ฮีทสโตรกคืออะไร?
โรคลมแดด (Heatstroke) เป็นภาวะที่เกิดจากมีความร้อนในสิ่งแวดล้อมสูง เช่น อากาศร้อนจัด จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนตามปกติได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติจนเกิดอาการผิดปกติขึ้นอย่างรุนแรงเป็นอันตรายต่อชีวิต
โรคนี้พบได้บ่อยขึ้นในฤดูร้อน ในผู้ที่ต้องอยู่กลางแดดจัด เป็นเวลานาน เช่น นักกีฬา หรือ คนทำงานกลางแดด สำหรับช่วงอายุที่มีโอกาสเกิดมากที่สุดคือ ทารกอายุน้อยกว่าหนึ่งปี และคนชรา
อาการของฮีทสโตรกเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 40.6 องศาเซลเซียส ไม่มีเหงื่อ หรือเหงื่อออกมาก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน มีอาการทางระบบประสาท คือ วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงงพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย ชักเกร็ง จนกระทั่งมีสมองบวมได้ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวาย ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน มีความผิดปกติของร่างกายอย่างรุนแรงหลายระบบจนถึงแก่ชีวิตได้
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคฮีทสโตรกได้อย่างไร?
คุณหมอวินิจฉัยโรคลมแดดได้จาก ประวัติอาการดังข้างต้น ประวัติการอยู่กลางแดด หรืออากาศร้อน ประวัติเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน การกินยา การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดย ตรวจเลือดดูค่าเกลือแร่ต่างๆ และอาจตรวจอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เป็นโรคฮีทสโตรกสามารถทำได้อย่างไร?
หากพบผู้มีอาการโรคลมแดดควรรีบนำเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ หรือใช้กระบอกพ่นละอองน้ำพรมให้ทั่วตัวผู้ป่วย ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน และควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดค่ะ
การทิ้งเด็กไว้ในรถทำให้เกิดฮีทสโตรกได้อย่างไร?
หากผู้ดูแลทิ้งเด็กไว้ในรถ โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน หรือในช่วงที่อากาศร้อนจัด อุณหภูมิในรถจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ในเวลาเพียงไม่เกิน 30 นาที ร่างกายของเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กหรือเด็กวัยทารกจะมีการปรับอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อการระบายความร้อนได้ไม่ดีจะส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายของเด็กสูงขึ้นกว่าปกติในเวลาอันรวดเร็วจนเกิดอันตรายจากโรคลมแดดได้
การป้องกันโรคฮีทสโตรกทำได้อย่างไร?
การป้องกันโรคลมแดดที่สำคัญ คือ อย่าอยู่กลางแดด ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี มีเครื่องป้องกันเมื่อต้องออกแดด เช่น กางร่ม และต้องดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอกับน้ำที่สูญเสียทางเหงื่อ คือ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
สำหรับเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ไม่ควรทิ้งเด็กให้อยู่ในรถตามลำพัง และตรวจเช็คทุกครั้งว่ายังมีเด็กในรถหรือไม่ก่อนปิดล็อครถนะคะ
9 วิธีรับมือและดูแลตัวเองในช่วงอากาศที่ร้อนหนักมาก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!