พ่อแม่คือต้นแบบสำคัญในชีวิตของลูก ที่จะเป็นแบบอย่างในเรื่องความซื่อสัตย์ให้ลูกได้เห็นและปฏิบัติตาม การสอนให้ลูกเข้าใจความสำคัญของการซื่อสัตย์ตั้งแต่ยังเล็ก และสอนให้รู้จักแก้ไขสถานการณ์โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการโกหก จะเป็นการปูพื้นฐานให้ลูกยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตค่ะ
อย่างไรก็ดี เมื่อลูกเติบโตและมีความเข้าใจซับซ้อนมากขึ้นในเรื่องมารยาททางสังคม คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างระหว่างการโกหกเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย เพื่อรักษาน้ำใจของผู้อื่น กับการโกหกที่แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตด้วยค่ะ
สถาบันจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นอเมริกา ระบุว่า เด็กและผู้ใหญ่โกหกด้วยเหตุผลเดียวกับ คือเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากปัญหา เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพื่อสร้างความประทับใจ เพื่อปกป้องผู้อื่น หรือเพื่อความสุภาพ อย่างไรก็ตาม การโกหกของเด็กในแต่ละวัยมีความแตกต่างกัน คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการตอบสนองอย่างเหมาะสม
การโกหกของเด็กวัยเตาะแตะและวัยก่อนเรียน (อายุ 2-4 ปี)
เพราะเด็กวัยหัดเดินเพิ่งจะเริ่มมีทักษะในการใช้ภาษา ลูกวัยนี้ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เป็นความจริงนั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดตรงไหน ลูกยังคงสับสนในการแยกความแตกต่างระหว่าง ความจริง ความฝัน ความปรารถนา จินตนาการ และความกลัว ลูกอาจจะบอกว่า “พี่กินขนมของหนู” ทั้งๆ ที่พี่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย นั่นเป็นเพราะเด็กวัยเตาะแตะกำลังพยายามที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และพยายามต่อสู้เพื่อให้ตัวเองพ้นจากความขัดแย้งใดๆ ในขณะนั้น อย่างไรก็ดี ลูกวัยนี้ยังเด็กเกินไปที่จะถูกลงโทษเมื่อโกหก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองต่อการโกหกของลูกอย่างอ่อนโยนแต่มีชั้นเชิง เช่น บอกว่า “อ๋อ งั้นที่คางของหนูก็ไม่ใช่เศษขนมใช่ไหมลูก” การพูดเช่นนี้จะไม่เป็นการต่อต้านความคิดของลูก ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นส่งเสริมการพูดความจริงให้กับลูก เช่น อ่านหนังสือนิทานที่ปลูกฝังเกี่ยวกับการพูดความจริง และผลเสียของการโกหกให้ลูกฟังบ่อยๆ
สำหรับลูกวัย 4 ขวบ การโกหกของเด็กวัยนี้จะเป็นการโกหกแบบชัดเจน โดยจะตอบว่า “ไม่” หากคุณถามคำถามง่ายๆ เช่น “หนูหยิกน้องหรือเปล่า?” ซึ่งคุณแม่ควรใช้โอกาสนี้อธิบายให้ลูกฟังว่าการโกหกคืออะไร การโกหกไม่ดียังไง และควรทำทันทีที่ลูกพูดโกหก เพราะลูกจะได้ยังจำเหตุการณ์และความรู้สึกต่างๆ ได้ดี แม้อาจจะต้องคุยกันยาว แต่สิ่งสำคัญคือการชี้ให้ลูกเห็นความสำคัญของการพูดความจริง
คุณแม่ควรตอบสนองต่อการโกหกของลูกอย่างหนักแน่นและจริงจัง โดยพูดว่า “ฟังดูเหมือนหนูไม่ได้บอกความจริงนะ” หรือ “หนูแน่ใจจริงๆ หรือว่าหนูไม่ได้หยิกน้อง” และหลังจากที่ฟังลูกพูดแล้วให้คุณค่อยๆ แก้ไขพฤติกรรมลูก โดยหลีกเลี่ยงการต่อว่าซึ่งหน้าหรือขุดคุ้ยหาความจริง เว้นแต่ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงจริงๆ เท่านั้นค่ะ
การโกหกของเด็กวัยเรียน (อายุ 5-8 ปี)
