วันเบาหวานโลก มีสัญลักษณ์เป็น รูปวงกลมสีฟ้า สื่อความหมายถึงชีวิตและสุขภาพ “สีฟ้า” หมายถึง ท้องฟ้า ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในโลกก็จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีเดียวกัน เมื่อนำสี และสัญลักษณ์ มารวมกัน จึงหมายความว่า การรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของประชากรโลก ที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะเบาหวานที่กระจายอยู่ทั่วโลก
เนื่องใน วันเบาหวานโลก เราทุกคนควรตระหนักถึงความรุนแรงของโรคเบาหวานที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน
มีการคาดการณ์ว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1 แสนคน และกว่า 40 % ยังไม่รู้ว่าตนเองกำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน ในขณะที่ตัวเลขของผู้ที่เข้ารับการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างเหมาะสมมีเพียง 2.6 ล้านคนเท่านั้น ซึ่ง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากลับมามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ ทำให้ตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานในประเทศไทยสูงถึง 200 รายต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ภายในปี พ.ศ. 2583 ความชุกของโรคเบาหวานในประเทศไทย จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 ล้านคน
จากสถานการณ์โรคเบาหวานที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ที่มีอายุน้อย เช่น วัยเด็ก วัยเรียน หนุ่มสาววัยทำงาน ไปจนถึงผู้ใหญ่วัยเริ่มต้น ซึ่งมีการตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ หรือวัยสูงอายุ ด้วยสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้ตลอดเวลา เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ มีภาวะเครียด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเบาหวานตั้งแต่อายุยังน้อย จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งไม่อยู่ในสิทธิเบิกจ่ายของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ทำให้ต้องออกค่าใช้จ่ายเองประมาณ 13,000 บาท เป็นสาเหตุให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมากกว่า 100,000 คน ขาดโอกาสในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องไปอย่างน่าเสียดาย
บทความที่เกี่ยวข้อง เบาหวานในเด็ก ภัยเงียบที่ผู้ปกตรองต้องระวัง และดูแลอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนักและตื่นรู้เกี่ยวกับ โรคเบาหวาน ซึ่งเป็น 1 ในโรคกลุ่ม NCDs (โรคติดต่อไม่เรื้อรัง) ที่คร่าชีวิตประชากรโลก และคนไทยสูงเป็นอันดับ 1 theAsianparent ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ โรคเบาหวาน มาให้อ่านกันดังนี้
ทำความรู้จักกับ โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายมีความผิดปกติในกระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในลือดให้เป็นพลังงาน ซึ่งเกิดจากความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
โรคเบาหวาน แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค ดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน พบประมาณ 5 – 10 % ของโรคเบาหวานทั้งหมด โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดนี้ คือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเอง
- เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus, T2DM) พบมากถึงร้อยละ 90 – 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด สาเหตุเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่วนมากเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีภาวะอ้วน อายุที่มากขึ้น เคยมีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เคยมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เป็นต้น
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes mellitus, GDM) พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 – 3 พบว่า 2 – 5 % ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยร้อยละ 40 ของคุณแม่ที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์มีโอกาสพัฒนาเป็นเบาหวานต่อไปได้ในอนาคต
- เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (Specific Types of Diabetes Due to Other Causes) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งความผิดปกติทางพันธุกรรม การผ่าตัด สารเสพติด ภาวะขาดสารอาหาร การติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งเกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคจากตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ หรืออาจเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี และจะมีผลกับลูกในท้องหรือไม่
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวาน
หลักเกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน มี 4 วิธี ดังนี้
- การวัดระดับกลูโคสในพลาสมา (Fasting plasma glucose : FPG) เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่นิยมใช้กันทั่วไป แต่บางครั้งแพทย์อาจเลือกใช้วิธีวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test: OGTT) ก็ได้เช่นกัน
- ตรวจวัดระดับน้ำตาลแล้วพบว่า มีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)**
- ผลการสุ่มวัดระดับกลูโคลในพลาสมา กับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีภาวะเบาหวานชัดเจน คือ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก น้ำหนักตัวลดลงอย่างไม่มีสาเหตุ โดยแพทย์จะให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่สั่งงดอาหารและน้ำ หากมีค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ขึ้นไป จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การวัดความทนทานน้ำตาลกลูโคส (Oral glucose tolerance test: OGTT) แพทย์จะให้ดื่มน้ำผสมน้ำตาล 75 กรัม แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังจากดื่มน้ำตาล หากมีค่าน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) ขึ้นไป สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
หากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเบาหวาน คุณหมอจะแนะนำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงกับค่าปกติ โดยรูปแบบของการควบคุมระดับน้ำตาล และวิธีรักษาภาวะเบาหวานแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งมีทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการฉีดอินซูลิน ร่วมกับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง เบาหวานขณะตั้งครรภ์อันตรายแค่ไหน? หมอให้กินน้ำตาลก่อนตรวจเบาหวาน แม่ท้องควรน้ำหนักขึ้นกี่กิโลกรัม
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะเบาหวานชนิดต่าง ๆ
- โรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 2 – 4 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง ร้อยละ 60 – 65 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- สูญเสียการมองเห็น ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุ 20 – 74 ปี มีโอกาสตาบอด
- โรคไต ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นโรคไตวายเรื้อรัง และโรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุหลักของโรคไตวายระยะสุดท้าย
- สูญเสียอวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมาก ต้องลงเอยด้วยการตัดอวัยวะทิ้งจากการติดเชื้อ เช่น แขน ขา เท้า
- สตรีที่ไม่ได้วางแผนเตรียมพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ทำให้ ทารกมีความผิดปกติแต่กำเนิด สูงถึง 10 %
ห่างไกลโรคเบาหวานได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle Modification)
เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานในปัจจุบัน ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น จึงถือเป็นอีกหนึ่งวิธีดี ๆ ที่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานได้ดีเยี่ยม ทั้งในผู้ที่มีภาวะเสี่ยง และผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Pre – Diabetes) โดยทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ได้ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบหมู่ แต่ควรลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงเมนูทอด เปลี่ยนมาทานเมนูต้ม และนึ่งแทน พร้อมกันนี้ให้เพิ่มอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ อกไก่ ปลานึ่ง เต้าหู้ และเน้นบริโภคผักผลไม้กากใยสูง
- การรับประทานน้ำตาลเทียม แม้จะช่วยให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่กลับมาผลข้างเคียงคือทำให้เกิดการอยากกินของหวานเพิ่มมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ควรหันมาดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 6 – 8 แก้ว
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือทำกิจกรรมที่มีการเผาผลาญพลังงานให้ได้อย่างน้อย 700 แคลลอรี่ต่อสัปดาห์
- พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน
หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ตามข้อแนะนำข้างต้น ก็จะช่วยให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันการเกิดโรคอื่น ๆ ในกลุ่ม NCDs ได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 35 ทำไมแม่ท้องต้องระวังน้ำตาล
อาหารที่ควรเลี่ยง กับเด็กที่เป็นเบาหวานประเภท 1 และ 2
กินน้ำตาลได้แค่ไหนเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ปริมาณน้ำตาลของแม่ขณะตั้งครรภ์
ที่มา: dmthai.org , bumrungrad.com , bangkokhospital.com, hfocus.org