ตรวจแมมโมแกรมช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมร้อยละ 37 ของมะเร็งทั้งหมด และยังมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังวีวิทยา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ กล่าวถึงโรคมะเร็งเต้านมไว้ว่า มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยของผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก จัดอยู่ในดับ 1 -2 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด โดยคิดเป็น 16 % ของมะเร็งในผู้หญิง ในผู้ใหญ่พบได้สูงขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป (ประมาณ 5% พบในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40% ) สำหรับประเทศไทย ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง คิดเป็น 28.6 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีอายุน้อยสุด 20 ปี ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นโรคมะเร็งเต้านมมีความเสี่ยงสูง แนะควรได้รับการค้นหาและตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมทั้งตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ระบุหากพบเร็วจะรักษาได้ผลดี
สาเหตุ
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมสำหรับปัจจัยเสี่ยงได้แก่
1.อายุ โรคมะเร็งมักจะพบได้สูงขึ้นตามอายุที่สูงขึ้นเช่นกัน
2.พันธุกรรม มักพบคนที่มีครอบครัวสายตรง ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ น้องท้องเดียวกัน เป็นโรคมะเร็งเต้านมมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าคนทั่วไป
3.เชื้อชาติ มักพบในคนเชื้อชาติตะวันตกสูงกว่าคนเอเชีย
4.ประจำเดือน จะพบโรคมะเร็งเต้านมสูงขึ้นในผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วกว่าอายุ 12 ปี และผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก
5.พบก้อนเนื้อบางชนิดในเต้านม ซึ่งต้องตรวจชิ้นเนื้ออีกครั้งว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่
6.ปัจจัยของฮอร์โมน เช่นอายุเริ่มต้นของการมีประจำเดือน อายุที่หมดประจำเดือน การมีบุตร การให้นมบุตร ประวัติการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง
7.กินอาหารไขมันสูงต่อเนื่อง
8.โรคอ้วน ที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือนแล้ว
9.สูบบุหรี่ ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากว่าปกติ
อาการ
เริ่มด้วยการมีก้อนเล็ก ๆ ที่เต้านม มักเกิดเพียงข้างเดียว (โอกาสเกิดสองข้างมีประมาณ 5 % ) แต่อาจพบมีแผลเรื้อรังที่หัวนม มักไม่มีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาอาจคลำพบก้อน เต้านมมีรูปร่างผิดปกติ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบและขรุขระ มีการดึงรั้งของหัวนม ในบางรายเมื่อบีบหัวนมจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึม และเมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ อาจพบต่อน้ำเหลืองโตหรือมีอาการปวดกระดูก เป็นต้น มะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะ 0 ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง ก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็ก ยังไม่มีการลุกลามของเนื้อเยื่อ เซลล์มะเร็งจะอยู่เฉพาะในชั้นผิวของเนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งมีอัตราการรอดที่ 5 ปี ประมาณ 95 – 100 %
ระยะ 1 ก้อนมะเร็งขนาดโตขึ้น และ/หรือลุลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับโรคแต่จำนวนไม่มาก มีอัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 90 -100 %
ระยะ 2 ก้อนเนื้อมะเร็งขนาดโตขึ้น และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง แต่จำนวนไม่มาก มีอัตรารอดที่ 5 ปี 85 -90 %
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งโตมากขึ้น และ/หรือแตกเป็นแผล และ/หรือจับโยกไม่ได้เพราะก้อนเนื้อยึดติดกับกล้ามเนื้อหน้าอกและลุกลามเข้าไปในต่อมน้ำเหลืองรักแร้จำนวนมาก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องอก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าด้านเดียวกับโรค อัตราการรอดที่ 5 ปี ประมาณ 65 – 70%
ระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต สู่อวัยวะอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย คือ ปอด กระดูก ตับ สมอง และไขกระดูก ซึ่งระยะนี้มักไม่หายขาด ทั่วไปผู้ป่วยมักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 – 3 ปีขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย อัตรารอดที่ 5 ปี ประมาณ 0 – 20 %
การรักษา
วิธีรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ที่สำคัญ คือ การผ่าตัด รังสีวิทยา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน และยารักษาตรงเป้า (ทั้งฮอร์โมนและยารักษาตรงเป้า ใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยซึ่งเซลล์มะเร็งเป็นชนิดตอบสนองต่อยา ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็ง) แนวทางการรักษาโรคมะเร็งเต้านมมักใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ คือ ระยะโรค ผลชิ้นเนื้อภายหลังการตรวจก้อนมะเร็ง การผ่าตัดมีทั้งชนิดที่เก็บเต้านมไว้มักต้องรักษาร่วมกับการฉายรังสี และผ่าตัดเต้านมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนเนื้อ ขนาดเต้านมของผู้ป่วย
อ่าน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) คลิก
