ติวอนุบาล
ติวอนุบาล จำเป็นไหม ตัวอย่างปัญหาพฤติกรรมที่อาจเกิดหาก เร่งเรียน เร่งติว ลูกน้อยวัยอนุบาลมากเกินไป
ปัญหาที่อาจเกิดหากเร่งเรียนจับลูกติวอนุบาล
ข้าวหอม (นามสมมติ) อายุ 5 ปี มาพบคุณหมอพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ ด้วยเรื่องซนมาก สงสัยสมาธิสั้น ไม่สนใจเรียน โดยเฉพาะ เมื่อไปเรียนติวเพื่อสอบเข้า ป.1 โรงเรียนชื่อดัง คุณครูที่โรงเรียนติวแจ้งว่า ไม่สนใจเรียน นั่งเขียนโต๊ะ ต้องคอยกระตุ้นให้สนใจเรียนตลอด คุณครูจึงบอกให้มาพบแพทย์เรื่องสมาธิสั้น
เมื่อคุณหมอได้ซักถามประวัติเพิ่มเติมก็ทราบว่า อยู่ที่บ้านข้าวหอมก็มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว โมโหง่าย ตะโกนใส่คุณพ่อคุณแม่ ทำร้าย ทุบตีพี่เลี้ยงบ่อย ๆ แต่เมื่อคุณหมอได้พูดคุยกับข้าวหอม สังเกตพฤติกรรม และตรวจและประเมินพัฒนาการและพฤติกรรมในด้านต่างๆ ก็พบว่า น้องมีพัฒนาการที่ปกติ สมวัย พูดคุยรู้เรื่องดี ไม่ได้มีสมาธิสั้น ไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว
เร่งเรียน เร่งติวลูกตั้งแต่วัยอนุบาล
ข้าวหอมเล่าให้คุณหมอฟังว่า ทุกวันนี้ เหนื่อยมาก ๆ เรียนเยอะ ที่โรงเรียนก็เรียนหนักและมีติวเพื่อสอบเข้าเรียนต่อทุกวัน อยากเล่น พักผ่อนบ้าง เวลาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ติวก็อยู่กับพี่เลี้ยง คุณพ่อคุณแม่ ไม่ค่อยมีเวลาเล่นด้วย เจอหน้าคุณพ่อคุณแม่ก็จะให้ทำแบบฝึกหัด เพื่อติวสอบ ตลอดเวลา คุณหมอจึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลดการติว ลดการเรียนพิเศษลง และใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพในการดูแลลูก โดยใช้การเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะกับลูกอย่างมีความสุข ก็ปรากฏว่า ข้าวหอมกลับมาเป็นเด็กน่ารัก ไม่ก้าวร้าว สดใส ร่าเริง และมีสมาธิในการเรียนมากขึ้น ปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ หมดไป
อย่าเพิ่งให้ลูกติวอนุบาล!
ข้าวหอมหนึ่งในตัวอย่างของเด็กไทย ที่มีปัญหาพฤติกรรม ทั้งที่จริง ๆ แล้วเป็นเด็กปกติ ไม่ได้มีปัญหา ก้าวร้าว หรือสมาธิสั้น แต่เกิดจากความเครียดในการเรียน ที่มากจนเกินพอดี เกินวัยและพัฒนาการที่เหมาะสมของเด็ก ซึ่งพบได้บ่อยในปัจจุบัน หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกวัยอนุบาลเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อโรงเรียนชื่อดัง ที่มีการแข่งขันสูง
หมออยากจะฝากกรณีตัวอย่างนี้ ไว้เป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ หลาย ๆ ครอบครัว ซึ่งอาจกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกันนี้อยู่ ทั้งนี้ หลักการที่ถูกต้องสำหรับการเรียนของเด็กในช่วงปฐมวัยหรือวัยอนุบาล ก็คือ
- ไม่ควรสร้างความกดดันในเรื่องการเรียนมากจนเกินไป
- ไม่ควรเน้นการเร่งอ่าน เขียน หรือท่องจำ แต่ควรให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เป็นหลัก
- เด็กวัยอนุบาล อายุ 3-5 ขวบ เป็นวัยที่เต็มไปด้วยจินตนาการและควรมีอิสระในการเรียนรู้ โดยไม่เหมาะสมที่จะเร่งเรียนวิชาการ อ่านเขียน หรือยัดเยียดให้ท่องจำความรู้ต่าง ๆ เพราะอาจไปขัดขวางจินตนาการและศักยภาพทางความคิดของเด็ก ทั้งยังทำให้เกิดความเครียดกับทุกคนในครอบครัวอีกด้วย
ติวอนุบาลจำเป็นไหม ปัญหาที่อาจเกิดหากเร่งเรียน ลูกวัยอนุบาลมากเกินไป ติวลูกเล็ก ติวเด็ก
วิธีสอนลูกที่พ่อแม่ควรทำ
ทั้งนี้ ทุก ๆ ครอบครัวอาจจะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นทางด้านเวลา ภาระ และฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน หากคุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องสอนลูกในด้านการเรียน หมอขอฝากข้อคิดเตือนใจไว้ 4 ข้อดังนี้ค่ะ
- ควรให้กำลังใจ ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกโดยไม่เร่งรีบและเคร่งเครียด
- ฝึกฝนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย เช่น หากจะฝึกฝนกล้ามเนื้อมือและการทำงานที่สัมพันธ์ของมือและตาของลูกวัยอนุบาลก็ควรให้ได้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย เช่น การปั้นดินน้ำมัน มากกว่านั่งทำแบบฝึกหัดในกระดาษ
- ไม่ควรใช้อารมณ์ในการอบรมสั่งสอนลูก ไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะจะทำให้เด็กยิ่งเครียดและไม่อยากเรียนรู้ ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ในระยะยาวได้
- แบ่งเวลาให้ลูกได้พักผ่อน โดยใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกับคุณพ่อคุณแม่อย่างมีความสุขที่สุด
ทั้งนี้ ควรปรับให้เหมาะสมกับบริบทของครอบครัว โดยเน้นที่ความสุขของลูก และทุกคนในครอบครัว เป็นหลักนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
เด็กไทยคิดเองไม่เป็น เพราะบ้านเราไม่ได้สอน หรือไม่เคยสอน Critical Thinking
ฝึกลูกเขียนหนังสือ ด้วยดินสอไม้ พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เสริมสมาธิเจ้าตัวน้อย
ทักษะที่ลูกควรมีในวัยอนุบาล มีอะไรบ้าง พ่อแม่ช่วยเสริมทักษะให้ลูกได้อย่างไร?
เลือกโรงเรียนให้ลูก พ่อแม่ควรเลือกแบบไหน อย่างไรดี?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!