เพราะของเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าของกิน เรื่อยไปจนถึงของเล่นใกล้มือ บางทีก็อาจกลายเป็นวัตถุต้องห้าม การที่หนู ๆ จะคว้ากลืนจนทำให้สำลัก หรือติดคออาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงที่อันตราย เรามาดูกันค่ะว่า ข้าวของอะไรบ้าง ที่ขึ้นชื่อว่าติดอันดับของโปรดของเด็ก ๆ อยู่เสมอ และนี่คือ ของที่ลูกชอบคว้าเข้าปาก
แม่อย่าเผลอเชียวนะ อาจถึงตาย 8 อย่างนี้คือ ของที่ลูกชอบคว้าเข้าปาก
1. ป๊อบคอร์น และถั่วชนิดต่าง ๆ
ถั่ว และข้าวโพดคั่วเป็นอาหารโปรดของเด็ก ๆ อยู่แล้ว ยิ่งเป็นขนมที่คว้ากินง่าย เข้าไปได้ถี่ ๆ แบบนี้ เด็ก ๆ ยิ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ และเป็นอาหารตัวดี ที่มักติดคอ และชวนสำลักได้ง่าย ๆ ทางที่ดีคุณแม่ควรนั่งกินด้วยอย่างใกล้ชิด หรืออยู่ใกล้ ๆ เสมอยามลูก ๆทานอาหารจำพวกนี้
2. ฮอตด็อก
อาจเป็นเพราะฮอตด็อกมาเป็นท่อนยาว ๆ พร้อมกับขนมปังคำโต ทางที่ดีควรแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน เวลาเสิร์ฟ เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่ต้องอ้าปากกว้างนัก และจะได้กินทีละอย่างได้อย่างปลอดภัย
3. แครอทดิบ
สำหรับอาหารชนิดนี้ ขอแนะนำให้คุณแม่ทำปรุง และหั่นเป็นคำ ๆ ก่อนเสิร์ฟ และรูปทรงในการหั่นที่เหมาะสม คือหั่นเป็นทางยาว ไม่ใช่เป็นวงกลม ที่ติดคอได้ง่ายกว่า
4. ลูกกวาด
เราหมายถึงลูกกวาดเม็ดแข็ง ๆ ที่ไม่ละลายระหว่างกลืนแน่ ๆ ยิ่งเม็ดกลม ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งชวนติดคอได้อย่างน่าใจหาย ฉะนั้น ควรเลี่ยงการให้ลูกกวาดกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ขวบ เพื่อเลี่ยงการติดที่หลอดลม และควรดูแลไม่ให้เด็ก ๆ เดินไปด้วย เล่นไปด้วย ระหว่างที่ยังอมไว้ในปาก
5. แอปเปิล
แม้จะมีประโยชน์ และรสอร่อย แต่ด้วยความที่มีความแข็ง ก็อาจทำให้ติดที่หลอดลมได้ ควรดูลูก ๆ อย่างใกล้ชิดขณะกินอาหาร และตัดให้พอดีคำ ส่วนเด็กโต ก็เริ่มที่จะหั่นคำโตได้ และสามารถทานเปลือกได้ แต่ก็ควรเน้นให้ลูก ๆ เคี้ยวให้ละเอียด
6. ของเล่นชิ้นเล็ก
ของเล่นโดยเฉพาะลูกบอล และลูกแก้วนั้น เป็นของอันตรายสำหรับเด็กไม่น้อย เรื่องแนะนำคือ อย่าให้ของเล่นที่มีขนาดใหญ่กว่าแกนทิชชู่กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ บอกให้ลูกที่โตกว่าเก็บของเล่นให้ดี (เพื่อไม่ให้ตัวเล็กเห็น) และคุณแม่ ก็คอยสอดส่องตามใต้เตียง ใต้เก้าอี้อีกทาง สำหรับของเล่นชิ้นเล็ก ที่อาจพลาดสายตา
7. เหรียญ
แม้จะเป็นเด็กโต เหรียญก็สามารถทำให้คุณแม่ตกใจได้ หากลูกเผลอกลืนลงคอ ซึ่งส่วนใหญ่ มักเป็นอุบัติเหตุมากเสียกว่าจะตั้งใจกลืนจริง ๆ และจะไปอุดที่หลอดลมซึ่งหากเกิดขึ้น ต้องรีบพบแพทย์ ฉะนั้นแล้ว การไม่เผลอวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านก็จะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง
8. เนยถั่ว