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram)
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ อธิบายถึงคุณสมบัติของเครื่องแมมโมแกรมระบบดิจิตอล ดังนี้
คุณสมบัติของเครื่องดิจิตอล แมมโมแกรม (Digital Mammogram)
1.เป็นเครื่องเอ็กซเรย์ชนิดพิเศษ ที่ผู้ถูกตรวจจะได้รับรังสีปริมาณน้อย
2.สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน
3.สามารถเห็นเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็ง ระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี
4.เป็นเครื่องมือที่ให้ผลถูกต้อง และแม่นยำสูงถึง 90%
5.มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่อง Mammogram ระบบเก่า
วิธีการตรวจ ดังนี้
1.กระบวนการตรวจแมมโมแกรมนั้นใช้เวลาไม่เกิน 15 – 20 นาที โดยจะถ่ายเอ็กซเรย์หน้าอกแต่ละข้าง ข้างละสองภาพ ภาพหนึ่งจากด้านบน ภาพหนึ่งจากด้านข้าง ทั้งนี้เพื่อที่แพทย์จะได้เห็นภาพของเนื้อเยื่อเต้านมอย่างชัดเจน และมีมิติใกล้เคียงความจริงที่สุด ในการถ่ายภาพหน้าอกนี้ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดหน้าอก จะต้องถูกบีบกด ให้แบนลง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ที่ได้รับการตรวจรู้สึกไม่สบายเล็กน้อย อย่างไรก็ตามการบีบกดเต้านมนี้ใช้เวลาเพียง 3-4 วินาที และไม่เจ็บปวด หรือ เป็นอันตรายแต่อย่างได
2.การบีบกดเต้านม นี้จะช่วยกระจาย เนื้อเยื่อทำให้ได้เห็นภาพที่ดีที่สุดของบริเวณที่ต้องการจะตรวจ ซึ่งอาจจะมีเนื้อเยื่อส่วนอื่นบดบังอยู่การกดหน้าอกยังช่วยลดความเข้มข้นของรังสีและเพิ่มคุณภาพของภาพให้ดีขึ้น เนื่องจากช่วยลดความหนาของหน้าอกลงการกดหน้าอกเอาไว้ยังทำให้คนไข้ไม่เคลื่อนที่ซึ่งอาจทำให้ภาพพร่าเลือนได้อีกด้วย
การเตรียมตัวก่อนมาตรวจแมมโมแกรม
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) สามารถทำการตรวจได้โดยไม่ต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด เพียงแต่ให้งดทาแป้ง งดฉีดน้ำหอม งดทาลูกกลิ้ง บริเวณเต้านมและรักแร้ทั้งสองข้าง เพื่อให้การตรวจได้ผลดี จะนิยมตรวจในช่วง 7 วัน หลังจากเริ่มประจำเดือน แต่ในกรณีมีก้อน หรือหญิงวัยหมดประจำเดือนก็สามารถรับบริการตรวจได้เลย
ประโยชน์ของแมมโมแกรม
แมมโมแกรมมีความสามารถสูงในการตรวจหามะเร็งเต้านมที่ยังมีขนาดเล็กและไม่มีอาการ ทำให้ได้ผลการรักษาดีและผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น การตรวจแมมโมแกรมในคนปกติที่ไม่มีอาการ เพื่อหามะเร็งระยะเริ่มต้นแบบนี้ ผู้หญิงทุกคน ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ไม่ว่าจะคลำพบก้อนที่เต้านมหรือไม่ก็ตาม ควรได้รับการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม เป็นประจำทุกๆปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านม ในครอบครัวหรือญาติด้านมารดา อาจจะยิ่งต้องตรวจเน้นกว่าปกติ การตรวจแมมโมแกรมสามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้งมะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมาก คลำไม่พบ ตรวจอัลตร้าซาวด์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้เฉพาะแมมโมแรมเท่านั้น ดังนั้น แมมโมแกรมจึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมที่มีขนาดเล็กนั่นเอง
เรื่องน่ารู้ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
1.ความเชื่อ ว่ากันว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคทางพันธุกรรม
ความจริง พันธุกรรมแค่เพิ่มความเสี่ยงเท่านั้น หากคุณมีสมาชิกในครอบครัวเป้นมะเร็งเต้านมมาก่อน คุณก็มีโอกาสเป็นมากว่าคนอื่น แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องเป็นมะเร็ง 100 %
2.ความเชื่อ ว่ากันว่าผู้หญิงคัพใหญ่มีความเสี่ยงสูง
ความจริง หน้าอกคัพใหญ่หรือคัพเล็ก ตู้มหรือไม่ตู้ม ก็มีโอกาสเสี่ยงเท่ากันค่ะ เพราะมะเร็งเต้านมจะเกิดบริเวณท่อน้ำนมและต่อมน้ำนมซึ่งผู้หญิงทุกคนมีเท่า ๆ กันค่ะ
3.ความเชื่อ ว่ากันว่าโนบราจะไม่เป็นมะเร็ง
ความจริง ต่อให้คุณใส่บราผิดขนาดจะรัดติ้วแค่ไหนก็ไม่ได้ไปกดท่อน้ำนมจนทำให้เป็นมะเร็งแน่นอน แม้เวลาใส่บราจะอึดอัดอยู่บ้างแต่ก็มีข้อดี อย่างน้อยหน้าอกก็ไม่หย่อนยานนะคะ
4.ความเชื่อ ว่ากันว่าตรวจแมมโมแกรมจะทำให้เป็นมะเร็ง
ความจริง เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างแรง เพราะการตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีการช่วยค้นหามะเร็งไม่ใช่ตัวก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
5.ความเชื่อ ว่ากันว่าใช้โรลออนทำให้เกิดมะเร็งเต้านม
ความจริง เรื่องการใช้โรลออนยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใด ๆ ทั้งสิ้น และที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมก็มิได้เกิดจากสาเหตุของโรลออน เรื่องนี้ถือว่าไม่จริงค่ะ
มะเร็งเต้านมภัยเงียบใกล้ตัวคุณผู้หญิง ซึ่งการตรวจเต้านมสามารถทำเองได้ง่าย ๆ ที่บ้านและสามารถตรวจได้บ่อยเท่าที่คุณต้องการ หากพบก้อนเนื้อหรือมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น อย่าชะล่าใจปล่อยทิ้งไว้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ นะคะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.siamhealth.net
https://haamor.com
https://www.wacoal.co.th
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อควรรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม
อย่าลืมเช็คหน้าอกตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!