เลี้ยงลูกยังไงให้มั่นใจแบบพอดี
เลี้ยงลูกยังไงให้มั่นใจแบบพอดี คำแนะนำจากครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ คุณครูมากประสบการณ์ ทั้งด้านการแสดงและ Commentator รายการดังมากมายย
ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ
ห้ามพูดลบต่อหน้าลูก
เวลาที่ลูกอยู่ต่อหน้า ถ้าลูกไม่มั่นใจในตัวเอง พูดน้อย ขี้อาย กรุณาอย่าพูดให้เขาได้ยินเป็นอันขาดว่า เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เขาไม่กล้าแสดงออก เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไม่มั่นใจ ไม่กล้าไปอีก มันเป็นการแปะป้ายว่า คนนี้เป็นคนแบบไหน
ยกตัวอย่าง ครูเงาะตอนเด็กๆ เป็นคนที่ล้างจานช้า ป้าบอกว่า เงาะชักช้าจังเลย แกเป็นคนเชื่องช้า การที่เขาบ่นไม่ได้ทำให้ครูเงาะเร็วขึ้น แถมยังรู้สึกลบกับสิ่งที่ถูกกด
แต่แม่ครูเงาะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการพูดว่า เงาะเป็นคนที่ทำงานละเอียดนะ จากเด็กที่ยืดยาดชักช้า ครูเงาะไม่ได้ทำเร็วขึ้น แต่ล้างทุกซอกทุกมุม ฉะนั้นเวลาที่เราระบุว่า ลูกเราเป็นคนแบบไหน จะกลายเป็นฉลากที่แปะหน้าลูกทันที
อย่าเปรียบเทียบเด็ดขาด
ไม่เคยมีใครที่ถูกเปรียบเทียบแล้วจะมีความสุขหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาอาจจะพยายามอยากแข่ง แต่คุณอยากเห็นลูกเป็นคนขี้อิจฉา ขี้แข่งขัน หรือเห็นตัวเองมีคุณค่าต่ำกว่าคนอื่น หัดชื่นชมเขาในคุณภาพที่เขามี อย่าไปบังคับให้ลูกเป็นเหมือนคนอื่นๆ เพราะแต่ละคนมีคุณค่าอยู่แล้ว หาข้อดีของลูกให้ได้
หัดชมให้เป็น
พ่อแม่กลัวชมแล้วจะเหลิง ถ้าชมผิดก็ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ชม เช่น ลูกวาดรูปเอามาให้แม่ดูแล้วถามว่า ลูกวาดรูปสวยไหมคะ ชมที่ผิดคือ ชมว่ามันสวยมาก ลูกแม่เก่งที่สุดแล้ว ลูกแม่สุดยอดไม่มีใครเทียบได้ ห้ามชมแบบนี้เด็ดขาดลูกจะกลายเป็นคนที่มั่นใจในตัวเองแบบผิดๆ พอวันที่เขาเจอโลกภายนอก ถ้ารูปไม่สวยล่ะ ครูกลับชมเด็กคนอื่น จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนี้ ถ้าเขาไม่ขี้อิจฉาคนอื่น ก็จะกลายเป็นคนยอมแพ้ แล้วเลิกวาดรูป เพราะเขาทำเพื่อได้รับคำชม
ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับคำชมจากสิ่งที่เขาทำ มันเกิดเป็นความกดดันในชีวิต มีคนรู้จักของครูเงาะคนหนึ่ง ทั้งชีวิตเขาสอบได้ที่ 3 พอเขาไปบอกแม่ แม่กลับบอกว่า เลือกอีก 2 ที่ไว้ได้ยังไง เหลืออีก 2 ที่ไว้ให้ใคร แม่ไปโฟกัสสิ่งที่เขาแพ้ เขาโตมาชีวิตมีแต่การแข่งขัน อยากดีกว่านี้ ไม่มีความสุข ไม่มีเพื่อน
สำหรับชมที่ถูกต้อง สมมติลูกเอาสมุดภาพมาถามว่า หนูวาดสวยไหมคะ หน้าที่ของคุณแม่คือ จงชมที่เหตุไม่ชมที่ผล ถามกลับไปว่าหนูชอบไหมลูก พอลูกตอบว่า ชอบค่ะ ก็บอกว่า แม่ดีใจที่หนูชอบสิ่งที่หนูทำ แม่เห็นลูกตั้งใจวาด แม่ภูมิใจที่เห็นลูกเป็นคนมีสมาธิ ตั้งใจทำอะไรแล้วก็ทำจนสำเร็จ
“หลายครั้งพ่อแม่อยากให้ลูกดีกว่าตัวเอง ทั้งที่พ่อแม่เอาปมของตัวเองไปยัดเยียดให้ลูก ฉันไม่เคยได้เรียน ฉันไม่เคยได้กิน ต้องถามลูกว่าเขาอยากได้จริงๆ หรือเปล่า มีความสุขที่ได้ทำหรือเปล่า”
ฝึกให้ลูกทดลองอะไรด้วยตัวเอง
