เสียงร้องของทารก ร้องแบบนี้ต้องการให้แม่ทำอะไร
เสียงร้องของทารก เป็นการสื่อสารอีกอย่างหนึ่งในช่วงวัยที่ยังพูดไม่ได้ของลูกน้อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงความต้องการ ดังนั้นในช่วงแรก ๆ ที่ลูกร้องไห้บ่อย คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งเหนื่อยจนหมดแรงลุกขึ้นมาดู หรือหัวเสียไปซะก่อนนะคะ ต้องระลึกไว้เสมอว่าการร้องไห้ของลูกคือความต้องการพ่อแม่ และควรมองหาสาเหตุว่าลูกร้องเพราะเหตุผลอะไร ร้องไห้แบบไหนที่ส่งสัญญาณความผิดปกติ
พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดีเมื่อได้ยิน เสียงร้องทารก
คนที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ ไม่เคยเจอเหตุการณ์ลูกร้องไห้มาก่อน จึงมักจะขยาดกับเสียงร้องไห้ของลูก ที่สามารถดังได้ถึง 110 เดซิเบล! โดยเฉพาะในวัย 2 – 3 เดือนแรกที่ต้องเลี้ยงลูกเอง โดยไม่มีพยาบาลคอยช่วยเหมือนตอนคลอดใหม่ ๆ ดังนั้น การได้ยินเสียงลูกแผดร้อง อาจทำให้เกิดความเครียดเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และบางรายอาจฉุนเฉียว กดดัน ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ จนเผลอทำร้ายลูกน้อย การทำความเข้าใจกับเสียงร้องของทารกจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเข้าใจแล้ว คุณจะสามารถสังเกตและตอบสนองความต้องการของลูกได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว
อาการร้องของทารก มีความหมายอย่างไรบ้าง
![เสียงร้องของทารก](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2017/12/baby-cry-4.jpg?width=700&quality=10)
1. ลูกกำลังหิวนม
การร้องไห้เพราะหิวเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทารกร้องไห้บ่อยที่สุด ทั้ง ๆ ที่คุณแม่อาจให้นมไปไม่นาน อีกไม่เกิน 2 ชั่วโมงก็อาจร้องไห้เพราะหิวอีก เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเล็กซึ่งทำให้อิ่มไวและก็หิวไวด้วย หรือทารกบางคนอาจร้องออกมาในขณะที่ยังดูดนมหรือหลังอิ่มได้ อาจเป็นเพราะการอุ้มที่ไม่ถูกท่าทำให้เบบี๋ไม่สบายตัว และหลังจากอิ่มนมแล้วคุณแม่ควรให้ลูกเรอ เพื่อไล่ลมออกจากท้อง ป้องกันท้องอืด เพื่อไม่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องนะคะ
2. ลูกเพลียหรือเหนื่อยเกินไป
ถ้าลูกมีท่าทีไม่สนใจของเล่นแล้ว หาวบ่อย และร้องไห้งอแงออกมา แสดงว่าลูกเริ่มเหนื่อยและเพลีย ต้องการที่จะนอนหลับแล้วล่ะ คุณแม่ลองกล้อมลูกด้วยการอุ้มเดินไปมา วางลงในเปลแล้วแกว่งไปมา หรืออุ้มนั่งบนเก้าอี้โยกไปก็อาจช่วยทำให้ลูกน้อยสงบลงได้
3. ลูกรู้สึกไม่สบายตัว อัดอัด เปียกชื้น
เห็นนอนหลับชิล ๆ อยู่ ๆ ลูกก็ร้องไห้จ้าขึ้นมา อาจเป็นเพราะอุณหภูมิในห้อง ที่ทำให้ลูกรู้สึกหนาวหรือร้อนเกินไปหรือเปล่า หรือจากความเปียกชื้นเฉอะแฉะจากผ้าอ้อม ที่ทำให้ลูกเกิดความไม่สบายตัว ถ้าชื้นหรือจับดูแล้วหนัก ๆ อย่าเสียดายผ้าอ้อมนะคะ ควรเปลี่ยนเลยดีกว่า รวมไปถึงเช็กเสื้อผ้าของลูกว่าหนาหรือบางไปหรือเปฃ่า คุณแม่ควรเข้าไปดูและตอบสนองลูกน้อยอย่างอ่อนโยนต่อสาเหตุที่ทำให้ทารกเกิดความไม่สบายตัวขึ้น
![เสียงร้องของทารก](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2017/12/baby-cry.jpg?width=700&quality=10)
4. มีเสียงดังรบกวนลูก