หากกินในคำเล็ก ๆ คงไม่เท่าไร แต่หากเป็นคำโตแล้วละก็ อาจติดหลอดลมได้แน่ ฉะนั้นแล้ว คุณแม่ควรดูแลระหว่างกินอย่างใกล้ชิด โดยตักพอดีคำ เช่นการปาดบาง ๆ ลงบนแผ่นขนมปัง หรือแครกเกอร์ เป็นต้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูกอาหารติดคอ
บทความ : อาหารติดคอเด็ก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ
วิธีที่ 1 สำหรับหนูน้อยอายุไม่เกิน 1 ปี
- หาที่นั่ง หรือ จะนั่งคุกเข่าลงกับพื้น แล้วนำเด็กนอนคว่ำหน้าลงไว้บนขา กดศีรษะให้ต่ำกว่าลำตัว ใช้มือจับบริเวณขากรรไกร พร้อมกับ ประคองคอไปด้วย
- ใช้มืออีกข้างตบบริเวณหลังของเด็ก บริเวณสะบักด้วยสันมือประมาณ 5 ครั้ง ต้องตบแรง ๆ นะคะ
- พลิกตัวเด็กให้นอนหงายขึ้น เอามือจับประคองลูกไว้ที่บริเวณท้ายทอย
- ใช้นิ้ว 2 นิ้ว ของมืออีกข้างกดลงบริเวณกึ่งกลางของหน้าอกลูกน้อย โดยอยู่ในระยะที่ห่างจากหัวนมเด็กเล็กน้อย กดแรง ๆ 5 ครั้ง
- ให้ทำการตบหลัง 5 ครั้ง และ กดหน้าอก 5 ครั้ง สลับกันไปมา จนกว่าลูกจะร้อง หรือพูดออกมาได้
วิธีที่ 2 สำหรับหนูน้อยอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
- ให้เข้าไปที่ด้านหลัง โดยให้ลูกยืน หรือนั่งคุกเข่าก็ลง จากนั้นโอบรัดจากด้านหลังใต้รักแร้มาบริเวณด้านท้อง
- ใช้มือข้างหนึ่งกำไว้ แล้ววางไว้บริเวณเหนือสะดือใต้ลิ้นปี่ ส่วนมืออีกข้างกำกำปั้นไว้อีกทีหนึ่ง
- ดันนิ้วหัวแม่มือข้างที่กำไว้เข้าไปด้านในท้องของเด็ก รัดให้แน่นแล้วกะตุกขึ้น ให้ทำพร้อมกัน แรงๆ จนกว่าสิ่งที่ติดคอจะหลุดออกมา หรือจนกว่าจะมีเสียงเล็ดลอดออกมา
- ในกรณีที่หมดสติ ให้รีบทำการช่วยชีวิตทันที ในระหว่างที่พาไปโรงพยาบาล หรือรอการส่งตัว
- หากช่วยเหลือให้สิ่งของหลุดออกมาแล้ว ควรพาไปหาคุณหมอ เพื่อตรวจเช็คร่างกายอีกครั้งหนึ่ง
วิธีที่ 3 สำหรับหนูน้อยอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป (กรณีหมดสติ)
- ให้รีบโทรแจ้งรถพยาบาลทันที
- จับลูกนอนลงกับพื้น ตรวจดูว่าเด็กยังหายใจหรือไม่ หากไม่หายใจ ให้ดันคางขึ้นให้ศีรษะแหงนไปข้างหลังให้มากที่สุด แล้วนำมือมาบีบจมูกไว้ จากนั้นเป่าลมเข้าไปในปาก 2 ครั้ง แลัวสังเกตดูว่าลมเข้าไปภายในปอดหรือยัง ดูจากการขยับขึ้นลงของหน้าอก เสร็จแล้วเป่าอีกครั้งหลังจากที่หน้าอกยุบลง
- ถ้าเด็กยิ่งคงนิ่ง ให้ดันค้างสูงกว่าเดิม จากนั้นเป่าลมทางปากอีกครั้ง ถ้าไม่สำเร็จให้นั่งคร่อมที่ตัวของเด็ก ในท่าคุกเข่า แล้วใช้สันมือวางลงที่ระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ ใช่มืออีกข้างกดทับมือลงไป กระแทกให้เร็วในจังหวะขึ้นลง 6-10 ครั้ง
- เปิดปากลูกดูว่ามีสิ่งแปลกปลอมหลุดออกมาหรือยัง โดยการนำมือไปจับบริเวณขากรรไกรและลิ้น ใช้งอนิ้วชี้ของมืออีกข้างในลักษณะเหมือนตะขอ กวาดเข้าไปในปากตั้งแต่กระพุ้งแก้มไปจนถึงโคนลิ้น หากไม่พบให้ทำซ้ำตั้งแต่เป่าปากอีกรอบ
ที่มา
www.webmd.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
หวิดดับ! เด็กสองขวบกลืนถ่านลงคอ
อุทาหรณ์! หนูน้อย 2 ขวบเสียชีวิต คาดเพราะกลืนถ่านกระดุม
สิ่งของ ของเล่นอันตราย ถ้าไม่อยากเสียใจ อย่าปล่อยให้ลูกเล่นลำพัง
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!