ขั้นตอนการอาบน้ำทารก ที่คุณแม่ทำเองได้ไม่ยาก อาบน้ำลูก การอาบน้ําทารกวันละกี่ครั้ง อาบน้ําทารกตอนไหนดี

เมื่อถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยกลับบ้าน ทีนี้ชีวิตจริงเริ่มแล้วค่ะ เพราะตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลจะมีคุณพยาบาลคอยช่วยเหลือจัดการให้ รวมถึงสอนวิธีการต่าง ๆ ให้นมลูก อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม เปลี่ยนเสื้อผ้า ทั้งหมดนี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้น...ที่บ้าน เรื่องยุ่งยากที่สร้างความกังวลใจที่สุด คงไม่มีอะไรเกินการอาบน้ำทารกแรกเกิด มาดูขั้นตอนการอาบน้ำทารกแรกที่คุณแม่ทำเองได้ไม่ยาก ติดตามอ่าน
ขั้นตอนการอาบน้ำทารก ของใช้สำหรับลูกน้อย
ก่อนที่จะพูดถึง ขั้นตอนการอาบน้ำทารก มาดูกันก่อนนะคะว่า ทารกน้อยมีของใช้ที่จำเป็นอะไรบ้าง ทั้งที่ใช้ปกติและใช้เวลาอาบน้ำ
1. อ่างอาบน้ำ
ควรเลือกอ่างพลาสติกขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อหนาไม่มีขอบแหลมคม ขรุขระ อาจจะเลือกใช้อ้างที่มีที่สำหรับวางสบู่ด้วยจะดีมากค่ะ อ่างบางชนิดจะมีพื้นเป็นลายเล็ก ๆ สำหรับกันลื่น
บทควมแนะนำ อ่างอาบน้ำใบแรกของลูก ควรเลือกแบบไหน
2. ฟองน้ำหรือผ้านุ่ม
สำหรับเช็ดถูกเวลาอาบน้ำ ควรเลือกฟองน้ำธรรมชาติอาจจะราคาสูงสักนิด แต่จะนุ่มเป็นพิเศษและซับน้ำได้ดี หรือจะใช้ผ้าขนหนูเนื้อนุ่มก็ได้ค่ะ ถ้าเป็นฟองน้ำหลังจากใช้เสร็จแล้วควรผึ่งให้แห้งทุกครั้งเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา
3. ผ้ายางกันน้ำ
สำหรับปูรองนอนหรืออาจเป็นผ้าสักหลาด มีข้อดีคือ ไม่ร้อน ควรมี 2 -3 ผืนนะคะ
4. ผ้าอ้อม
ผ้าอ้อมควรเลือกชนิดที่เย็บตะเข็บเล็ก ๆ เก็บมุมให้เรียบร้อย ตัดด้ายที่หลุดลุ่ยออกให้หมด ควรเตรียมไว้ประมาณ 2 – 3 โหลนะคะ ขนาด 21 X 21 นิ้ว ใช้ได้ถึง 2 เดือน ขนาด 27 X 27 นิ้วใช้ได้ถึง 6 เดือน
5. เสื้อผ้า
ควรมีทั้งเสื้อชนิดตัวบาง แขนสั้น แขนยาวจะเป็นสวมคลุมทางศีรษะคล้ายเสื้อยืดไม่มีกระดุม หรือมีปมผูกได้ เชือกผูกปมจะต้องไม่เป็นปมใหญ่ เพราะจะทำให้ลูกเจ็บเวลาที่สวมใส่ ลวดลายปักที่หน้าอกต้องไม่หนา กางเกงควรมีเผื่อชนิดขายาวไว้สำหรับใส่นอน อย่าซื้อของเด็กเล็กมากนะคะ ควรซื้อเผื่อโตสักหน่อยเพราะเจ้าหนูจะค่อนข้างโตเร็ว
6.ผ้าห่ม
คุณแม่อาจจะใช้ผ้าขนหนูผืนใหญ่ก็ได้นะคะ แต่ไม่ควรมีขนฟูมาก เพราะจะเก็บฝุ่น เลือกขนาดที่คลุมตัวพอดี ถ้าใหญ่มากไปลูกจะอึดอัดและมาปิดหน้าปิดตาได้
7. ถุงมือ
