วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหก
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหก ยิ่งถามลูกยิ่งบ่ายเบี่ยง ยิ่งโกหกโป้ปดพ่อแม่ ทําไมลูกชอบโกหก พฤติกรรมการโกหกของลูก เกิดจากอะไร และพ่อแม่ต้องรับมือลูกโกหกด้วยวิธีไหน
ทำไมคนเราถึงโกหก
สถาบันจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นอเมริกา ระบุว่า เด็กและผู้ใหญ่โกหกด้วยเหตุผลเดียวกับ คือ
- โกหกเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากปัญหา
- โกหกเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
- โกหกเพื่อสร้างความประทับใจ
- โกหกเพื่อปกป้องผู้อื่น
- โกหกเพื่อความสุภาพ
พฤติกรรมการโกหกของลูกในแต่ละช่วงวัย
การโกหกของเด็กนั้นเกิดจากทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ สาเหตุการโกหกของเด็กแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันไป มาดูพัฒนาการการโกหกของเด็กในแต่ละช่วงวัยกันค่ะ
การโกหก ของเด็กอายุ 2-4 ปี
- เด็กในวัยหัดเดิน เด็กวัยเตาะแตะ หรือเด็กก่อนวัยเรียน มักจะเริ่มมีทักษะในการใช้ภาษา ลูกจึงสับสนว่าสิ่งไหนเป็นเรื่องจริง เรื่องไหนเป็นความฝันหรือจินตนาการ เนื่องจากความสับสนระหว่างความจริง ความฝัน รวมถึงความกลัว ทำให้ลูกพยายามหนีพ้นจากปัญหาหรือสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยการโกหก
- เด็กวัยเตาะแตะที่ต้องการแสดงความเป็นตัวเอง และพยายามต่อสู้เพื่อให้ตัวเองพ้นจากปัญหาในขณะนั้น จึงทำได้เพียงโกหก
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหกในวัยเตาะแตะ
- เด็กวัยเตาะแตะมีอายุที่น้อยเกินกว่าจะได้รับการลงโทษจากการโกหก เนื่องจากเด็กวัยนี้สับสนระหว่างความต้องการในจิตใจ ความกลัว ความปรารถนา ความฝัน และจินตนาการ
- เมื่อลูกโกหกว่า “พี่ ๆ กินขนมของหนู” พ่อแม่ควรตอบสนองต่อการโกหกของลูกอย่างอ่อนโยน เช่น “งั้นที่คางของหนูก็ไม่ใช่เศษขนมใช่ไหมลูก” การตอบลูกอย่างนี้ไม่ใช่การต่อต้านความคิดของลูกแต่ก็เป็นการส่งเสริมการพูดความจริงให้กับลูกเช่นกัน
- สำหรับลูกวัย 4 ขวบ การโกหกมักจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ตอบว่า “ไม่” กับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ดังนั้น พ่อแม่ควรอธิบายว่าการโกหกคืออะไร การโกหกไม่ดีอย่างไร เน้นย้ำความสำคัญของการพูดความจริง และทำทันทีเมื่อลูกโกหก เพื่อให้ลูกจดจำสถานการณ์นั้นได้
- หลังจากที่ลูกโกหก พ่อแม่ควรตอบสนองต่อการโกหกของลูกอย่างหนักแน่นและจริงจัง เช่น “แม่คิดว่าลูกไม่ได้พูดความจริงนะคะ” แล้วค่อยแก้ไขพฤติกรรมลูก อย่าตะคอกหรือตะโกนด้วยอารมณ์ ควรใช้คำพูดที่ชัดเจน ท่าทางนิ่ง ๆ แต่จริงจัง
- เพื่อป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมโกหกของเด็ก พ่อแม่ควรอ่านหนังสือนิทานที่ปลูกฝังเกี่ยวกับการพูดความจริง หรือนิทานที่มีข้อคิดเกี่ยวกับผลเสียจากการโกหก
การโกหก ของเด็กวัยอนุบาลถึงช่วงต้นของชั้นประถมศึกษา
พัฒนาการการโกหกของเด็กในวัยอนุบาลถึงช่วงต้นของชั้นประถมศึกษา มักจะมีการโกหกเพิ่มขึ้น เพื่อทดลองดูว่า การโกหกแบบไหนหรือเรื่องใด ที่จะทำให้เด็กสามารถรอดพ้นจากการถูกจับได้ เด็กในวัยนี้จึงมักจะโกหกเรื่องรอบตัว เช่น เรื่องโรงเรียน เรื่องการบ้าน เรื่องคุณครู และเรื่องเพื่อน ๆ สำหรับสาเหตุของการโกหกในเด็กวัยนี้ก็คือ ลูกรู้สึกว่ากฎ ระเบียบวินัย และความรับผิดชอบ ในเรื่องต่าง ๆ นั้น มีมากเกินกว่าที่ลูกจะรับไหว และเกินความสามารถของตัวเอง
