คุณแม่ Vanida Boonyarataphun หรือคุณแม่แนน เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นท้องได้ 25 สัปดาห์ จู่ ๆ ก็มีอาการปวดท้องและปวดหลังควบคู่กัน คิดว่าที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะทำงานและยืนมาก จึงบอกคุณพ่อและตกลงกันว่า เดี๋ยวจะไปหาหมอกัน แต่อยากให้นอนพักสักครู่ก่อน แต่นอนแล้วอาการก็ไม่ดีขึ้นเลยลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว ในระหว่างนั้นมีเลือดออก จึงรีบพากันไปที่โรงพยาบาลทันที คุณหมอจึงรีบให้ขึ้นขาหยั่งนอนดูทันที ปรากฎว่าเลือดที่ไหลออกมานั้น ออกมาจากช่องคลอด คุณหมอบอกว่า โอกาสในการแท้งสูง จึงให้แอทมิทและนอนให้ยาระงับการคลอด
และให้ยากระตุ้นปอดน้อง 4 เข็มเพราะอายุครรภ์ยังน้อย ระหว่างที่นอนนั้น คุณหมอก็ติดเครื่องฟังการเต้นหัวใจของน้องไปด้วย ในตอนนั้นได้แต่พูดกับลูกว่า “อย่าเป็นอะไรนะลูกคนเก่งของแม่ สู้นะ เราจะสู้ไปด้วยกันนะ”
เลือดยังคงไหลไม่หยุด จนกระทั่งตี 3 คุณหมอมาดูอาการและแจ้งว่า ปากมดลูกเปิดแล้ว 7 เซนติเมตรแล้ว คุณหมอบอกต้องคลอดพร้อมพูดให้กำลังใจว่า “จะอย่างไรก็แล้วแต่ เราจะมาสู้กันต่อข้างนอกนะคุณแม่” ระหว่างที่คลอดใจก็บอกลูกตลอดว่า “อยู่กับแม่นะลูก สู้ ๆ นะลูก แม่รักหนูนะ” กระทั่งตี 5 น้องก็คลอดออกมาด้วยวิธีธรรมชาติ ตอนที่ได้ยินเสียงร้องของลูกรู้สึกดีใจมาก แต่กลับรู้สึกตกใจเมื่อคุณหมอบอกกับทีมแพทย์ว่า ให้รีบนำเอาน้องเข้าตู้ทันที เพราะปอดของน้องยังทำงานไม่สมบูรณ์ ต้องให้ออกออกซิเจนด่วน!
“น้องเจ้าคุณ” คลอดออกมาด้วยน้ำหนักตัวเพียง 810 กรัม แม้แต่พยาบาลยังบอกให้เผื่อใจ ตอนนั้นกว่าจะไปเยี่ยมน้องได้ก็ 11 โมงแล้ว ภาพแรกที่เห็นคือ สายอะไรก็ไม่รู้ติดเต็มตัวน้องไปหมด รู้สึกสงสารลูก พูดได้อย่างเดียวคือ ลูกสู้ ๆ แม่รักหนูมากนะครับ” แล้วก็เดินกลับมาที่ห้องพักฟื้นและกอดกับคุณพ่อร้องไห้ และต่างก็ปรึกษากันเรื่องค่าใช้จ่าย เนื่องจากโรงพยาบาลที่น้องคลอดนั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชนและมีราคาแพง จึงปรึกษาคุณหมอเพื่อขอย้ายโรงพยาบาล เมื่อติดต่อไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ผลปรากฏว่า เต็มกันหมด ไม่มีตู้อบว่างเลย เพื่อนของพี่จึงแนะนำโรงพยาบาลเลิดสินให้
เหมือนโชคเข้าข้าง คุณหมอยอมรับเคสพอดี แต่ทั้งคุณหมอและพยาบาลต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า น้องตัวเล็กมาก คุณแม่ต้องเผื่อใจไว้บ้าง น้ำหนักของน้องลดลงเหลือเพียง 750 กรัม เพราะทานนมไม่ได้เลย ตอนนั้นได้แต่เกาะกระจกพูดกับลูกว่า “สู้ ๆ นะลูก เรามาสู้ไปด้วยกันนะ” ซึ่งในระหว่างที่อยู่ในห้อง NICU นั้นก็ได้มีโอกาสเจอกับคุณแม่ท่านหนึ่งที่ลูกก็คลอดก่อนกำหนดและอยู่ในห้องนี้เช่นกัน คุณแม่ท่านนี้แนะนำว่า “นมแม่ช่วยได้ ให้คอยขยันปั๊มนมแม่มา แล้วให้พยาบาลคอยป้อนให้”
จึงทำตามที่คุณแม่ท่านนั้นบอก หลังจากที่น้องทานนมแม่เข้าไป น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นเป็น 780 กรัม ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ น้องต้องเจาะปอด เนื่องจากปอดฉีกจากการให้ออกซิเจน ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น น้องน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 กรัมแล้ว รอบศีรษะโตเร็ว จนคุณหมอต้องเฝ้าระวังเพราะกลัวจะเป็นโรคศีรษะโต ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ ที่รอผลการตรวจนั้น ก็เอาแต่พูดกับลูกว่า “สู้ ๆ นะลูก แม่รักหนูนะ”
