นมสำหรับคนท้อง นมบำรุงครรภ์ เลือกยังไงให้เหมาะกับแม่มือใหม่ เพราะยุคสมัยนี้มีนมให้เลือกมากมาย เเถมอัตราการเเพ้นมวัวก็ยังสูงอีกด้วย เเล้วเเม่มือใหม่สามารถเลือกนมอื่นเเทนได้ไหมนะ
อย่างที่ทราบกันดีว่าการดื่มนมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนท้องทุกคน เนื่องจากนมอุดมไปด้วยโปรตีน และแคลเซียม ซึ่งช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านการสร้างกระดูกของลูกน้อยในครรภ์ แต่คนท้องสามารถดื่มนมได้ทุกชนิดหรือไม่ บทความนี้มีคำตอบ
โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ควรดื่มนมขาดมันเนย หรือนมที่ปราศจากไขมันวันละประมาณ 3 แก้ว (หรือประมาณ 720 มิลลิลิตร) เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวัน แต่นมบางประเภทนั้นอาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกายคุณแม่มากนัก ดังนั้น การดื่มนมเป็นประจำในระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จึงควรศึกษาว่านมประเภทใดเหมาะกับการดื่มในช่วงนี้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วย หรืออันตรายที่อาจเกิดกับตนเอง และลูกน้อยในครรภ์
ทำไมแม่ท้องต้องดื่มนม นมบำรุงครรภ์
ความจริงเเล้วเเม่ท้องไม่จำเป็นต้องดื่มนม เเต่โดยส่วนใหญ่คุณเเม่จะเลือกดื่มนมเพราะต้องการเเคลเซี่ยม (1,000 – 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน) เเละเเร่ธาตุต่าง ๆ เป็นทางเลือกที่ง่ายกว่าการได้รับเเคลเซี่ยมจากเเหล่งอื่น สำหรับคุณเเม่ที่ไม่สามารถดื่มนมได้ เนื่องจากเเพ้โปรตีนในนม หรือดื่มเเล้วถ่ายท้อง ทางเลือกอื่นอย่างกินเเคลเซียมเสริมหรือกินอาหารอื่น ๆ ที่มีเเคลเซียม ก็ทำให้คุณเเม่ได้รับเเคลเซียมอย่างเพียงพอเช่นกัน
เเต่รู้ไหมว่า นมสำหรับคนท้อง เลือกยังไงให้เหมาะกับแม่มือใหม่ คุณเเม่ที่ดื่มนมขณะตั้งครรภ์อย่างน้อย 150 มิลลิลิตรต่อวันนั้น มีเปอร์เซ็นต์ที่ลูกจะสูงกว่าคุณเเม่ที่ไม่ได้ดื่มนม (นอกเหนือจากเรื่องของพันธุกรรม) นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกอ่อนในทารก เเละ ลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคกระดูกพรุนในอนาคตอีกด้วย
นมบำรุงครรภ์ นมสำหรับคนท้อง เลือกยังไงให้เหมาะกับแม่มือใหม่
นมบำรุงครรภ์ ที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง
เนื่องจากนมในท้องตลาดมีหลายชนิดให้เลือก คุณแม่จึงควรเลือกนมที่ให้ประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเอง และทารกในครรภ์มากที่สุด โดยตัวอย่างประเภทของนมที่คนท้องดื่มได้อย่างปลอดภัย มีดังนี้
นมพาสเจอไรซ์ (Pasteurized Milk)
นมชนิดนี้จะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อราด้วยความร้อนปานกลางประมาณ 72 องศาเซสเซียส เป็นเวลา 15 – 20 วินาที เพื่อทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคติดเชื้อลิสเทอเรีย บรูเซลลา อีโคไล หรือซาลโมเนลลา ไข้ไทฟอยด์ วัณโรค คอตีบ เป็นต้น โดยนมพาสเจอไรซ์นั้นจะยังคงคุณค่าทางอาหาร และรสชาติไว้เหมือนเดิม แม้ว่าจะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ แต่เชื้อบางชนิดที่ทนความร้อนอาจยังอยู่รอดได้
นมบำรุงครรภ์ นมยูเอชที (Ultra High Temperature Milk: UHT Milk)
เป็นนมที่ผ่านการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดด้วยการให้ความร้อนสูงประมาณ 135 – 138 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาเพียง 2 – 3 วินาที พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดเชื้อ จึงทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารน้อย และเก็บไว้ได้นานกว่านมพาสเจอไรซ์ แต่นมที่เก็บไว้เป็นเวลานาน อาจมีความเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพอย่างกลิ่น หรือรสเปลี่ยนไป ไขมันนมแยกตัวเป็นชั้น นมหนืดเป็นวุ้น ซึ่งเป็นลักษณะของนมหมดอายุที่ไม่ควรดื่ม
นมบำรุงครรภ์ นมถั่วเหลือง
กล่าวกันว่าถั่วเหลือง และนมถั่วเหลือง เป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน และแคลเซียมชั้นดีสำหรับทุกคน อีกทั้งมีแคลอรี่ต่ำเพียงแค่ 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ของนมวัว และมีไขมันอิ่มตัวที่เป็นไขมันชนิดไม่ดีต่อร่างกายในปริมาณน้อยด้วย แต่คุณแม่บางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วเหลือง จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนเสมอ
ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ที่ดื่มนมพาสเจอไรซ์แบบมีไขมันอยู่ก่อนแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาดื่มนมแบบไขมันต่ำ หรือขาดมันเนย โดยสามารถดื่มแทนกันได้เลย เพียงแต่ไขมันในนมนั้นเป็นไขมันประเภทอิ่มตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ และสุขภาพโดยรวมได้
นมบำรุงครรภ์
นมชนิดไหนที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง
