คนท้องต้องระวังติดเชื้อไวรัสซิกา ลูกเสี่ยงเป็นโรคข้อต่อยึดติด
ไวรัสซิกา เป็นไวรัสที่แพร่เชื้อผ่านการถูกยุงกัด คนที่ติดไวรัสตัวนี้จะมีอาการไข้ ผื่นขึ้น ปวดตามข้อ ตาแดง ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพราะอาการส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน
แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ การติดเชื้อนี้ถือว่ารุนแรงอย่างมาก
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกระดับไวรัสซิกาเป็นภัยฉุกเฉินระดับโลก หลังจากมีการศึกษาว่าการติดเชื้อในแม่ท้องส่งผลให้ทารกในครรภ์มีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติ
ต่อมาได้มีการศึกษาที่พบการเชื่อมโยงระหว่าง การติดเชื้อซิกาไวรัสในคนท้อง กับโรคข้อยึดติดในทารกแรกเกิด
โรคข้อต่อยึดติด (Arthrogryposis) อาจเกิดจากการสูญเสียเซลล์ประสาทในไขสันหลังของทารกในครรภ์เนื่องจากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกา
โรคข้อยึดติด หรือที่รู้จักกันในชื่อโรค AMC (Arthrogryposis Multiplex Congenital) เป็นภาวะที่ทารกคลอดออกมาโดยมีข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า หัวไหล่ นิ้วมือ นิ้วเท้า และข้อสะโพกงอค้าง หรือเหยียดค้าง แข็ง ไม่สามารถดัดให้กลับมาเป็นปกติได้ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวมือและเท้าได้
ทีมนักวิจัยพบเด็กในบราซิล 7 คนพิการด้วยโรคข้อต่อยึดติด
เด็กทุกคนได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแต่กำเนิด ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากเชื้อไวรัสวิกาในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศบราซิล แต่เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีภาวะศีรษะเล็กผิดปกติ
เด็กๆ ได้รับการถ่ายภาพสมอง และถ่ายภาพความละเอียดสูงบริเวณข้อต่อและเนื้อเยื่อรอบๆ พบการสะสมของหินปูน ซึ่งอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าไวรัสซิกาได้ทำลายเซลล์ประสาท ซึ่งนำไปสู่การเกิดแผลในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับการสะสมแคลเซียม
ในขณะที่การถ่ายภาพข้อต่อและเนื้อเยื่อรอบๆ กลับไม่พบหลักฐานเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของข้อต่อ
จากการค้นพบนี้อาจกล่าวได้ว่า โรคข้อต่อยึดติดในเด็กน่าจะเป็นความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ ซึ่งทำให้ทารกไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่อยู่ภายในท้องแม่ มากกว่าที่จะเกิดจากความผิดปกติขอตัวข้อต่อเอง
แม้นักวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่า การติดเชื้อไวรัสซิกาขณะตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของโรคข้อต่อยึดติด แต่พวกเขาเชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้อาจมีบทบาทสำคัญทางการแพทย์
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับไวรัสซิกา
- นอกจากการถูกยุงกัดแล้ว ไวรัสซิกายังสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาด้วย
- ปัจจุบันไวรัสซิกายังไม่มีวัคซีนป้องกัน
หากมีข่าวเกี่ยวกับไวรัสซิกาในประเทศใดก็ตาม ขอให้คุณแม่ท้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่แพร่ระบาด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซึ่งจะส่งผลให้ลูกในท้องพิการได้นะคะ
ที่มา www.medicalnewstoday.com/articles/312229.php
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!