การชมเชยลูก” จึงสำคัญ
คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านแอบกังวลว่าการชมเชยลูกมากหรือบ่อยเกินไปจะทำให้ลูก “เหลิง” บางครั้งจึงวางเฉยเมื่อลูกทำสิ่งดี ๆ หรือทำอะไรสำเร็จ แต่ในทางกลับกัน เมื่อลูกทำผิดกลับพร้อมตำหนิติเตียน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรทำนะคะ เนื่องจากการที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตและรับรู้ถึงความดี หรือสิ่งดี ๆ ที่ลูกน้อยทำ แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม สามารถสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับลูกได้อย่างมหาศาลค่ะ เพราะโลกใบน้อย ๆ ของลูกนั้นพ่อแม่มีอิทธิพลและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ทุกปฏิกิริยาของคุณพ่อคุณแม่ที่เกิดขึ้นเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี ที่ถูกต้อง จึงส่งผลต่อความรู้สึกของลูกในทุกมิติค่ะ
การชมเชยลูก ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก และส่งเสริมการพัฒนาตัวเอง
สำหรับลูกน้อยนั้น คำชมเชยสามารถก่อให้เกิดพลังมหาศาล รวมถึงส่งเสริมพัฒนาการและสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้ลูกได้ดังนี้
▪ เพิ่มความมั่นใจ
ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยมีคนคอยให้กำลังใจ และกำลังใจที่สำคัญที่สุดของลูกก็คือ กำลังใจจากพ่อแม่ เมื่อได้รับคำชม ลูกจะรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองและมีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะทำสิ่งดี ๆ
▪ ทำให้ลูกเป็นคนมองโลกในแง่ดี
เพราะคำชมคือการพูดถึงสิ่งที่ดี การที่พ่อแม่หมั่นชมลูกบ่อย ๆ จึงทำให้ลูกซึมซับและรู้จักการมองเห็นสิ่งดี ๆ ในตัวผู้อื่น มองเห็นด้านดีของคนอื่นเสมอ ก็จะทำให้ลูกสามารถใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุข
▪ พัฒนาความสัมพันธ์
การชมเชยนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้บ่มเพาะสัมพันธภาพที่ดีกับลูก เป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูก การได้รับคำชมเชยจากพ่อแม่เปรียบเสมือนการหยอดกระปุกเติมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น ช่วยเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้ตระหนักถึงพฤติกรรมทางบวกที่ลูกมี ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแข็งแรงขึ้นได้
▪ ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี
การชมเชยพฤติกรรมที่ดีของลูก จะช่วยให้ลูกอยากทำพฤติกรรมแบบนั้นซ้ำอีก ช่วยบ่มเพาะให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมทางบวก ซึ่งในทางจิตวิทยาเชื่อว่าการที่คนเราจะเลือกทำพฤติกรรมใด ๆ จำเป็นต้องมีการลงทุนลงแรง หากการลงทุนนั้นนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ได้รางวัลหรือคำชม เราก็มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมนั้นเพิ่มขึ้นเพราะคุ้มค่า แต่หากไม่มีสิ่งตอบแทนใดตามมา เราก็อาจอ่อนล้าหมดกำลังใจที่จะทำพฤติกรรมนั้นต่อไปนั่นเอง
▪ แสดงถึงการยอมรับในตัวตนของลูก
โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนต้องการการยอมรับและให้เกียรติ ลูกน้อยก็เช่นกัน พ่อแม่จึงควรให้เกียรติลูกด้วยการยอมรับและให้ความเคารพในการตัดสินใจของลูกด้วยหากเป็นเรื่องที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญปัญหา และเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง และเมื่อลูกทำเรื่องนั้น ๆ สำเร็จ ควรให้คำชมเป็นพลังเสริม แม้ลูกยังทำไม่สำเร็จหรือมีข้อผิดพลาด ก็ควรทำหน้าที่ให้กำลังใจและประคับคองความเชื่อของลูกให้ไปสู่เป้าหมายที่เขาตั้งไว้ให้ได้
▪ ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก
คำชมที่ดีจะกระตุ้นให้ลูกอยากทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับคำชมอีก ช่วยลดความเสี่ยงที่คุณพ่อคุณแม่จะพูดคุยใส่ใจกับลูกเฉพาะเมื่อลูกทำผิดหรือมีปัญหา ซึ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่เป็นไปในทางลบ จนบางครั้งลูกอาจเลือกแสดงพฤติกรรมทางลบเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ แต่ที่สำคัญคือ การชื่นชมนี้ต้องเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่ใช่การเสแสร้ง และไม่ใช้มาตรฐานของผู้ใหญ่ไปคาดหวังกับลูกที่มีความแตกต่างกันทั้งความรู้ ความเข้าใจโลก ความพร้อมทางร่างกาย อารมณ์หรือสังคม คำชมจึงมีความหมายมากต่อการสร้างตัวตนและความสำเร็จของลูก
แรงจูงใจเชิงบวก คืออะไร ส่งเสริมการพัฒนาตัวเองของลูกยังไง