น้ำนมดิบ หรือนมที่ยังไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ รวมถึงอาหารใด ๆ ที่มีส่วนผสมของนมดิบล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง เพราะอาหาร หรือเครื่องดื่มเหล่านี้อาจปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคบางชนิด ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อันตรายต่อแม่ และเด็ก โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียลิสเทอเรีย (Listeriosis) ที่นำไปสู่การแท้งบุตร การเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อบรูเซลลา เชื้อซาโมเนลลา เชื้ออีโคไล และเชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สงสัยว่าตนเองได้ดื่มนมดิบแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่อย่างไข้ขึ้น ปวดศีรษะ หรือปวดตามร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกเหนือจากการดื่มนม คนท้องควรมุ่งเน้นเรื่องโภชนาการ และการดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์ โดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อุดมด้วยสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดวันละประมาณ 6 – 8 แก้ว ออกกำลังกายอย่างพอประมาณ รวมถึงลด ละ เลิกสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง และลูกออกไป โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา หรือกาแฟ ของหมักดอง และการสูบบุหรี่ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ให้ออกมาสมบูรณ์แข็งแรง
อาหารคนท้อง
อาหารการกินเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่หลายคนสนใจ และเอาใจใส่ คุณแม่มักจะเริ่มคิดว่า เราควรจะกินอะไรดีที่จะมีประโยชน์ต่อลูกน้อยในครรภ์ กินอะไรที่ลูกออกมาแล้วจะฉลาด แข็งแรง และมีร่างกายสมบูรณ์ อะไรก็ตามที่คุณแม่เคยได้ยินมาจากการบอกเล่าว่ากินแล้วจะช่วยบำรุงครรภ์ได้ดี ก็จะเที่ยวไปหามากินจนได้ไม่ว่าจะยากแค่ไหน ราคามากน้อยเท่าไรก็ยอมกัดฟันซื้อมากิน ซึ่งบางทีก็มาจากความเชื่อที่ผิดบ้างถูกบ้าง และบางทีคุณแม่ก็ไม่ได้รู้สึกอร่อยกับอาหารเหล่านั้นเลยสักนิด แต่ก็ต้องฝืนใจกินเพื่อลูก
ปกติแล้วคุณแม่ในยามตั้งครรภ์จะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ คุณแม่จึงรู้สึกว่าหิวบ่อยขึ้นเมื่อครรภ์แก่ เพราะร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 หรืออีก 500 แคลอรี่ต่อวัน คุณแม่บางคนที่รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ จึงควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารเพียงพอกับการเจริญเติบโต ส่วนคุณแม่ที่กลัวอ้วนจนถึงกับยอมควบคุมอาหาร ลูกน้อยในครรภ์ก็อาจพลอยได้รับสารอาหารน้อยลงไปด้วย อาจทำให้ลูกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ มีอัตราเสียชีวิตหลังคลอดสูงกว่าปกติ หรือมีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งสูงขึ้น แต่สำหรับคุณแม่ที่หิวมาก กินเยอะจนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ ช่วงหลังคลอดเมื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไขมันในร่างกายส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม แต่ไขมันที่ยังเหลืออยู่บ้างและลดลงได้ยาก หลังจากเลิกให้นมลูกแล้ว คุณแม่ก็ควรจะออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำหนักด้วย
ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่จะต้องกินอาหารให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอ และมีอัตราส่วนของสารอาหารที่ถูกต้อง ครบถ้วน อย่างเหมาะสม เพื่อให้ตัวคุณแม่เองแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เหนื่อยง่าย และช่วยลดอาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และเพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งความต้องการอาหารของคุณแม่อาจไม่เท่ากันตลอดระยะการตั้งครรภ์ ในขณะที่ตั้งครรภ์ ธรรมชาติจะทำให้ร่างกายคุณแม่ได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฤทธิ์ของฮอร์โมนชนิดหนึ่งทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ช้าลง จึงส่งผลให้อาหารถูกดูดซึมเข้าร่างกาย แต่ผลของการที่ลำไส้เคลื่อนไหวช้านี้ก็อาจทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอมบ้าง ถ้าคุณแม่ได้รับอาหารที่ถูกส่วนแล้ว อาหารที่ได้เพิ่มขึ้นก็จะเพียงพอสำหรับร่างกายในระยะที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ และคุณแม่ควรระลึกไว้เสมอว่า “ตอนท้อง ต้องกินหนึ่งเผื่อสอง” ซึ่งหมายความว่า ให้กินอาหารที่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวแม่เอง และลูกน้อยด้วย อาหารส่วนหนึ่งนอกจากจะนำไปบำรุงร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรงแล้ว (เพื่อเตรียมตัวคลอด และให้นมลูกหลังคลอด) อาหารอีกส่วนหนึ่งก็ยังนำไปเลี้ยงลูกน้อยในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ด้วย เพื่อให้ลูกน้อยมีร่างกาย สมอง และระบบประสาทเจริญเติบโตสมบูรณ์และแข็งแรงดี
นมบำรุงครรภ์
อาหารที่แม่ได้รับจะส่งผลต่อสุขภาพของลูกอย่างไร?
