วิธีการเลี้ยงดูลูกให้มีความฉลาดและสมองดี ปัจจัยสำคัญคือ “เวลา” ที่พ่อแม่ได้อยู่ใกล้ชิดลูกและมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ กับลูก ลองมาดูเคล็ดลับที่ช่วยให้สมองของลูกทำงานได้ดีแบบที่พ่อแม่สร้างได้กันคะ
13 วิธีการเลี้ยงดูลูกให้สมองทำงานดีที่พ่อแม่สร้างได้
#1 สร้างสมองของลูกให้ทำงานดี คือ ดื่มน้ำให้มาก กินอาหารดี ๆ และนอนหลับให้เพียงพอ
“สมอง” ประกอบด้วยน้ำถึง 85% และต้องการออกซิเจนมากถึง 20% ของออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกายจึงจะสามารถทำงานได้ดี ดังนั้น น้ำ และออกซิเจนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อสมอง พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกดื่มน้ำให้มาก จัดโภชนาการให้ลูกผ่านอาหารที่ปรุงแต่งให้น้อยที่สุด ฝึกลูกให้เข้านอนตรงเวลา และนอนหลับไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลูกก็พร้อมมีสมองที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลาย
#2 กระตุ้นประสาทสัมผัสผ่านการลงมือทำ
เมื่อมีสิ่งเร้ามากระทบกับประสาทสัมผัสของลูก จะเกิดเป็นกระแสประสาทวิ่งไปสู่สมอง สมองจะรับรู้ข้อมูล และส่งข้อมูลไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้องโดยผ่านเส้นใยสมองที่ทำหน้าที่รับและส่งข้อมูล ดังนั้นเมื่อลูกได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสด้วยวิธีการที่เหมาะสม ผ่านการเรียนรู้และลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทในปริมาณที่พอเหมาะ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ปริมาณจุดเชื่อมโยงของเส้นใยประสาทเหล่านี้เป็นรากฐานของการรู้คิดและทำความเข้าใจข้อมูลต่าง ๆ หากสมองลูกมีเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อมากเท่าไร ลูกก็จะมีความฉลาด และมีความสามารถสูงขึ้นเท่านั้น
#3 เล่านิทาน หรืออ่านหนังสือที่หลากหลายให้ลูกฟัง
“นิทาน” เป็นสิ่งที่สร้างฝันและจินตนาการได้ดีสำหรับลูก เมื่ออ่านนิทานให้ลูกฟังจะทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจินตนาการ และกลายเป็นคลังคำศัพท์มหาศาลทางด้านภาษาให้แก่ลูกด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกษะการฟังของลูกด้วยนิทานหลากหลายประเภท เช่น นิทานคำกลอนที่มีเสียงคล้องจองกันสนุกสนาน หรือการปลูกฝังจริยธรรม ศีลธรรมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับสิ่งดีงามเหล่านั้นผ่านนิทาน
#4 เล่นสีและสร้างสรรค์งานศิลปะ
งานศิลปะสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เด็กเสมอ ในเด็กอายุ 2 – 3 ปีควรเริ่มเล่นสีจากการระบายสีน้ำแบบ Wet on Wet เพราะเด็กจะรู้สึกสงบจากภายในเมื่อได้เฝ้าดูสีต่าง ๆ ที่ไหลรวมกัน แล้วจึงเขยิบเปลี่ยนเป็นสีเทียนแท่งอ้วน ๆ และสีไม้แท่งใหญ่ที่จับถนัดมือ การให้ลูกได้วาดเส้นระบายสีเป็นการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กที่จะส่งผลให้สมองทำงานได้ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างสมาธิ ความจดจ่อ มือตาสัมพันธ์กัน และทำให้ลูกเรียนรู้ความสุขที่มาจากภายในตัวเองด้วย
Read : นิ้วมือของหนูทำรูปอะไรได้บ้าง?
#5 ส่งเสริมให้ลูกได้เล่นดนตรี หรือกิจกรรมเคลื่อนไหว
มีงานวิจัยพบว่าเสียงดนตรีสามารถเพิ่มความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลได้ และดนตรียังใช้พัฒนาสมองซีกขวาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองภาพรวมได้ดี การใช้กิจกรรมเข้าจังหวะหรือการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวง่าย ๆ โดยใช้ดนตรี ที่พ่อแม่สามารถทำกับลูกได้ เช่น ร้องเพลงกับลูก ช่วยกันคิดท่าทางประกอบเพลง ซึ่งนอกจากกระตุ้นสมองของลูกยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวที่ดีอีกด้วย
#6 ทำอาหารด้วยกัน
การทำอาหารเป็นกระตุ้นสมองลูกได้ เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ครบถ้วน ได้แก่ การใช้ตามองดูอาหารว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง จมูกรับรู้กลิ่น ลิ้นชิมรสชาติ หูต้องคอยฟังเสียงในการทอด ผัด อบว่าอาหารสุกได้ที่หรือยัง และมือที่คอยจับวัตถุดิบ และส่วนผสมอื่น ๆ ทำให้ประสาทสัมผัสได้รับการกระตุ้นอย่างครบถ้วน
#7 เล่นบทบาทสมมติ
การเล่นสมมติเป็นกิจกรรมที่เอื้อให้เด็กได้ใช้จินตนาการเป็นอย่างมาก ทำให้สมองได้คิดเชื่อมโยงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้ การปล่อยให้ลูกได้เล่นสมมติด้วยตัวเองโดยที่พ่อแม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในจินตนาการของลูก หรือการปล่อยให้ลูกเล่นสมมติอย่าง >>>
อิสระอยู่ในโลกที่เขาสร้างขึ้นจะกระตุ้นให้สมองเกิดการเชื่อมโยงเป็นอย่างมาก และเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ของการริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่มีคำว่าอุปสรรคเข้ามายุ่งเกี่ยว
Read : การเล่นบทบาทสมมติของลูกน้อยวัยเตาะแตะ