แรงจูงใจเชิงบวก หรือ แรงเสริมทางบวก หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นตามหลังพฤติกรรมใด ๆ แล้ว จะทำให้พฤติกรรมนั้น ๆ เกิดมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น คำชมเชยที่ดีและเหมาะสมจึงสามารถเป็น แรงจูงใจเชิงบวก ทำให้ลูกน้อยทำสิ่งที่ดีต่อไปได้ โดยคำชมเชยที่ดีและได้ผลมากที่สุด ควรมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ
- คำชมเชย
- พฤติกรรมที่เราเห็นว่าดีและอยากให้เกิดมากขึ้น
- ผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกน้อยเก็บของเล่นหลังเล่นเสร็จแล้ว คุณแม่ได้พูดชมเชยว่า “ขอบคุณลูกมากที่เล่นแล้วเก็บของ มีความรับผิดชอบในของของตัวเอง ไม่ต้องให้แม่เก็บให้ ช่วยให้แม่เหนื่อยน้อยลงเยอะเลย แม่ชื่นใจจริงๆ” พร้อมทั้งยิ้มและลูบศีรษะลูก สิ่งเหล่านี้ จะทำให้คุณแม่พบว่า ในครั้งหลัง ๆ ลูกน้อยจะเก็บของเล่นเข้าที่เสมอ เพราะคุณแม่ชมเชยลูกทั้งคำพูดและการกระทำ (ยิ้มและลูบศีรษะลูกขณะชมเชยลูก) พูดชมเชยด้วยความจริงใจ ซึ่งเมื่อทำอย่างเหมาะสมจะทำให้พฤติกรรมดี ๆ ของลูกเกิดมากขึ้นบ่อยขึ้นในอนาคต
ที่สำคัญคือ คำชมเชยของคุณพ่อคุณแม่จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนม เช่น “แม่ก็ขอให้ทำดีแบบนี้ให้ได้ตลอดนะ ไม่ใช่ทำได้ครั้งนี้ครั้งเดียวแล้วก็ไม่ทำอีก” ซึ่งคำพูดแบบนี้จะลดประสิทธิภาพของ แรงจูงใจเชิงบวก ลงไปอย่างมาก อาจทำให้ลูกน้อยใจและไม่อยากทำดีต่อไป
ชมเชยลูกยังไง ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก
ลูกน้อยนั้นจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ช่วงเวลานี้สิ่งสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกมากที่สุดก็คือ แรงสนับสนุนจากพ่อแม่ เพื่อช่วยให้ลูกได้ค้นพบความถนัดและความชอบของตนเอง ซึ่ง การให้คำชม และการให้กำลังใจลูก คือแรงสนับสนุนที่ดีที่สุดค่ะ แล้ว… ชมเชยลูกยังไง ? ช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก มาดูวิธีกันค่ะ
วิธีชมเชยลูกแบบได้ผลลัพธ์เชิงบวก |
|
ชมเชยพฤติกรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล
ทำให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ถูกต้องและควรทำซ้ำ |
Don’t: “ลูกเก่งจัง”
Do: “ลูกวาดรูปสวยมากเลย ใช้สีได้เข้ากันดี” |
ชมเชยอย่างเฉพาะเจาะจง
จะทำให้ลูกรู้ว่าเราสังเกตเห็นความพยายามของเขา |
Don’t: “ลูกทำได้ดีมากเลย”
Do: “ลูกพยายามเก็บของเล่นเอง เก่งมากเลย” |
ใช้คำพูดที่เป็นบวก
ช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับลูก |
Don’t: “ลูกไม่ทำผิดเลยนะ”
Do: “ลูกทำได้ดีมากเลยที่พยายามไม่ทำผิด” |
หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบ
เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกด้อยค่า |
Don’t: “ทำไมลูกไม่เก่งเหมือนพี่”
Do: “ลูกพยายามทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เลยนะ” |
ทั้งนี้ คำชมเชยจากคุณพ่อคุณแม่ควรเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอนะคะ เพราะจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกได้เป็นอย่างดี โดยควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก ว่าชอบอะไร โดดเด่นเรื่องไหน เพื่อจะได้ชมเชยในสิ่งที่ลูกทำได้ดี และต้องให้โอกาสลูกได้แสดงออกทางความสามารถและความคิดเห็นของตัวเอง รวมถึงต้อง Role Model เป็นแบบอย่างที่ดีในการแสดงออกถึงความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเองด้วยค่ะ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงคำชมเชยบางประเภท อาทิ
- ชมเชยเกินจริง เพราะจะทำให้ลูกไม่เชื่อถือในคำชมที่ได้รับ
- ชมเชยทุกอย่าง จะทำให้คำชมไม่มีความหมาย
- ใช้คำชมเป็นเครื่องมือควบคุม เพราะการใช้คำชมเพื่อบังคับให้ลูกทำตามที่เราต้องการ จะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวได้ค่ะ
คำชมเชยอย่างเหมาะสมนั้น จะสามารถสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ การมีคุณค่าในตนเองให้กับลูก ทำให้ลูกได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเอง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งดี ๆ ต่อไปได้ด้วย ชมอย่างถูกต้องเหมาะสมเถอะค่ะ รับรองว่าลูกไม่เหลิง
ที่มา : เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา , www.psy.chula.ac.th , www.trueplookpanya.com , www.thaikidsacademy.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ให้เกียรติลูกบนโลกออนไลน์ ขออนุญาตก่อนโพสต์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการ
พ่อแม่ 10 แบบที่ทำให้ ลูกไม่มีความสุข คุณเป็นแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?
วิจัยเผย เลี้ยงลูกใกล้ชิดธรรมชาติ ลูกสุขภาพจิตดี อารมณ์ดี! ไม่เป็นซึมเศร้า