ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ๆ ไม่ควรมองข้ามหากกำลังท้องใหม่ๆ
ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ เชื่อว่ามีแม่ๆ หลายท่านมีความกังวลไม่น้อยในขณะที่กำลังตั้งท้องใหม่ๆ และไม่แน่ใจว่าจะเกิดปัญหาหรือความเสี่ยงใดๆ บ้างที่จะเกิดกับครรภ์ของเรา แม่ๆ ไม่ควรมองข้ามหากกำลังท้องใหม่ๆ มาให้ตรวจเช็กกันค่ะ
เช็กตั้งท้องแล้วจะมีภาวะเสี่ยงแบบไหนบ้าง ลองดูได้จากด้านล่างค่ะ
ปัจจัยที่ 1 ปัญหาสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่มีภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์มากขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
แม้ว่าความดันโลหิตสูงอาจเป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ แต่ผู้หญิงจำนวนมากที่มีความดันโลหิตสูงก็มีครรภ์สุขภาพดีและมีลูกน้อยที่แข็งแรงได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง อาจเป็นอันตรายต่อไตของแม่ และเพิ่มความเสี่ยงทารกน้ำหนักน้อย หรือภาวะครรภ์เป็นพิษ
- รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ หรือ PCOS
ผู้หญิงที่มีกลุ่มอาการ PCOS จะประสบปัญหามีบุตรยาก เนื่องจากรังไข่ทำงานผิดปกติ และเมื่อตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ รวมถึงภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนด
- เบาหวาน
ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานจำเป็นควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดก่อนที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของการตั้งครรภ์อาจเป็นเหตุให้ทารกพิการแต่กำเนิด ซึ่งเป็นระยะก่อนที่ผู้หญิงจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการรับประทานโฟลิคทุกวันก่อนตั้งครรภ์จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
บทความแนะนำ แพทย์ชี้! ทานโฟเลตก่อนมีเซ็กส์ ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิดได้
- โรคไต
ผู้หญิงที่เป็นโรคไตมักจะมีลูกยากและมีความเสี่ยงในการแท้งบุตร คุณแม่ท้องที่เป็นโรคไตควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การใช้ยา และพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ
- โรคภูมิแพ้ตัวเอง
โรคภูมิแพ้ตัวเอง รวมถึงโรค SLE และโรคปลอกประสาทอักเสบ (MS) โรคภูมิแพ้ตัวเองบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โรค SLE เพิ่มความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และการเสียชีวิตในครรภ์ คุณแม่ท้องบางคนอาจมีอาการดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ในขณะที่บางคนอาจอาการกำเริบมากขึ้น ทั้งนี้การใช้ยารักษาโรคภูมิแพ้ตัวเองอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
บทความแนะนำ สัญญาณไม่ปลอดภัย ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์
- โรคไทรอยด์
โรคไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการควบคุม อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น หัวใจล้มเหลว น้ำหนักน้อย และพิการแต่กำเนิด
- ภาวะมีบุตรยาก
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าผู้หญิงที่ใช้ยาเพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้เอง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับรก (ซึ่งเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างคุณแม่และทารกในครรภ์) และการมีเลือดออกทางช่องคลอด
- เอชไอวี หรือเอดส์
เอชไอวี หรือเอดส์จะทำลายเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อและโรคมะเร็งบางชนิดได้ยาก ที่สำคัญคุณแม่ท้องสามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสไปยังลูกน้อยในท้องระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอดบุตร หรือผ่านน้ำนมของแม่ได้ แต่โชคดีที่ปัจจุบันสามารถลดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในท้อง หรือทารกแรกเกิดได้ คุณแม่ท้องที่มีเชื้อไวรัสในจำนวนน้อยมากๆ สามารถคลอดธรรมชาติได้โดยที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระดับต่ำ สำหรับคุณแม่ที่มีจำนวนเชื้อเอชไอวีมากควรผ่าคลอด เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งผ่านเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกขณะคลอด
การดูแลตัวเองตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์มีความสำคัญมากสำหรับคุณแม่ที่มีเชื้อเอชไอวี คุณแม่ที่รับประทานยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่องและคลอดบุตรโดยการผ่าคลอด ความเสี่ยงที่ทารกจะติดเชื้อมีโอกาสเพียง 2% เท่านั้น
