สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ให้นมแม่ทุกคนย่อมมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการให้นมแม่ และเวลาจะหาข้อมูลทีก็ต้องเปิดไปดูตรงนู้นตรงนี้ที ดังนั้นเพื่อให้ทุกคำถามอยู่ในที่เดียวกัน วันนี้เราได้รวบรวมทุกคำถามและคำตอบของการให้นมแม่ไว้ที่แล้วละค่ะ
คำถาม: รู้สึกเจ็บหัวนมขณะให้ลูกดูดนม แต่ยังอยากให้นมลูกต่อต้องทำอย่างไร
คำตอบ: เป็นเรื่องปกติที่คุณอาจรู้สึกเจ็บหัวนม เมื่อคุณเริ่มให้นมลูกใหม่ ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นลูกคนแรก แต่ถ้าลูกน้อยดูดนมแล้วคุณยังรู้สึกเจ็บนานกว่าหนึ่งนาที ควรตรวจสอบว่าลูกน้อยดูดนมถูกท่าแล้วหรือยัง
วิธีแก้ไข: พยายามให้ลูกน้อยดูดให้ลึกถึงลานนม หากลูกดูดแค่หัวนม ให้สอดนิ้วชี้ของคุณเข้าไปในปากของลูกน้อย หรือดึงคางลูกน้อยเบา ๆ หรือรอจนกว่าลูกจะหาว เพื่อให้ลูกอ้าปากปล่อยเต้าของคุณ แล้วเปลี่ยนให้ลูกน้อยอยู่ในท่าที่ถูกต้อง โดยให้คางและจมูกของเขาสัมผัสเต้านมของคุณ ริมฝีปากของลูกน้อยคลุมมิดจนมองไม่เห็นหัวนมหรือบางส่วนของลานนม หากลูกน้อยดูดนมในท่าที่ถูกต้องแล้ว แต่คุณยังคงเจ็บหัวนมอาจเป็นเพราะหัวนมแห้ง คุณแม่ให้นมควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ และหลีกเลี่ยงการดูสบู่บริเวณหัวนมค่ะ
คำถาม: หัวนมแตก ทั้งเจ็บทั้งแสบมีเลือดออกด้วย จะอันตรายกับลูกหรือไม่
คำตอบ: ปัญหาหัวนมแตกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ผิวแห้ง ปั๊มนมผิดวิธี หรือส่วนใหญ่มาจากการดูดนมผิดวิธี ในช่วงสัปดาห์แรกของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่คุณอาจมีการเสียเลือดเมื่อลูกน้อยของคุณเพิ่งเริ่มต้นที่จะเรียนรู้การดูดนม หรือคุณเพิ่งเริ่มต้นที่จะปั๊มนม การมีเลือดออกเพียงเล็กน้อยนั้นไม่เป็นอันตรายต่อทารกค่ะ
วิธีแก้ไข: ตรวจสอบท่าดูดนมของลูกน้อยให้ดูดลึกถึงลานนม และพยายามให้ลูกดูดบ่อยขึ้นแต่ใช้เวลาสั้นลง เพราะเมื่อลูกหิวน้อยลงการดูดจะนุ่มนวลขึ้น การพยายามรักษาหัวนมแตกด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่คุณจะหาได้ในบ้าน เช่น สบู่ แอลกอฮอล์ โลชั่น น้ำหอมไม่ใช่วิธีที่ดีเลย ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหรือใช้น้ำนมของคุณเองทาบริเวณหัวนมแล้วทิ้งไว้ให้แห้งหลังจากการให้นม นอกจากนี้คุณสามารถทานยาแก้ปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล 30 นาทีก่อนการให้นม หรือลองใช้ครีมลาโนลินเพื่อรักษาอาการหัวนมแตก
คำถาม: น้ำนมไม่ออก เจอก้อนแข็งบริเวณเต้านม แบบนี้เรียกท่อน้ำนมอุดตันหรือไม่
คำตอบ: ท่อน้ำนมอุดตันคือฝันร้ายของแม่ให้นม เพราะนั่นหมายถึงอาการที่ทำให้น้ำนมไม่สามารถระบายออกได้เต็มที่ ซึ่งคุณแม่สามารถสังเกตได้จากการเห็นนมเป็นก้อนแข็ง แดง และปวดระบม หากคุณเริ่มรู้สึกมีไข้และปวดเต้านมเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ซึ่งคุณควรไปพบแพทย์ สิ่งสำคัญที่สุดคือพยายามอย่าทิ้งช่วงการให้นมนานเกินไป นอกจากนี้ ชุดชั้นในที่แน่นเกินไป ความเครียด (สิ่งที่แม่มือใหม่ทุกคนหลีกเลี่ยงได้ยาก) ยังสามารถส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำนมของคุณเช่นกัน
วิธีแก้ไข: พยายามพักผ่อนอย่างเพียงพอ (ควรให้คุณพ่อมาเปลี่ยนเวรบ้าง) นอกจากนี้ ลองปรึกษาคลินิกนมแม่เพื่อให้ความช่วยเหลือในการนวดเต้าเปิดท่อน้ำนมค่ะ
คำถาม: รู้สึกว่านมเยอะและคัดนมบ่อย ๆ แก้ไขได้อย่างไร
คำตอบ: การที่คุณแม่ปล่อยให้เต้านมคัดนั้น จะทำให้ลูกน้อยดูดนมลำบาก เพราะความแข็งของเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับปากของลูก และความแรงของน้ำนมที่พุ่งใส่ลูกจนดูดไม่ทัน
วิธีแก้ไข: ลองปั๊มนมหรือบีบนมออกส่วนหนึ่งก่อนการให้นม เพื่อให้เต้านมอ่อนนุ่มขึ้น ลูกน้อยดูดได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเต้านมคัด
ที่มา: Todaysparent.com และ Thebump.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
น้ำนมหยดแรก … สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก
หลังคลอดน้ำนมไม่ไหง ทำอย่างไรดี?
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!