โดย นพ.จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ และ ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับและความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับอาการ “ตาวาว” ของเด็ก ไว้ดังนี้
ตาวาว หรือ รูม่านตาสีขาว (Leukocoria) เป็นอาการนำของความผิดปกติในตาหลายอย่าง ไม่นานมานี้ มีพ่อแม่ที่สังเกตเห็นความผิดปกติของรูม่านตาของลูกในรูปถ่ายจากกล้องโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนำไปถึงการตรวจพบโรคมะเร็งจอตาในเด็ก ทำให้เด็กได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสามารถช่วยชีวิตเด็กไว้ได้
ในภาวะปกติเราจะเห็นรูม่านตามีสีดำ เมื่อรูม่านตามีสีขาวหรือมีลักษณะวาวคล้ายตาเพชรหรือตาแมว เป็นอาการที่บ่งบอกถึงความผิดปกติในลูกตา ในผู้สูงอายุสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ ต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถผ่าตัดได้ และได้ผลดี แต่ถ้าเกิดขึ้นในเด็ก “ตาวาว” เป็นสัญญาณอันตราย เป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบหาสาเหตุ และวินิจฉัยโดยเร็ว เพราะอาจเป็นโรคร้าย ที่สามารถส่งผลถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร สูญเสียดวงตา หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้
โรคมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) เป็นสาเหตุของตาวาวในเด็กอันดับต้นๆ ในปีหนึ่งๆ จะมีเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ทั่วโลกมากกว่า 7,000 คน
ในอดีต เด็กที่เป็นโรคนี้มักจะเสียชีวิตแทบทุกราย เนื่องจากเซลล์มะเร็งสามารถลุกลามจากตาเข้าไปยังภายในสมองได้ แต่ในปัจจุบัน วิวัฒนาการของการรักษาได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้อัตราการรอดชีวิตจากโรคนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สูงถึง 95-99% แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศเช่นประเทศในแถบแอฟริกา อัตราการรอดชีวิตอาจมีเพียงแค่ 50% การศึกษาในประเทศไทยที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี พ.ศ. 2552 พบว่าอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 85% ซึ่งต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเล็กน้อย ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจาก พ่อแม่ผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งจอตาในเด็กและภาวะตาวาวทำให้มักพาเด็กมาพบแพทย์เมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามมากแล้ว การรักษาจึงได้ผลสำเร็จลดลง
นอกจากโรคมะเร็งจอตาในเด็กแล้ว อาการ “ตาวาว” ยังเป็นอาการนำของโรคอื่นๆ อีกหลายโรค เช่น ต้อกระจกในเด็ก, เลือดออกในวุ้นตา, Coats disease, ภาวะหลอดเลือดในตาไม่สลายตัว, จอตาลอก, เป็นต้น โรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ การรักษาจะช่วยให้เด็กมีการมองเห็นที่ดีขึ้น และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในอนาคต
บทความโดย
นพ.จรินทร์ ศักดิ์ธนะเศรษฐ
ศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล
ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความจาก เฟสบุคเพจ สุขภาพตา โดย ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย facebook/AllAboutEyebyRCOPT
ชมคลิปเด็กตาเพชร >>
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะพร่องเอนไซม์ G-6-PD ในเด็ก
โรค PPHN ภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!