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหกในวัยอนุบาลถึงช่วงต้นของชั้นประถมศึกษา
- เด็กในวัยเรียนมักจะโกหกในเรื่องที่สามารถค้นหาความจริงได้ เช่น ลูกบอกว่าไม่มีการบ้าน พ่อแม่ก็จะรู้ได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการสื่อสาร ครูบางคน โรงเรียนบางแห่ง จะมีการพูดคุย สื่อสารเรื่องการบ้าน รายงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอด เมื่อรู้ว่าลูกโกหก ก็ควรจะพูดกับลูกอย่างตรงไปตรงมา
- การอ่านหนังสือหรือนิทานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการโกหก ยังจำเป็นที่จะต้องทำ เพื่อส่งเสริมให้ลูกพูดความจริง ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่น
- เมื่อลูกพูดความจริง ไม่โกหก พ่อแม่ควรเสริมแรงบวกแก่ลูก และชื่นชมที่ลูกพูดความจริง
- ขณะเดียวกันก็ต้องสอนลูกเรื่องการรักษาน้ำใจ ที่แตกต่างจากการโกหก อย่างการได้รับของขวัญที่ไม่ชอบ พ่อแม่ก็ต้องอธิบายว่า ด้านดีของของขวัญชิ้นนั้นคืออะไร เช่น แม่รู้ว่าลูกไม่ชอบเสื้อที่คุณยายเอามาให้ แต่คุณยายตั้งใจที่จะมอบของขวัญนี้ให้กับลูกนะ ลูกควรขอบคุณคุณยายจากใจจริง
- วิธีรับมือกับพฤติกรรมลูกโกหก ในเด็กเล็ก ๆ ต้องสอนให้เด็กเข้าใจว่าความจริงคืออะไร หากมีอะไรภายในบ้าน ก็ควรพูดคุยกันตรง ๆ แสดงให้ลูกเห็นว่า พ่อแม่และคนในครอบครัวรับฟังปัญหาของลูก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เลี้ยงลูกวัยอนุบาลให้รักน้อง สอนลูกวัยอนุบาลให้รักน้องต้องทำอย่างไร
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหกทำอย่างไร การโกหก
การโกหก ของเด็กวัยประถมศึกษา
เด็กในวัยประถมศึกษา เป็นช่วงวัยที่สามารถแยกแยะเรื่องจริงกับจินตนาการออกจากกันได้แล้ว สำหรับสาเหตุที่เด็กวัยประถมมักจะโกหก ได้แก่
- โกหกหรือพูดเติมแต่งมากกว่าความเป็นจริงเพื่อให้คนอื่นสนใจ เพราะอยากให้คนอื่นนิยมชมชอบตัวเองมากขึ้น
- โกหกเพื่อให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกลงโทษ หลีกหนีจากความผิด โดยเฉพาะเด็กที่เคยถูกลงโทษ จะกลัวการถูกลงโทษแบบรุนแรง ที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเลือกวิธีการโกหก
- โกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับ สังคมและกลุ่มเพื่อน มีความสำคัญกับเด็กเป็นอย่างมาก ทำให้เด็กในวัยประถมศึกษาบางคน เลือกที่จะโกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหกในวัยประถมศึกษา
- หากพฤติกรรมโกหกของลูกเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้คนอื่นมาสนใจ พ่อแม่ควรเฉย ๆ ไม่แสดงออกว่าอยากฟัง แต่ให้ความสนใจมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอในตอนที่เด็กไม่มีปัญหา เพราะเด็กอาจจะคิดว่า เมื่อตัวเองมีปัญหาจะได้รับการสนใจ เช่น ตอนโกหก พ่อแม่จะสั่งสอน ตักเตือน และให้ความสนใจ สิ่งนั้นทำให้เด็กรู้สึกว่าการมีปัญหา ทำให้พ่อแม่สนใจมากขึ้น