โชคดีที่ผลตรวจออกมาปกติ จนวันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนครึ่ง น้องเริ่มมีอาการท้องอืด และบวม คุณหมอจึงให้คุณหมออีกท่านที่เป็นคุณหมอเฉพาะทางเรื่องลำไส้ตรวจ แต่ครั้งนี้จะต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลเด็ก ผลออกมาคือ น้องมีภาวะไส้เลื่อนด้านซ้ายหนึ่งข้าง คุณหมอยังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้เนื่องจากน้องตัวเล็กเกินไป จึงทำได้แค่เพียงให้ยารักษาตามอาการ … ในตอนนั้นน้องนอนรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเด็กได้สี่วัน ก็อาการดีขึ้น จึงสามารถกลับมาอยู่โรงพยาบาลเดิมได้
อาการของน้องดีขึ้นเรื่อย ๆ น้ำหนักขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1,800 กรัม คุณหมอเริ่มเอาท่อออกซิเจนออก เพื่อให้น้องเริ่มหัดหายใจเองแล้ว น้ำหนักของน้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีน้ำหนัก 2,200 กรัม คุณหมอก็ต้องให้ทำเลเซอร์ตา เพราะถ้าหากทำช้ากว่านั้น ก็อาจทำให้ตาบอดได้ หลังจากที่ทำเสร็จพยาบาลก็เอาน้องมาให้อุ้ม ณ ตอนนั้นน้องยังคงหลับอยู่เพราะฤทธิ์ยาสลบ
พอน้องเริ่มขยับร้อง คุณแม่จึงเอานมให้น้องทาน พอทานได้สักพัก เครื่องที่จับชีพจรก็ค่าตก ชีพจรของน้องค่อย ๆ ลดต่ำลง ตัวเริ่มซีด พยาบาลวิ่งกันวุ่น รีบปั๊มหัวใจน้อง ปลุกน้องให้ตื่น และนำตัวน้องเข้าตู้อบทันที … ตอนนั้นน้ำตาไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ปากก็พูดกับลูกว่า “ตื่นนะลูก อย่าเป็นอะไรไปนะ อยู่กับแม่นะ” ในที่สุดชีพจรน้องก็กลับมาเต้นตามปกติ
คลิกอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
สุดท้ายวันที่รอคอยก็มาถึง เมื่อคุณหมออนุญาตให้นำน้องกลับบ้านได้ ตอนนั้นน้องมีน้ำหนักตัว 2,550 กรัม แล้ว แต่ทว่าภาวะไส้เลื่อนก็ยังคงอยู่ คุณแม่และคุณพ่อจึงพาลูกไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลเด็กต่อ น้ำหนักน้องในตอนนั้น 2,750 กรัม คุณหมอบอกว่า น้องจะต้องผ่าตัดทั้งสองข้าง แต่น้องตัวเล็ก จึงต้องให้อยู่โรงพยาบาล 2-3 วันเพื่อเฝ้าดูอาการจนครบตามจำนวนที่คุณหมอต้องการเพื่อให้มั่นใจว่า น้องจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ คุณหมอถึงอนุญาตให้พาน้องกลับบ้านได้
หลังจากนั้นมา น้องก็ไม่มีอาการป่วยอีกเลย ไปฉีดวัคซีนก็ไม่เคยร้อง ผ่านมาแล้ว 2 ปี คุณแม่ยังคงจำเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี จึงอยากขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านที่คลอดก่อนกำหนด และลูกต้องเฝ้ารักษาตัวอยู่ในห้อง NICU ว่า “สู้และเข้มแข็งนะคะ ลูกตัวเล็กนิดเดียวเขายังสู้ เราเป็นแม่เราก็ต้องสู้ไปกับเขาด้วย ที่สำคัญในระหว่างที่ลูกอยู่ในห้อง NICU นั้น นมแม่ช่วยได้เยอะมากจริง ๆ และขออย่าได้กังวลใจไป รับประกันได้เลยว่า เด็กตู้นั้นซนปกติเหมือนเด็กทั่วไปแน่นอน”
และนี่คือภาพของน้องเจ้าคุณ ณ ปัจจุบันค่ะ ช่างเป็นเด็กที่สดใสจริง ๆ เลย เห็นด้วยไหมคะ
คุณแม่รู้ไหม นมแม่มีประโยชน์ต่อทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างไร?
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ กล่าวว่า นมของแม่ทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมาะสำหรับลูกมากที่สุด พบว่า ทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่อย่างเดียว มีการเจริญเติบโตที่ปกติ พบภาวะลำไส้เน่าและโรคปอดเรื้อรังน้อยกว่า ระดับสติปัญญาสูงกว่าโดยแปรผันตามเวลาที่ได้กินนมแม่ว่านานเพียงใด ได้ออกจากตู้อบและโรงพยาบาลเร็ว ดังนั้น หากคุณแม่เป็นคนหนึ่งที่ลูกคลอดก่อนกำหนด อย่าลืมให้ลูกดื่มนมแม่กันนะคะ
ที่มา: คุณแม่ Vanida Boonyarataphun
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างไร?
เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ เมื่อลูกต้องเข้า NICU
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!