รถหัดเดิน อุบัติเหตุ อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่คาดไม่ถึง จะเป็นอย่างไรต้องดู!
รถหัดเดินมีประโยชน์และช่วยเสริมพัฒนาการด้านการเดินของลูกให้เร็วขึ้นจริงหรือไม่ ติดตามอ่าน รถหัดเดิน อุบัติเหตุ ใกล้ตัวเด็กอันตรายที่แม่คาดไม่ถึง
รถหัดเดิน (Baby walker) ทำให้ลูกเดินเร็วขึ้นจริงหรือไม่
คำตอบ คือ ไม่จริงค่ะ ผู้ใหญ่มักให้เด็กใช้รถหัดเดิน ในช่วงที่ลูกน้อยยังเดินไม่ได้ หวังว่าลูกน้อยจะเดินได้เร็วขึ้นเพราะสามารถก้าวขาได้เร็ว ความเป็นจริง เมื่อลูกน้อยขยับตัวเพียงเล็กน้อย รถหัดเดินที่มีล้ออยู่โดยรอบ ก็พร้อมกลิ้งไปโดยที่ฝ่าเท้าของลูกไม่จำเป็นต้องเหยียบเต็มฝ่าเท้าด้วยซ้ำ และถ้าเด็กต้องอยู่ในรถหัดเดินบ่อย ๆ มาก ๆ ก็ยิ่งทำให้เด็กเดินช้า เพราะไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง มีท่ายืนและเดินของเด็กในรถหัดเดินจะไม่ใช่ท่าตามปกติ เด็กบางคนขาลอยเหนือพื้น ขาเด็กไม่ได้สัมผัสพื้นจริงเพียงแต่กวาดๆ เท้าไปมาเท่านั้น บางครั้งยังอาจเกิดอันตรายจากการเคลื่อนไหวรถหัดเดินอย่างรวดเร็ว แล้วอาจจะตกจากที่สูงหรือชนสิ่งของตกล้มได้ด้วย
นอกจากนี้จากคำยืนยันของ ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ที่กล่าวถึงรถหัดเดินไว้ว่า เด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเด็กเริ่มเดินจริงกลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน ดังนั้น เด็กที่อยู่ในรถหัดเดิน นานหลายชั่วโมงต่อวัน เมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินเป๋ เพราะใช้ปลายเท้าในการเดิน โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1-3 เดือน ในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คน พบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการ ด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้
อ่าน รถหัดเดินอุบัติภัยใกล้ตัวเด็กอันตรายที่แม่คาดไม่ถึง คลิก
รถหัดเดินอุบัติภัยใกล้ตัวเด็กอันตรายที่แม่คาดไม่ถึง
รถหัดเดินอันตรายอย่างไร
1.สภาพของรถหัดเดินโดยมากแล้วจะมีฐานที่ไม่กว้าง โครงสร้างก็เปราะบาง จึงมักจะเกิดเหตุพลิกคว่ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กไถไปโดยเร็วแล้วไปเจอพื้นต่างระดับ สะดุดกับสิ่งของบนพื้น หรือแม้แต่ชนกับเสาหรือกำแพง จนได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะที่แขน ขา ใบหน้า หรือศีรษะ ที่สำคัญคือ รถหัดเดินร่วงลงมาจากที่สูง ไม่ว่าจะเป็นชั้นบนของบ้าน หรือบ้านที่มีใต้ถุน ทำให้เด็กบางคนถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
2.นอกจากจะไถรถไปวิ่งชนกับ “ของแข็ง” ยังมีโอกาสวิ่งไปชน “ของร้อน” อีกด้วย เช่น โต๊ะที่วางกาน้ำร้อน หม้อหุงข้าว หรือสายไฟเตารีด หากโดนน้ำร้อนลวกเพียงแค่ 30 วินาที ผิวหนังจะไหม้และอาจเสียหายอย่างถาวร และการโดนของร้อนอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างฉับพลัน)
3.สิ่งที่อาจจะนึกไม่ถึง แต่ได้เกิดขึ้นแล้วก็คือ รถหัดเดินเป็นอีกสาเหตุให้เด็ก “จมน้ำตาย” ดังเช่น จากรายงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เกิดกรณีเด็กไถรถหัดเดิน จนหล่นลงไปในสระน้ำ บ่อน้ำหรือไถรถไปชนจนหน้าคว่ำลงไปในอ่างน้ำ ถังน้ำ หรือแม้แต่ส้วมชักโครกก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นสามารถนำมาสู่ภาวะสมองตายเพราะขาดอากาศหายใจ
