รู้หรือไม่ว่า “ประจำเดือน” ไม่ใช่เลือดเสีย เพราะมีหลายคนที่เข้าใจว่าการมีประจำเดือนคือการขับเลือดเสียทิ้ง หลายครั้งที่คุณผู้หญิงบางคนมีความกังวลใจ เพราะการขับประจำเดือนออกมาน้อยหรือนาน ๆ ทีมีประจำเดือน จะทำให้ร่างกายเกิดเลือดคั่งภายในหรือเปล่า วันนี้ theAsianparent จะพาหาคำตอบไปพร้อมกันว่า ข้อควรรู้ เกี่ยวกับประจำเดือน ทั้ง 20 ข้อมีอะไรบ้าง เช็กได้เลยที่นี่!
ว่าด้วยเรื่องวันนั้นของเดือนของคุณผู้หญิง ต้องเข้าใจก่อนว่ารอบเดือนและประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าเดือนนี้เมนมาเยอะเหลือเกิน แต่อีกเดือน ประจำเดือนมาน้อย ก็เป็นไปได้ ซึ่งความแปรปรวนเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุก 21 – 35 วัน ในแต่ละเดือนก็อาจจะมีปริมาณที่ไม่เท่าปกติที่เคยเป็นมาก็ได้
บทความที่น่าสนใจ : ประจำเดือนมาน้อย เรื่องอันตรายใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน
ทำความรู้จัก ประจำเดือน คืออะไร
ประจำเดือน คือ เลือดและเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาทุกรอบเดือนของผู้หญิง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทุก 21 – 35 วัน แต่ละรอบจะอยู่นาน 3 – 7 วัน การที่เราต้องมีการสร้างเนื้อเยื่อโพรงมดลูกใหม่เสมอก็เพื่อให้พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน จึงทำให้เกิดวงโคจรของประจำเดือนแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งก็จะขึ้นลงตามระดับของฮอร์โมนเพศด้วย อีกทั้งประจำเดือนไม่ใช่เลือดเสีย จึงไม่ต้องกังวลว่าการที่ประจำเดือนมาน้อย หรือนาน ๆ มาที จะทำให้เกิดเลือดคั่งในร่างกายได้ เพราะข้อมูลนี้แพทย์ยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่เป็นความจริง
สีของประจำเดือนเปลี่ยนแปลงไปเรื่องจริงหรือไม่?
โดยปกติแล้ว “ประจำเดือน” จะมีสีที่เปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันในทุกรอบเดือนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับความเก่าใหม่ของเลือดมากกว่า ถ้าหากเลือดที่ออกมาในช่วงต้น ๆ วันที่รอบเดือนมาก็จะเป็นสีแดงสด หากเข้าสู่ช่วงท้ายของรอบเดือนสีจะเข้มขึ้น เพราะว่าการไหลของเลือดจะลดลง รวมถึงมีเลือดค้างอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อถึงช่วงหนึ่งเลือดอาจสัมผัสกับอากาศก็เปลี่ยนให้มีสีคล้ำขึ้นได้
อีกทั้งการเปลี่ยนของสีรอบเดือนในช่วงท้ายนั้นเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดและเยื่อบุที่หลุดออกมามากกว่าการเกี่ยวข้องกับโรคความเจ็บป่วยที่เป็นข้อมูลอยู่บนโลกออนไลน์
3 สิ่งที่ควรสังเกตเกี่ยวกับประจำเดือน
- ปริมาณเลือดที่ออกมา หากผู้หญิงคนไหนที่ต้องเปลี่ยนในทุก 2 ชั่วโมงและปริมาณที่เยอะเกินไปหรือเต็มแผ่น ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีความผิดปกติที่ภายในก็เป็นได้
- เลือดที่ออกมาเป็นลักษณะก้อนเลือด หากมีลิ่มเลือดสีแดงสด, แดงเข้ม หรือแดงคล้ำ อาจมีความผิดปกติภายในได้เช่นกัน ควรตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ความสม่ำเสมอของรอบเดือน โดยปกติแล้วรอบเดือนของผู้หญิงจะมาทุก 21 – 35 วัน จะไม่มาเร็วกว่า 21 วัน และไม่มาช้ากว่า 35 วัน
20 ข้อควรรู้ เกี่ยวกับประจำเดือน
- ช่วงอายุที่เริ่มมีประจำเดือน โดยปกติจะอยู่ที่ 12 – 13 ปี แต่ปัจจุบันพบว่ามีแนวโน้มที่เด็กผู้หญิงจะมีประจำเดือนเมื่ออายุยังน้อยมากขึ้นด้วย
