ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ที่พ่อแม่ส่งไลน์กันไม่เกี่ยวกับ โรค GBS
ในช่วงนี้ มีข่าวที่แชร์กันแพร่หลายใน line group ของผู้ปกครองเรื่อง ” ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ น่ากลัวมากๆ เพราะทำให้เกิดโรคกิลแลงเบอร์เร โรค GBS หรือการอักเสบของเส้นประสาทจนเกิดกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ” ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจที่ผิดอย่างมากในสังคมวงกว้าง เพราะจริงๆแล้ว ไม่ได้มีเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ แต่อย่างใด การติดเชื้อหลายชนิดก็สามารถทำให้เกิดอาการของโรคนี้ได้ แต่พบได้น้อย
หมอขออธิบายเรื่องโรค GBS โดยเน้นที่อาการในเด็ก เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง แบบสรุปโดยย่อนะคะ
GBS คืออะไร?
กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร์ (Guillan Barre syndrome-GBS) เป็นกลุ่มอาการผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย และรากประสาท ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของแขนขา และอาจเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลว จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตตามมาได้
โรคนี้จัดว่าพบได้ไม่บ่อย ประมาณ 0.5-1.5 รายในประชากร 100,000 ราย พบมากในเด็กโตและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะ ช่วงอายุ 15-35 ปี และ 50-75 ปี พบได้น้อยที่สุดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากไม่นับโรคโปลิโอแล้ว GBS ก็จัดว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญของอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันในเด็ก
GBS เกิดจากอะไร?
สาเหตุที่ทำให้เกิด GBS ยังไม่ทราบชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ คือ ภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวน โดยมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิด หรือภายหลังจากการได้รับวัคซีนบางชนิดเป็นตัวกระตุ้นทำให้ร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมาผิดปกติ ซึ่งมาทำร้ายระบบประสาทส่วนปลาย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการคล้าย GBS ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แต่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการติดเชื้อโรคเองโดยตรง หรือสารพิษบางชนิด ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาท
ในที่นี้ขอกล่าวถึง GBS ที่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันแปรปรวนโดยตรง เป็นหลักค่ะ
อาการของ GBS ในเด็กเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยเด็กโรค GBS จะมีอาการกล้ามเนื้อขาและแขนอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง เท่าๆกัน อาการเกิดขึ้นรวดเร็วในเวลาเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน อาจมีอาการชาร่วมด้วย มีกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หลับตาไม่สนิท พูดไม่ค่อยชัดกลืนลำบาก เส้นประสาทสมองผิดปกติ โดยอาการต่างๆมักเกิดหลังจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีนภายใน 2-4 สัปดาห์
อาการที่พบในเด็กได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่คือ การปวดกล้ามเนื้อ และปวดท้อง ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากทั้งเด็กและผู้ใหญ่อาจมีภาวะหายใจล้มเหลวต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นระยะเวลานาน
การวินิจฉัย GBS ทำได้อย่างไร?
คุณหมอสามารถวินิจฉัย GBS ได้จากอาการดังกล่าวข้างต้น หลังจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน ภายใน 2-4 สัปดาห์ก่อนเกิดอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกายพบอาการอ่อนแรงของแขนขาและกล้ามเนื้อใบหน้า หากสงสัยโรคนี้ คุณหมอจะพิจารณาเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ หาความผิดปกติที่เข้าได้กับ GBS เพื่อการวินิฉัยที่ถูกต้อง
การรักษา GBS ทำอย่างไร?
หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจนเดินไม่ได้ หายใจเองไม่ได้ คุณหมอจะพิจารณาให้ยา immunoglobulin ทางเส้นเลือด แต่หากอาการไม่รุนแรง ก็เพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และรอเวลาที่โรคจะหาย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วย GBS จะหายเป็นปกติภายใน 6-12 เดือน โดยผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงอาจหายได้เร็วกว่า 6 เดือน ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงมาก อาจจะเสียชีวิตจากภาวะหายใจล้มเหลวได้
จะเห็นได้ว่า GBS ในเด็กแม้จะเป็นโรคที่พบได้น้อย แต่ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ดังนั้นหากลูกมีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุ และจะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดนะคะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ทารกเป็นหวัด พ่อแม่ควรรับมือยังไง
น้องอายุ 2 เดือน หายใจครืดคราดตลอดเวลา พบว่าเป็น ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบ
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!