#8 เล่นของเล่นที่พัฒนาทักษะและความคิด
“สมองมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้สูงสุดเมื่อผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ในสมองจะมีการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดความสุข ที่จะไปเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ให้สูงขึ้น” อิทธิพลของการเล่นจึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าผลต่อพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ควรหลีกเลี่ยงของเล่นสำเร็จรูปที่เล่นด้วยกลไกของมันเอง เพราะไม่เกิดการลงมือทำ ดังนั้นการเลือกของเล่นให้ลูกควรเลือกแบบที่ลูกจะได้ลงมือทำด้วยจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ มากกว่าการเล่นของเล่นสำเร็จรูปที่ลูกแทบไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
Read: กุมารแพทย์แนะ 3 วิธีเลือกของเล่นให้ตรงใจวัยเตาะแตะ
#9 เปิดโอกาสให้ลูกได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง
พ่อแม่ที่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค และรู้จักใช้สมองส่วนหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาเป็น และสื่อสารความคิดของตนเองให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ลูกจะเรียนรู้ “การพึ่งตนเอง” เมื่อวันหนึ่งที่เขาต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่และใช้ชีวิตให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ นอกจากนั้น ลูกยังได้เรียนรู้ความแตกต่างของผู้คน และรู้จักปรับตัวให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญมาก
#10 ให้การสนับสนุนลูกในสิ่งที่ลูกชอบ
พ่อแม่ไม่ควรปล่อยโอกาสในขณะที่ลูกมีความอยากรู้ผ่านไปเฉย ๆ ควรช่วยหาคำตอบมาอธิบายลูกในสิ่งที่เขาสงสัย เพราะจะช่วยให้ลูกมีแรงจูงใจ และกระตุ้นให้สมองเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พ่อแม่ที่เพิกเฉยต่อการตอบคำถามของลูกจะเสียเปรียบครอบครัวที่คอยตอบคำถามลูก การมีต้นทุนชีวิตที่ไม่ต่างกันแต่มีศักยภาพที่ต่างกันนั้นเกิดขึ้นได้จากความใส่ใจของพ่อแม่นะคะ
#11 งดการใช้สื่ออนไลน์ สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต เมื่อลูกอยู่ใกล้ตัว
เพราะสิ่งเร้าในโลกโซเชียลมีระดับเกินธรรมชาติ การที่ลูกได้รับภาพ แสง สี เสียง เหล่านี้มาก ๆ จนเคยชิน จะทำให้วงจรสมองส่วนพึงพอใจ (Brain Reward Circuit) มีระดับสูงเกินปกติ เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นปกติจึงไม่สามารถตอบสนองความพึงพอใจได้มากพอ เพราะสารเคมีในสมองส่วนพึงพอใจได้เปลี่ยนการทำงานของสมองส่วนนี้ไปแล้ว กระบวนการชีวเคมีในสมองของเด็กที่เล่น >>>
อุปกรณ์ดิจิตอลจนเกินพอดีนั้นเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการติดสารเสพติด ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ไม่นาน มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และมีความพร่องด้านการใช้ภาษา เพราะอยู่กับการสื่อสารทางเดียว ดังนั้นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูก พ่อแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์หรือเปิดสื่อโซเชียลในขณะที่อยู่กับลูก และเปลี่ยนมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัวหรือใช้สื่อเหล่านี้เมื่อจำเป็นดีกว่านะคะ
Read : สัญญาณบ่งชี้ว่าคุณติดสมาร์ทโฟนแล้ว!!!
#12 หลีกเลี่ยงการลงโทษลูกด้วยการใช้อารมณ์
ในแง่การทำงานของสมองนั้น การเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลจะทำให้สมองทำงานช้าลง คิดไม่คล่องแคล่ว ขาดความภาคภูมิใจ และนับถือตนเอง ดังนั้นเมื่อลูกทำผิดจนถึงขั้นต้องลงโทษ พ่อแม่ควรสื่อสารให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ไม่ชอบพฤติกรรมในสิ่งที่ลูกทำไม่ดีและอธิบายเหตุผลของการลงโทษ ไม่ควรทำโทษลูกอย่างรุนแรงหรือใช้อารมณ์ต่อว่าลูกอย่างรุนแรง
#13 สร้างบรรยากาศในครอบครัวให้เป็นสุข
ในครอบครัวที่มีปัญหาจะส่งผลทำให้สมองทำงานได้ช้าลง เพราะลูกรู้สึกซึมเศร้า ไม่พร้อมที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ และจะมีผลต่อในระยะยาว คือ ลูกมีโอกาสหวาดหวั่นในชีวิตสมรสของตัวเองในอนาคตว่าจะต้องเจอเหมือนกับที่พ่อแม่เคยเป็นมาหรือไม่ พ่อแม่จึงควรรักษาความสัมพันธ์ให้ดีอยู่เสมอ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกมีความมั่นคง ปลอดภัยทางจิตใจ หากมีข้อขัดแย้งกันก็ไม่ควรพูดถึงปัญหาต่อหน้าลูก การสร้างบรรยากาศในครอบครัวให้สงบสุขจึงมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตและสมองของลูก
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : เพจ PlayAcademyTH
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 อันดับกิจกรรมลูกน้อยที่พ่อแม่สร้างได้
อยากให้ลูกฉลาดสร้างได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!