- การพัฒนาของสมองและระบบประสาทหลังจากปฏิสนธิ ในระยะนี้สมองของลูกน้อยจะเจริญเติบโตเร็วมาก จึงต้องการสารอาหารที่จำเป็นทั้งโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ หรือ แร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม
- การพัฒนาของร่างกาย สารอาหารที่ได้รับจากแม่มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย เช่น กรดโฟลิกช่วยป้องกันความพิการของลูกน้อย โปรตีนช่วยสร้างกล้ามเนื้อ แคลเซียม และวิตามินดีช่วยให้กระดูกแข็งแรง เป็นต้น
- อารมณ์และจิตใจ ลูกน้อยที่เกิดจากแม่ที่ได้รับอาหารที่มีประโยชน์และสมบูรณ์จะมีอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง ยิ้มง่าย ไม่เซื่องซึม เมื่อเทียบกับลูกที่เกิดจากแม่ที่ขาดสารอาหาร
- สุขภาพในระยะยาว อาหารที่คุณแม่ได้รับก่อนการตั้งครรภ์ และในระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อการพัฒนาของลูกน้อยในช่วงที่เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าคุณแม่ได้รับอาหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โอกาสที่ลูกจะเกิดมาแล้วเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งมะเร็งต่าง ๆ ก็มีน้อยลงตามไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 อาหารคนท้องไตรมาส 2 สูตรเมนูยำแซ่บสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ผลไม้สำหรับคนท้อง
- กล้วย: เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินซี และยังมีสารสำคัญที่ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ ทำให้คุณแม่อารมณ์ดี มีใยอาหารสูงที่ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่าย
- ฝรั่ง: อุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ ช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคหวัด ช่วยบำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง
- แอปเปิ้ล: อุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยกระตุ้นการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระให้ทำงานได้ดีขึ้น
- มะละกอสุก: อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ แคโรทีน วิตามินซี ฟลาโวนอยด์ วิตามินซี สารโฟลิก ธาตุโพแทสเซียม แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร เป็นผลไม้ที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาเรื่องท้องผูก
- มะม่วงสุก: อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ช่วยในการสร้างกระดูกและฟันให้กับทารกในครรภ์ และบำรุงกระดูกและฟันของคุณแม่ให้แข็งแรง
- มะพร้าว: อีกหนึ่งผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก เช่น โปรตีน กลูโคส และแคลเซียม และยังช่วยแก้อาการอ่อนเพลียและดับกระหายได้ดี
- แตงโม: เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม มีสรรพคุณช่วยควบคุมอัตราความดันโลหิตของร่างกาย และยังมีวิตามินซีธรรมชาติที่ดีต่อร่างกาย
- ส้ม: ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันหวัดและช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดี
- สับปะรด: มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน และแมงกานีส ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระ
- ลูกพรุน: อีกหนึ่งผลไม้ที่เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาเรื่องโลหิตจาง เพราะในลูกพรุนจะมีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก จึงช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และยังมีวิตามินบี 2 ที่จะช่วยสร้างแคลเซียม ทำให้กระดูก และฟันแข็งแรง
ที่มา : pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คนท้องดื่มนมอะไรดี นมวัว นมแพะ นมถั่วเหลือง หรือนมชนิดไหนถึงจะดี
นมถั่วเหลืองกับคนท้อง คนท้องกินนมถั่วเหลืองได้ไหม ประโยชน์ของนมถั่วเหลือง
ส้ม ผลไม้มากประโยชน์ ความลับใกล้ตัวที่คุณไม่เคยรู้ ผลไม้ที่คนท้องควรกิน
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!