เริ่มต้นขอสินเชื่อบ้าน ให้ผ่านไม่ยาก แค่เตรียมเอกสารให้พร้อม
หลังจากตระเวนหาที่อยู่อาศัยมาพักใหญ่ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงน่าจะตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะบ้านหรือคอนโดฯ ที่เหมาะกับครอบครัวของท่านได้เรียบร้อยแล้ว ในกระบวนการต่อไปจึงเป็นการ เริ่มต้นขอสินเชื่อบ้าน ในเรื่องของการทำสัญญาจะซื้อจะขายให้เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมวางมัดจำ ระหว่างตัวท่านเองและตัวโครงการ เพื่อสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้น
โดยส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้ซื้อบ้านมักจะต้องขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินเนื่องจากไม่สามารถซื้อบ้านด้วยเงินสดได้ในทีเดียว โดยในขั้นตอนแรกของการขอสินเชื่อก็จะเป็นเรื่องของการเตรียมเอกสารสำหรับในการยื่นกู้ซื้อบ้าน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปเตรียมเอกสารเหล่านั้นพร้อมๆ กัน
เพื่อให้สามารถจัดเอกสารได้สะดวกขึ้น เราจะแบ่งเอกสารออกเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ
เอกสารชุดนี้คือเอกสารที่จะระบุตัวตนว่าผู้ที่กู้เป็นใคร และพักอาศัยอยู่ที่ใด เอกสารในกลุ่มที่ 1 ซึ่งผู้ขอสินเชื่อต้องจัดเตรียมเพื่อยื่นประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อ ซึ่งมีดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรประจำตัวข้าราชการ เตรียมให้พร้อมทั้งต้นฉบับและสำเนา
- ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน ทั้งต้นฉบับและถ่ายสำเนาทุกหน้า
- กรณีที่เปลี่ยนชื่อ หรือเปลี่ยนนามสกุล ให้เตรียมใบจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ทั้งต้นฉบับและสำเนา ใช้ทั้งหมดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อกี่ครั้ง
- กรณีสมรส เตรียมทะเบียนสมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
- กรณีหย่า เตรียมทะเบียนหย่า ทั้งต้นฉบับและสำเนา
- กรณีคู่สมรสเสียชีวิต เตรียมมรณะบัตรของคู่สมรส ทั้งต้นฉบับและสำเนา
- กรณีแยกกันอยู่กับคู่สมรส เตรียมใบแจ้งความแยกกันอยู่ ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน
เอกสารชุดนี้จะให้ข้อมูลด้านรายได้และศักยภาพในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อ รวมไปถึงหลักทรัพย์ต่างๆ
กรณีเป็นพนักงานประจำสังกัดองค์กร ให้เตรียมเอกสารดังนี้
- หนังสือรับรองเงินเดือน ฉบับจริง
- เพย์เมนต์สลิปเงินเดือน หรือใบแจ้งการจ่ายค่าจ้างจากหน่วยงานย้อนหลัง 3 เดือน ฉบับจริงและสำเนา
- สมุดบัญชีแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
- กรณีรับเงินเดือนเป็นเงินสด ให้เตรียมแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีหรือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ทั้งต้นฉบับและสำเนา
กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้เตรียมเอกสารดังนี้
- สำเนาทะเบียนการค้า ทะเบียนพาณิชย์ หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (หนังสือบริคณห์สนธิ) กรณีที่มีการจดทะเบียน
- สมุดบัญชีแสดงการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน ทั้งบัญชีส่วนตัวและบัญชีกิจการ ทั้งฉบับจริงและสำเนา
- บัญชีเงินฝากกระแสรายวันที่แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน และวงเงินเบิกเกินบัญชี
- หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับกิจการ เช่น ภาพถ่ายกิจการ 5 ภาพ รายชื่อผู้ถือหุ้น งบการเงิน หลักฐานรายได้และทรัพย์สินอื่นๆ หลักฐานแสดงการเสียภาษี (ภ.พ. 30) เป็นต้น
กรณีประกอบอาชีพอิสระ ให้เตรียมเอกสารดังนี้
- บัญชีเงินฝากแสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน ทั้งฉบับจริงและสำเนา
- ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ทนาย สถาปนิก เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 เอกสารแสดงรายละเอียดหลักทรัพย์
ในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นสถาบันการเงินจะถือเอาอสังหาริมทรัพย์ที่กู้เงินไปซื้อนั้นมาเป็นหลักประกัน ดังนั้นเอกสารที่แสดงรายละเอียดหลักทรัพย์ก็คือ เอกสารที่ระบุถึงอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ
- กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เช่น บ้าน ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ เป็นต้น ให้เตรียมสำเนาเอกสารสิทธิที่ดิน โฉนดที่ดิน (น.ส. 4 จ.) หรือหนังสือแสดงสิทธิ์ใน ที่ดิน (น.ส. 3 ก.) ถ่ายสำเนาทุกหน้าจำนวน 2 ชุด
- กรณีที่อสังหาริมทรัพย์คือห้องชุด ให้เตรียมหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช. 2) ถ่ายสำเนาทุกหน้า จำนวน 2 ชุด
- แผนที่ตั้งโดยสังเขปของอสังหาริมทรัพย์
- รูปถ่ายของอสังหาริมทรัพย์
- สำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย และสัญญามัดจำ หรือหลักฐานการชำระเงินดาวน์
- กรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มือสอง เป็นการซื้อต่อที่ไม่ได้ซื้อโดยตรงจากโครงการจัดสรร ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้จะขาย
- สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สัญญาซื้อขายที่ดิน (ทด. 13) ใบอนุญาตปลูกสร้างบ้าน ใบคำร้องขอเลขที่บ้าน เป็นต้น
กรณีมีผู้กู้ร่วม ให้ผู้กู้ร่วมทุกคนจัดเตรียมเอกสารในกลุ่มที่ 1 เอกสารประจำตัวผู้ขอสินเชื่อ และเอกสารในกลุ่มที่ 2 เอกสารแสดงความสามารถทางการเงิน ตามวิธีการและรายละเอียดที่ให้ไว้ด้านบน
ถึงแม้ว่าผู้ขอสินเชื่อจะเตรียมเอกสารครบถ้วนตามรายการแล้ว แต่สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกขอเอกสารหรือหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม ประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ในกรณีเช่นนี้ผู้กู้ควรรีบดำเนินการนำเอกสารส่งต่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อภายใน 3 วัน เพื่อความต่อเนื่องของกระบวนการพิจารณา
บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อะไรจะเกิด เมื่อแม่จับได้ว่าแม่บ้านให้นมลูกตัวเอง
แม่บ้านต้องรู้! วิธีขจัดสกัดพลังตดสามี ให้อยู่หมัด!
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!