อ่าน ผลวิจัยยืนยันอันตรายของรถหัดเดิน คลิก
ผลวิจัยยืนยันอันตรายของรถหัดเดิน
ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เก็บข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ทารก 12 ชนิด ในครอบครัวที่มีลูกอายุไม่เกิน 2 ขวบ ได้แก่ กรุ๊งกริ๊ง หัวนมหลอก รถเข็นเด็ก ยางกัด เตียงเด็ก เปลคอก เปลไกว รถพยุงตัว (หัดเดิน) เก้าอี้สูง เก้าอี้นั่งโยก เก้าอี้กระโดด และเป้อุ้มเด็ก พบสิ่งที่น่าตกใจว่า ในจำนวนเด็ก 245 ราย มีเด็กบาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 82 ราย โดยบาดเจ็บจากรถหัดเดินสูงสุดถึง 47 ราย ตามติดด้วยของเล่นยอดฮิตในเด็กทารก “กรุ๊งกริ๊ง” (24ราย) เปลไกว (20ราย) รถเข็นเด็ก (10ราย) และอื่นๆ ตามลำดับ
สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ ประกาศเตือนบรรดาผู้ปกครองให้เลิกใช้รถหัดเดินสำหรับเด็กเป็นการถาวร โดยระบุว่า รถหัดเดิน (Baby walker) ก่อให้เกิดความเสี่ยงในอันที่เด็กจะได้รับ บาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตได้พยายามออกแบบรถหัดเดินใหม่ เพื่อป้องกันรถหัด เดินล้มคว่ำหรือเด็กไถรถหัดเดินจนตกบันได ยิ่งไปกว่านั้น ทางสมาคมกุมารแพทย์สหรัฐฯ ระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานประกอบแน่ชัดที่รับรองว่า รถหัดเดินมีประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กอย่างแท้จริง ในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กบาดเจ็บจากรถหัดเดินต้องมารับการรักษาในห้องฉุกเฉินปีละกว่า 29,000 ราย เลยทีเดียว ซึ่งในประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และขณะนี้บางรัฐในสหรัฐอเมริกาได้มีกฎหมายห้าม มิให้จำหน่ายรถหัดเดินแล้ว ขณะที่บางรัฐยังคงให้จำหน่ายได้ แต่ต้องมีคำเตือนอันตรายแก่ผู้ซื้อ
ส่วนในบ้านเราทุกวันนี้ หน่วยงาน สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค)ได้ออกกฎหมายให้ผู้ผลิตต้องเปลี่ยนชื่อจากรถหัดเดินมาเป็น “รถพยุงตัว” และให้ปิดฉลากคำเตือนที่ตัวรถว่า “อุปกรณ์ชิ้นนี้ไม่ได้ช่วยหัดเดิน” แต่ก็ยังขายได้อย่างเสรี
แม้ว่ารถหัดเดินในทางการแพทย์จะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการในการเดินที่เร็วขึ้น รวมถึงมีผลการวิจัยต่าง ๆ ว่ารถหัดเดินมีผลเสียมากกว่าผลดีต่อเด็ก แต่ถ้าหากผู้ปกครองมีความจำเป็นในการใช้ อาจไม่ว่างที่จะอุ้ม ก็ควรอย่าให้ลูกคลาดสายตา จัดพื้นที่ให้ปลอดภัย ไร้สิ่งกีดขวาง พื้นต้องเรียบ แต่ถ้าให้ดีที่สุดควรจะเป็นคอกกั้นจะดีกว่า ได้ใช้พื้นที่ที่ปลอดภัย อยู่ในคอกที่เรามั่นใจได้ว่าไม่มีสิ่งอันตราย และเด็กยังสามารถฝึกหัดเดินได้ดีกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
oknation
facebook
thaihealth
อ่านบทความอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง
เตือนภัย! อุบัติเหตุคาร์ซีทกับรถเข็นช้อปปิ้งไถลตกฟุตบาธ
ระวัง 16 จุดอันตรายในบ้าน ทำลูกเกิดอุบัติเหตุถึงตาย !
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!