บริเวณห้องที่มีเสียงดังรบกวนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่มากเกินไป อาจทำให้ทารกนอนสะดุ้งตื่นร้องไห้โยเยได้ ดังนั้นในขณะที่ลูกน้อยหลับอยู่ ควรได้อยู่ในห้องที่สงบเงียบ หรืออยู่ในบรรยากาศที่เหมาะกับการนอน ก็จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น
5. ร้องเพราะอยากให้แม่อุ้ม
ทารกอาจยังไม่คุ้นชินกับสภาวะหลังคลอด ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่ทารกจะส่งเสียงร้องหาคุณแม่ เพื่อให้แม่ได้เข้ามาโอบอุ้ม การสัมผัสกอดแนบเนื้อเพื่อให้ความอบอุ่น การได้ดมกลิ่นแม่จะทำให้เจ้าตัวน้อยได้รู้สึกถึงความปลอดภัยยิ่งขึ้น
6. ลูกร้องเพราะรู้สึกหวาดกลัว
เมื่อทารกเจอคนแปลกหน้า เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่ยังไม่คุ้นที่แตกต่างจากพ่อแม่ อาจทำให้เบบี๋ร้องไห้ออกมาเพราะรู้สึกหวาดกลัว หรือบางทีเขาไม่เห็นใครอยู่ข้างกาย ก็รู้สึกไม่อบอุ่นใจ อยากให้พ่อแม่มากอด มาอยู่ใกล้ชิด ดังนั้น กอดลูก ปลอบเขาอย่างอ่อนโยน จะช่วยให้ลูกสงบลงได้ค่ะ
7. ร้องไห้เพราะป่วยไข้ ไม่สบาย
ลูกตัวร้อน ท้องอืด ไม่สบาย มีไข้ ฯลฯ เป็นอาการที่ลูกไม่สามารถพูดบอกพ่อแม่ได้ นอกจากร้องไห้ส่งสัญญาณ ให้พ่อแม่รู้ว่าร่างกายไม่ปกติ ถ้าหากได้ยินเสียงลูกร้องไห้ คุณแม่ควรหยิบปรอทหรือที่วัดไข้ มาวัดอุณหภูมิที่ตัวลูกดูสักหน่อย ว่าร้อนหรือเย็นไปหรือเปล่า รวมทั้งเช็กดูผิวของลูก เผื่อจะมีแมลงสัตว์กัดต่อยตามข้อพับ หรือใต้ร่มผ้าก็เป็นได้
![เสียงร้องของทารก](https://static.cdntap.com/tap-assets-prod/wp-content/uploads/sites/25/2017/12/baby-cry-3-2.jpg?width=700&quality=10)
8. ทารกร้องโคลิค
อาการร้องโคลิคมักเกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิดอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือน ซึ่งจะสังเกตว่า ลูกจะร้องไห้ไม่หยุด หรืออาจร้องนานเกินกว่า 3 ชั่วโมงภายในวันเดียวโดยไม่มีสาเหตุ หรือร้องไห้นาน ๆ แบบนี้ติดต่อกันหลายวัน ไม่ยอมดื่มนมตามปกติ หรือดื่มได้น้อยลงเกินครึ่งหนึ่งของปกติ และจู่ ๆ ก็หยุดร้องทันที หากสังเกตว่าลูกร้อง ไม่ได้มาจากสาเหตุอื่นหรือที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าทารกร้องโคลิคนั่นเอง
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ เสียงร้องไห้ของทารก
การร้องไห้ของทารกแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป ซึ่งเกิดขึ้นได้ถี่และเป็นปกติของทารกแรกเกิดจนถึง 4 เดือน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการเติบโตของทารก และลูกจะค่อย ๆ ร้องไห้น้อยลงเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าสังเกตการร้องไห้ที่เกิดจากอาการเจ็บป่วย หรือร้องไห้นานมากเกินไปจนผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการ และไม่ควรซื้อยามาป้อนให้ทารกรับประทานโดยไม่ปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ
สำหรับพ่อแม่มือใหม่ที่กังวลในการเลี้ยงลูก ในปัจจุบันมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกมากมายที่คอยให้คำแนะนำปัญหาสำหรับลูกน้อย เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสายด่วนโรงพยาบาลเด็ก โทร. 1415
ที่มา Pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เบบี๋ก็มี ภาษาทารก ฟังดีๆนะแม่ เสียงร้องแบบนี้ ลูกพยายามบอกอะไร
อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าทารกไม่ยอมส่งเสียงร้องไห้หลังคลอด!!
7 วิธีสังเกตอาการ ลูกร้องโคลิก
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!