เด็กวัย 5-8 ปีจะโกหกมากขึ้นเพื่อทดสอบว่า เรื่องไหนบ้างที่พวกเขาจะรอดพ้นจากการถูกจับได้ โดยเฉพาะการโกหกเกี่ยวกับเรื่องที่โรงเรียน การบ้าน คุณครู และเพื่อน เนื่องจากในความคิดของลูก กฎระเบียบและความรับผิดชอบนั้นมีมากเหลือเกิน ลูกวัยนี้จึงมักจะโกหกในสิ่งที่เขารู้สึกว่าเกินความสามารถของตน เช่น “วันนี้ไม่มีการบ้าน” แต่โชคยังดีที่การโกหกส่วนใหญ่ของเด็กวัยนี้สามารถสืบหาความจริงได้ไม่ยาก คุณแม่ควรพูดกับลูกอย่างตรงไปตรงมานะคะ และยังคงอ่านหนังสือเกี่ยวกับเด็กซื่อสัตย์และเด็กโกหกให้ลูกฟังต่อไปค่ะ นอกจากนี้ เมื่อไรก็ตามที่ลูกพูดความจริง หรือแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ คุณแม่ควรชื่นชมและให้การเสริมแรงบวกแก่ลูกเสมอนะคะ
อย่าลืมว่า ลูกวัยเรียนนั้นช่างสังเกตอย่างมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ระมัดระวังคำพูดของคุณแม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เช่น “บอกเขาไปว่าแม่ไม่อยู่บ้านนะ” ทั้งๆ ที่คุณก็ไม่ได้ไปไหนเสียหน่อย แม้ว่าคุณจะพร่ำสอนลูกถึงความสำคัญของการพูดความจริง แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลย เมื่อลูกยังเห็นว่าคุณไม่พูดความจริง
นอกจากนี้ อาจมีในบางสถานการณ์ที่ยุ่งยาก เช่น เมื่อลูกของคุณไม่อยากขอบคุณเมื่อได้รับของขวัญที่ไม่ชอบ คุณแม่ควรช่วยอธิบายให้ลูกหันมามองด้านดีของของขวัญชิ้นนั้น เช่น “แม่รู้ว่าคุณไม่ชอบเสื้อกันหนาวตัวใหม่ เพราะมันทำให้ลูกรู้สึกคัน แต่หนูรู้ไหมคุณยายใช้เวลานานแค่ไหนในการถักเสื้อตัวนี้ให้หนู นี่คือความพิเศษของเสื้อตัวนี้ที่ลูกควรขอบคุณคุณยายจากใจจริงนะจ๊ะ”
การโกหกของเด็กก่อนวัยรุ่น (อายุ 9-12 ปี)
เด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้จะพัฒนาความน่าเชื่อถือและมีมโนธรรมในตัวเอง เขาจะรู้สึกไวต่อผลกระทบจากการกระทำของตน และรู้สึกผิดหลังจากที่โกหก คุณแม่ควรพูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับลูกถึงความจำเป็นในการพูดความจริง
อย่างไรก็ดี มีบางสถานการณ์ที่อาจจำเป็นต้องโกหกเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความสุภาพ หรือเพื่อรักษาน้ำใจผู้ฟัง ซึ่งคุณควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ โดยอาจบอกลูกว่า “หนูรู้ใช่ไหมว่าการพูดความจริงกับพ่อแม่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่อาจมีบางครั้งที่ความสุภาพและการไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่นก็สำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าลูกไปบ้านเพื่อน และเขาเลี้ยงอาหารกลางวันที่หนูไม่ชอบ การที่หนูปฏิเสธไม่กินเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ หนูควรกินและกล่าวขอบคุณเขาด้วย การรักษามารยาทจะทำให้หนูได้รับเชิญอีกในครั้งต่อๆ ไปจ้ะ”
การเป็นแบบอย่างที่ดียังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยนี้ ดังนั้น สมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิด รวมถึงเพื่อนบ้าน ควรเป็นต้นแบบในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เหมาะสม เด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ จะรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับพ่อแม่อย่างเปิดเผย และมีแนวโน้มที่จะพูดความจริง แต่ต้องยอมรับว่าลูกอาจจะไม่ได้พูดความจริงทุกครั้ง คุณจึงต้องคิดทบทวนว่าเพราะอะไรลูกถึงไม่พูดความจริงกับคุณ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถตอบสนองต่อการโกหกของลูกได้อย่างเหมาะสมค่ะ
คุณมีวิธีรับมือกับเมื่อลูกโกหกอย่างไรบ้าง แบ่งปันประสบการณ์และความคิดเห็นกับเราด้านล่างได้เลยค่ะ
ที่มา www.parents.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
13 คำโกหกเล็ก ๆ ของพ่อแม่ ที่มักใช้กับลูก
5 เคล็ดวิธีปรับทัศนคติใหม่ให้ลูกเลิกโกหกอย่างถาวร!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!