บทความแนะนำ ชาติแรกในเอเชีย!! หยุดการแพร่เชื้อเอชไอวี จากแม่สู่ลูก
ติดตามอ่าน ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ จากปัจจัยอื่นๆ คลิกหน้าถัดไป
ปัจจัยที่ 2 อายุขณะตั้งครรภ์
ช่วงอายุของแม่ท้องที่มีความเสี่ยงคือ แม่ท้องที่อายุน้อย และแม่ท้องที่อายุมากกว่า 35 ปี
- คุณแม่วัยใส
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและโรคโลหิตจาง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมากว่าคุณแม่ท้องที่มีอายุมากกว่า คุณแม่วัยใสยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ นอกจากนี้คุณแม่ที่อายุน้อยยังไม่ค่อยมีความรู้ในการดูแลครรภ์ ไม่ค่อยไปพบหมอตามนัดเพื่อประเมินความเสี่ยง และยังไม่เข้าใจในเรื่องการใช้ยาของแม่ท้องที่อาจมีผลต่อทารกในครรภ์
บทความแนะนำ ยาสามัญที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์
- คุณแม่ท้องแรกที่อายุมากกว่า 35 ปี
งานวิจัยพบว่า คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 35 ปีจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ได้แก่
- มีแนวโน้มต้องผ่าตัดคลอด
- เกิดภาวะแทรกซ้อนในการคลอด รวมถึงเสียเลือดมากขณะคลอด
- คลอดยากใช้เวลานาน (นานกว่า 20 ชั่วโมง)
- ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
บทความแนะนำ คู่มือแม่ท้อง 35 อัพ
ปัจจัยที่ 3 ไลฟ์สไตล์ของแม่ท้อง
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์
เมื่อคนท้องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์สามารถส่งตรงไปยังทารกในครรภ์ผ่านสายรก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำว่า คุณแม่ท้องควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ และเมื่อคิดจะตั้งครรภ์
คุณแม่ท้องที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มที่จะแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ นอกจากนี้ ความเสี่ยงอื่นๆ ยังรวมถึง ความเสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด และกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ (FASD) ทำให้ทารกมีลักษณะใบหน้าที่ผิดปกติ ตัวเตี้ย น้ำหนักตัวน้อย สมาธิสั้น สติปัญญาบกพร่อง มีการหาทางการได้ยินและการมองเห็น
- สูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงทารกคลอดก่อนกำหนด พิการแต่กำเนิด และภาวะหลับไม่ตื่นในทารก (SIDS) นอกจากนี้ การที่แม่ท้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงทารกมีปัญหาสุขภาพอีกด้วย
บทความแนะนำ ไลฟ์สไตล์ของแม่ท้องที่เสี่ยงแท้ง
ปัจจัยที่ 4 ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
- การตั้งครรภ์แฝด
การตั้งครรภ์แฝดเพิ่มความเสี่ยงทารกคลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์) การตั้งครรภ์เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปและการใช้ยาเพื่อให้มีบุตร ทั้งสองอย่างนี้มีความเชื่อมโยงกับการตั้งครรภ์แฝด
การตั้งครรภ์แฝดสามขึ้นไปเพิ่มโอกาสในการผ่าคลอด แฝดสองและแฝดสามมีแนวโน้มที่ทารกจะตัวเล็กกว่า การตั้งครรภ์เดี่ยว ทารกแฝดที่คลอดก่อนกำหนดมักมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์
เป็นโรคเบาหวานที่เกิดเมื่อมีการตั้งครรภ์ คุณแม่ท้องสามารถมีครรภ์สุขภาพดีได้หากจัดการโรคเบาหวานขณะตั้งครรรภ์ได้ ด้วยการควบคุมอาหารและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากไม่ควบคุมเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ และความดันโลหิตสูง
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นได้หากคุณแม่ท้องอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไปมีความดันโลหิตสูงฉับพลัน ซึ่งส่งผลต่อไต ตับ และสมองของคุณแม่ท้อง หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาอาจถึงแก่ชีวิตทั้งแม่และ/หรือลูกน้อยในท้อง ทั้งยังมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย ครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการชักและอยู่ในขั้นโคม่า
คุณแม่ได้ทราบแล้วนะคะว่า ภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ อะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นได้ หากคุณแม่รู้เท่าทันปัจจัยเหล่านี้ได้ ก็สามารถมีครรภ์สุขภาพดีและลูกน้อยที่แข็งแรงได้อย่างไม่ต้องเป็นกังวลค่ะ
ที่มา www.nichd.nih.gov
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
แม่ยุคใหม่กับปัจจัยที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
ครรภ์คุณภาพของแม่ท้อง ต้องดูแลแบบนี้