อย่าทำให้ ฝึกให้เด็กรับผิดชอบตัวเองให้ได้ ไม่ต้องไกล ไม่ต้องใหญ่เกินตัวเขา ภาระเล็กๆ เช่น ให้เขากวาดบ้าน ถูบ้านเอง คุณต้องศรัทธาในตัวลูก การที่คุณไม่เชื่อมั่นในตัวลูก เพราะลึกๆ คุณไม่เชื่อมั่นในตัวคุณเอง คิดว่าสอนเขาไม่ดีพอ เราต้องเป็นแม่เหยี่ยวที่บินอยู่ ปล่อยให้เขาไปหาอาหารเอง
มีครั้งหนึ่ง ครูเงาะไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนเอาลูกมา 2 คน 2 ครอบครัว ซึ่งแตกต่างกันในวิธีเลี้ยงอย่างสิ้นเชิง
ครอบครัวที่ 1 พูดคำว่า อย่า บ่อยมาก ถ้าลูกได้ยินแต่คำนี้เขาจะไม่เรียนรู้คำอื่นเลย แล้วเด็กก็ไม่ฟัง เขาจะมีความดื้อเพราะมันเป็นโทนเสียงคุ้นๆ ถ้าเขามีอารมณ์และแม่มีอารมณ์ เขาจะรู้สึกว่าเสมอกัน ต้องใช้โทนเสียงต่ำและช้า เพื่อเปลี่ยนคลื่นในสมอง เขาจะหยุดฟัง สำหรับเด็กคนนี้ กลายเป็นเด็กขี้กลัว ไปไหนก็จะเกาะกับแม่
ครอบครัวที่ 2 ลูกเขาขวบกว่าๆ เพิ่งเดินได้เตาะแตะ เดินไปชนกระจก วูบแรกเขาหันมามองพ่อ ส่วนพ่อก็ยิ้มแล้วบอกว่า ค่อยๆ ดูไป ระวังหน่อย แล้วเขาก็หันมากินกับเราต่อ หันมาคุย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กได้รับรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ จำไว้นะคะ ปฏิกิริยาของพ่อแม่ คือคำสอนที่ดีที่สุด ในวันเดียวกัน เด็กคนนั้นเดินใกล้กระจก แต่เดินไปเอามือยันไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะเดินถึงกระจกเมื่อไหร่ เด็กเรียนรู้ที่จะปลอดภัยทันทีเมื่อคุณไม่ให้เครื่องมือ นี่คือการแก้ปัญหาของลูก
การที่คุณแก้ปัญหาให้ลูกทุกอย่าง คิดให้ทุกอย่าง สั่งทุกอย่าง สมองการเรียนรู้ของเขาจะดับลง ฝ่อลง วันหนึ่งเมื่อต้องไปเผชิญชีวิตที่ไม่มีคุณ เขาไม่รู้จะตัดสินอย่างไร เพราะเขาไม่เคยเรียนผิดเพื่อจะถูกเลย
ครูเงาะยังทิ้งท้ายด้วยว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก เราต้องเข้มแข็งในจิตใจ อารมณ์ของคนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เราอย่าเอาง่าย ณ ตอนนี้ ไปยากในอนาคตเลย เช่น เด็กนอนดิ้นกับพื้น แม่ก็รีบเอาของไปให้ เด็กจะเรียนรู้ทันทีว่า ถ้าอาละวาดจะได้ทุกอย่าง หน้าที่ของแม่ต้องอดทน ไม่ต้องสนใจคนอื่น ไปยืนไกลๆ พอให้เขาเห็นแล้วบอกว่า แม่รักลูกนะ แต่วิธีนี้ไม่ได้ ต้องใช้ด้วยเหตุผล ถ้าหนูเงียบเมื่อไหร่ แม่รออยู่ตรงนั้นเสมอ
สำคัญที่สุดที่ทำให้ลูกมั่นใจในตัวเอง หัวใจสำคัญต้องทำให้เขารักตัวเอง ภูมิใจในตัวเอง ในสิ่งที่เขาทำ ชมที่เหตุ ชมที่เขากล้า เด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นแบบเดียวกัน ทุกคนเป็นดอกไม้ที่มาแต่งแต้มให้โลกนี้สวยเหมือนกัน ทุกดอกไม้มีคุณค่า การสอนลูกที่ดีที่สุดคือ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
ชมคลิป ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ ไลฟ์เลี้ยงลูกยังไงให้มั่นใจแบบพอดี
www.facebook.com/854021831386409/videos/1055046347950622/
ที่มา : เพจครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
กลัวลูกโตไปเป็นเด็กขาดความมั่นใจ ทำไงดี
ข้อเสียเลี้ยงลูก สปอยล์เกินไป VS เลี้ยงลูกแบบไม่ให้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!