สาเหตุของความอิจฉา
1.พัฒนาการแต่ละช่วงวัย
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการด้านต่างๆแตกต่างกันไป เช่น วัย 3 ขวบจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน หวงพ่อแม่ หวงของเล่น หวงของกินเป็นต้น วัย 4 ขวบเด็กเริ่มแสดงอารมณ์อิจฉาโดยไม่รู้ตัว อยากเป็นคนสำคัญของพ่อแม่ และเด็ก 5 ขวบนั้นจะเริ่มพัฒนาความคิดเกี่ยวกับพวกฉันและพวกเธอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและความเข้าใจของเด็กและแสดงออกเป็นพฤติกรรม หากพ่อแม่ไม่ให้ความดูแลใส่ใจอย่างเต็มที่ลูกคนโตอาจรู้สึกอิจฉาน้อง หรืออิจฉาเพื่อน
2.มีน้องเพิ่มเป็นสมาชิกใหม่
จากที่เคยเป็นศูนย์กลางของครอบครัว เคยได้รับความรักความใส่ใจ ครอบครองทั้งพ่อและแม่เพียงคนเดียวแต่จู่ๆต้องมาปรับตัวกับการมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา และพ่อแม่ยังไปทุ่มเทความสนใจดูแลน้องเล็กมากกว่าอีก ก็ไม่แปลกที่เด็กน้อยตัวเล็กนิดเดียวจะสับสน ไม่เข้าใจ ส่งผลต่อการแสดงอารมณ์หากพ่อแม่ละเลย และยิ่งบังคับให้ดูแลน้องโดยไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจให้เด็กมีพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็งพอ ปัญหาเรื่องความอิจฉาอาจบานปลายมากกว่าที่คิด
3.ถูกเปรียบเทียบ
การนำลูกไปเปรียบเทียบกับน้อง กับพี่ กับเพื่อนหรือเด็กคนอื่นว่าไม่เก่งเท่าพี่ ไม่ดีเท่าน้อง อาจกลายเป็นการทำร้ายจิตใจครั้งยิ่งใหญ่สร้างปมในจิตใจให้ลูก กลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง นำไปสู่ความเกลียดชัง อิจฉาเพื่อน อิจฉาน้อง ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตให้รู้ว่าลูกแต่ละคนมีความสนใจหรือมีความสามารถพิเศษที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร แล้วสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ ดีกว่าบังคับให้ลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วนำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นหรือแม้แต่พี่น้อง
4.การแสดงออกของพ่อแม่
แม้พ่อแม่จะบอกลูกว่ารักเท่ากัน แต่การแสดงออกของพ่อแม่ที่มีต่อลูกกลับไม่เหมือนกัน ตามปรกติแล้วด้วยความที่น้องเล็กกว่าพ่อแม่อาจใส่ใจลูกเล็กจนละเลยความรู้สึกของลูกคนโต หรือมัวแต่วุ่นวายกับลูกคนใหม่จนไม่มีเวลาสังเหตหรือให้ความใส่ใจลูกคนโตได้เต็มที่เหมือนเมื่อก่อนก็อาจทำให้ลูกคนโตเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ กลายเป็นอิจฉาน้องได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรใช้เวลาพูดคุยทำความเข้าใจกับลูกคนโตตั้งแแต่เริ่มต้องท้องน้อง สร้างสายสัมพันระหว่างพี่น้องตั้งแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่อง อธิบายให้รู้ว่าน้องต้องการความช่วยเหลืออย่างไรและเขาจะช่วยพ่อแม่ดูแลน้องได้อย่างไร เช่นวางแผนให้ไปเลือกเสื้อผ้า ของใช้เตรียมให้น้อง ช่วยจัดห้องจัดข้าวของให้น้อง เมื่อน้องคลอดก็ให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เตรียมของ หยิบของให้ ปลูกฝังความรักและหมั่นสานสัมพันระหว่างพี่น้องให้แนบแน่นมั่นคง
5.ท่าทีที่พ่อแม่แสดงออกเมื่อพี่น้องทะเลาะกัน
พี่น้องเวลาเล่นกันย่อมมีเรื่องให้ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ท่าทีที่พ่อแม่มีต่อการทะเลาะของลูกก็มีส่วนทำให้ลูกเข้าใจกันได้เร็วขึ้น หรือไม่ก็จะยิ่งเกลียดขี้หน้ากันมากขึ้น หากแม่ลงโทษพี่โดยใช้เหตุผลว่าเป็นพี่ต้องเสียสละ น้องยังเล็กต้องยอมน้อง ยิ่งทำให้ลูกคนโตน้อยใจ ไม่เข้าใจ สับสนจนกลายเป็นอิจฉาและเกลียดน้องไปเลย หรือพ่อแม่ไม่ฟังเหตุผลของน้องแล้วลงโทษแบบไม่ยุติธรรมยิ่งทำให้ความไม่เข้าใจระหว่างพี่น้องสะสมและบานปลายลุกลามใหญ่โต
สิ่งจำเป็นที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจคือต้องให้ลูกๆทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้บ่อยเท่าที่จะทำได้เพื่อเป็นการสานสายใยให้พี่น้องรู้จักการพึ่งพาอาศัย เห็นคุณค่าของการมีเพื่อนคอยรับฟังและให้คำปรึกษา สอนให้ลูกรู้จักให้อภัยและเข้าใจในเหตุผล การแสดงอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นของพี่หรือของน้อง ไม่นำลูกมาเปรียบเทียบกัน ไม่นำความผิดน่าอายของลูกมาพูดในเชิงล้อเลียนเป็นเรื่องตลกขบขันในครอบครัว หรือให้พี่น้องล้อเลียนเพราะจะยิ่งสร้างความน้อยใจให้กับลูกจนสะสมนำไปสู่ความอิจฉาและเกลียดชังซึ่งกันและกันกับลูก
แหล่งข้อมูล
เมื่อลูกคนโตกลายเป็นพี่ ลูกที่น่ารัก … กลายเป็น "ลูกขี้อิจฉา"
dailynews
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!