- พ่อแม่และคนในครอบครัว ควรให้ความสนใจ ใส่ใจ ในตอนที่ลูกพูดจาดี สร้างสรรค์ พูดความจริง และต้องให้เวลากับลูกมาก ๆ เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี โดยทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตั้งแต่ยังเล็กจนเติบโตเป็นวัยรุ่น แล้วปัญหาเรื่องพฤติกรรมการโกหกของลูกก็จะน้อยลงและหายไปได้เอง
- หากทราบว่าลูกโกหกเพื่อให้เพื่อนยอมรับ พ่อแม่สามารถใช้ความสัมพันธ์ที่ดี สอบถามถึงสาเหตุให้เด็กได้อธิบายตามความเข้าใจ จากนั้นต้องรับฟังสาเหตุจากลูกจนกว่าจะเข้าใจ แล้วค่อยพูดคุยกับลูกให้เห็นทางเลือกหรือวิธีการอื่น ซึ่งเป็นพฤติกรรมด้านดี ๆ ที่ทำให้กลุ่มเพื่อนยอมรับได้เช่นกัน
- ควรชวนให้เด็กคิดแบบรอบด้านทั้งผลดี และผลเสียที่จะเกิดตามมา ระหว่างการพูดโกหกและการพูดความจริง เพื่อให้เด็กได้ตัดสินใจเลือกที่จะปรับตัวเอง ทำให้เด็กปฏิบัติตาม วิธีนี้จะดีกว่าที่พ่อแม่ไม่รับฟัง ตำหนิ และบอกให้ลูกทำอะไรอยู่ฝ่ายเดียว
พ่อแม่และคนในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างด้วยการไม่โกหก
- พ่อแม่คือต้นแบบสำคัญในชีวิตของลูก ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องความซื่อสัตย์ให้ลูกได้เห็นและปฏิบัติตาม เพราะการพร่ำสอนลูกถึงความสำคัญของการพูดความจริง จะไม่มีประโยชน์เลย เมื่อลูกยังเห็นว่าพ่อแม่โกหก จึงต้องระมัดระวังคำพูดแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เช่น “บอกว่าแม่ไม่อยู่บ้าน” ทั้งที่แม่อยู่บ้าน
- ควรสอนให้ลูกเข้าใจความสำคัญของการซื่อสัตย์ตั้งแต่ยังเล็ก และสอนให้รู้จักแก้ไขสถานการณ์โดยไม่ต้องโกหก เป็นการปูพื้นฐานให้ลูกยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต
- เมื่อลูกเติบโต มีความเข้าใจซับซ้อนมากขึ้นในเรื่องมารยาททางสังคม ควรสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างระหว่างการโกหกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เพื่อรักษาน้ำใจของผู้อื่น กับการโกหกที่แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริต
- พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้าน ควรพูดจากันแบบตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ทำร้ายน้ำใจกัน เพราะหากเด็กได้เรียนรู้ในบรรยากาศนี้ เด็กจะซึมซับพฤติกรรมไปอย่างอัตโนมัติว่าสามารถพูดความจริงได้อย่างตรงไปตรงมาเมื่อทำผิด และถูกลงโทษอย่างเหมาะสมในส่วนที่ทำผิด ขณะเดียวกันก็มีการชื่นชมเพื่อให้แรงเสริมในส่วนที่เด็กกล้าพูดความจริงออกมา นั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้จะทำผิด แต่การที่ยอมพูดจริง เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เด็กจะรู้สึกภูมิใจในตนเอง
วิธีแก้ไขเมื่อลูกโกหกต้องทำด้วยเหตุผล อย่าเอาอารมณ์เป็นใหญ่นะคะ ขณะที่สั่งสอนเรื่องการโกหก ก็ควรส่งเสริมด้านบวกไปพร้อม ๆ กันด้วยค่ะ
ที่มา :phyathai.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกอยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่ายทำอย่างไรดี วิธีทำให้ลูกสงบนิ่ง ไม่ดื้อไม่ซนต้องทำยังไง
ลูกแหวะนม สำรอกนม ทารกแหวะนม สำรอกนม เกิดจากอะไร อันตรายไหม และควรดูแลอย่างไร?
ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นักเรียน ป.1-ป.6 สังกัด กทม. มีปัญหากว่า 2 หมื่นคน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!