- โรคอ้วน คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนเร็วขึ้น
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ในช่วง 2 ปีแรก การมีประจำเดือนจะยังมาไม่สม่ำเสมอ เพราะฮอร์โมนในร่างกายยังไม่สมดุล
- ช่วงเวลามีประจำเดือน ปกติแล้วประจำเดือนจะมาทุก ๆ 28 วัน แต่ถ้าผู้หญิงที่อายุยังไม่ถึง 21 ปี มักจะมาเฉลี่ยที่ 33 วัน พออายุเพิ่มขึ้นจะมีการปรับเฉลี่ยที่ 28 วัน และเมื่ออายุเข้า 40 ปี ระยะห่างจะลดลงเหลือ 26 วัน
- โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีประจำเดือนราว 6 วัน กว่าร้อยละ 5 เป็นผู้หญิงที่มีประจำเดือนน้อยกว่า 4 วัน
- ประจำเดือนมามาก การมีประจำเดือนมากกว่า 7 วัน เรียกว่าประจำเดือนมามาก
- มีผู้หญิงกว่าร้อยละ 9 – 14 ที่มีอาการประจำเดือนมามาก
- การมีประจำเดือนนานเกิน 9 วัน ถือว่าเป็นการมีรอบเดือนมากผิดปกติ และเกิดในผู้หญิงราว 4%
- ฮอร์โมนไม่สมดุล เป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามาก เยื่อบุโพรงมดลูกหนาหรือมากเกินไปเลยทำให้มีเลือดออกมาเยอะ
- การใช้ยาฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียง ที่ทำให้ประจำเดือนมามากผิดปกติ รวมถึงการใช้เคมีบำบัด, การใช้ห่วงคุมกำเนิด, ยาต้านหรือละลายลิ่มเลือด และการกินยาคุม ก็ทำให้ประจำเดือนมามากได้เช่นกัน
- โรคโลหิตจาง ถ้าประจำเดือนมามากอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจางได้ ต้องสังเกตอาการเพลีย, เหนื่อยง่าย, ใจสั่น, มีเสียงในหู
- ผู้หญิงที่ไม่มีประจำเดือน มักจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำที่อาจเป็นสาเหตุเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต การรับฮอร์โมนจะช่วยได้
- เมื่อเข้าสู่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือใกล้เข้าสู่ช่วงวัยทอง อาจมีอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- อาการปวดประจำเดือน เกิดจากมดลูกมีการบีบ และคลายตัวอย่างแรง เพื่อไล่เลือดออกมา
- การปวดท้อง อาจปวดก่อนมีรอบเดือนหลายวัน และเมื่อมาแล้วอาการปวดอาจจะดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง
- ผู้หญิงที่ปวดท้องหนักมาก หรือมีอาการประจำเดือนมาผิดปกติบ่อย ๆ อาจจะมีเนื้องอกในมดลูก และเป็นหมัน
- มีผู้หญิงราว 10 – 15% ที่มีอาการปวดประจำเดือนหนักมากถึงขั้นต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน
- ยาที่นิยมใช้บรรเทาปวดประจำเดือนได้แก่ Aspirin, Ibuprofen
- ความผิดปกติที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับประจำเดือน ได้แก่ ประจำเดือนขาด หรือ มามากเกินไป
- หากประจำเดือนมามาก อาจเกิดขึ้นเพราะความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ หรือมีการอักเสบหรือไม่
เพราะมดลูกมีความเกี่ยวโยงกับอาการของประจำเดือน หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่มดลูก ประจำเดือนของเราก็จะผิดปกติไปด้วย ดังนั้นเมื่อเกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ, ประจำเดือนไม่มา หรือเดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกตินั้น
บทความที่น่าสนใจ :
ประจำเดือนมาน้อย เรื่องอันตรายใกล้ตัวที่ห้ามปล่อยผ่าน
อารมณ์แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน เดี๋ยวหงุดหงิด เดี๋ยวเศร้า รับมืออย่างไรดี ?
พฤติกรรมและอาหารที่สาว ๆ ควรเลี่ยงขณะเป็นประจำเดือน
ที่มา : (Polo Hospital) , (Rama Channel)