พยายามอย่าใส่ถุงมือให้ลูกจะดีที่สุดค่ะ แต่ทำไมถุงมือยังมีอยู่ในลิสต์ของใช้สำหับทารก เพราะบางทีเผื่อคุณแม่ตัดเล็บให้ลูกไม่ทันก็อาศัยใส่ถุงมือกัดขีดข่วนไปก่อน เวลานำถุงมือมาใส่ให้เจ้าตัวน้อย พลิกดูด้านในด้วยนะคะว่ามีด้ายที่หลุดรุ่ยออกมาหรือไม่เพราะอาจจะพันนิ้วมือน้อย ๆ จนเกิดบาดแผลได้
บทความแนะนำ ระวัง! ใส่ถุงมือ ถุงเท้าให้ทารก สกัดกั้นพัฒนาการลูกน้อย
8. สำลี
ควรมีแบบชนิดพันปลายไม้สำหรับเช็ดใบหู หรือเช็ดในจมูก กับอีกชนิดหนึ่ง คือ ม้วนใหญ่ ๆ นำมาปั้นเป็นก้อนกลม ๆ หรือแบบชนิดเป็นแผ่น สำหรับชุบน้ำทำความสะอาดให้ลูก
9. ลูกยางดูดจมูก
มีขายตามแผนกขายสินค้าเด็กอ่อนและร้านขายยา มีไว้สำหรับดูดน้ำมูกเวลาที่ลูกเป็นหวัดมีน้ำมูกมาก หายใจไม่ออก หรือดูดนมลำบาก ถ้าคัดจมูกเล็กน้อยไม่ต้องใช้ค่ะ เมื่อใช้เสร็จแล้วทำความสะอาดให้ดี โดยบีบไล่อากาศในลูกยางให้แห้ง และล้างทำความสะอาดส่วนปลาย
10. ที่นอน ผ้าปูที่นอน
ไม่ว่าจะเป็นนุ่นหรือฟองน้ำจะต้องแข็งพอสมควร นอนแล้วไม่จมไม่บุ๋ม ยุบลงไป เพราะอาจทำให้ลูกหายใจไม่ออก ซื้อขนาดให้พอดีกับเตียง ไม่เหลือที่ว่างให้ลูกซุกหน้าหรือศีรษะลงไปติด แล้วหายใจไม่ออกและในขวบปีแรกห้ามลูกนอนหนุนหมอนค่ะ สำหรับผ้าปูที่นอนควรเลือกสีพื้น ๆ จะได้มองเห็นหากมีมดแมลงลงไปในที่นอน ควรเย็บยางรัดมุมหรือกลัดมุมไว้ให้เรียบร้อย
ได้ทราบถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับทารกน้อยกันแล้วนะคะ ขั้นตอนสำคัญมาถึงแล้วค่ะ สำหรับคุณแม่มือใหม่ ขั้นตอนการอาบน้ำทารกที่คุณแม่ทำเองได้ไม่ยาก ติดตามอ่าน
ขั้นตอนการอาบน้ำทารกที่คุณแม่ทำเองได้ไม่ยาก
1. ปูผ้ายางลงบนเตียงหรือเบาะ
2. ถอดเสื้อผ้าของลูกออกให้หมด ใช้ผ้าเช็ดตัวห่อไว้
3. อุ้มลูกด้วยแขนซ้าย ใช้สำลีจุ่มน้ำในอ่าง เช็ดหน้าลูกจากนั้นซับให้แห้ง
4. เทแชมพูเล็กน้อยลงบนฝ่ามือของแม่ แล้วขยี้เบาๆ ที่ศีรษะลูกจนเกิดฟอง ล้างออกโดยใช้ฟองน้ำชุบน้ำบีบไล่ฟองออกจนสะอาดดี ใช้ผ้าเช็ดผมเช็ดให้แห้ง
5. ถอดผ้าอ้อมออก ใช้สบู่และสำลีค่อย ๆ เช็ดทำความสะอาดก้นของลูกจากด้านหน้าไปด้านหลัง จากนั้นเอาสบู่ถูหน้าอก แขน และขา จากนั้นพลิกตัวลูกเพื่อถูสบู่ด้านหลัง
6. อุ้มลูกลงอ่าง โดยใช้มือซ้ายของคุณแม่จับแขนข้างซ้ายของลูก และใช้ท่อนแขนด้านหน้ารองรับศีรษะลูกไว้ มือขวาของคุณแม่รวบขาทั้งสองข้างของลูกไว้ โดยนิ้วชี้ของคุณแม่สอดคั่นไว้ระหว่างข้อเท้าของลูกเพื่อกันไม่ให้หลุดมือ ค่อย ๆ หย่อนตัวลูก ลงไปพร้อมกับพูดคุยกับลูกจะได้ไม่ตกใจ ห้ามปล่อยมือขวาออกจากขาลูกจนกว่าลูกจะชินกับน้ำในอ่างนะคะ
7. ในขณะอยู่ในอ่าง มือซ้ายของคุณแม่ยังคงจับลูกไว้ ใช้มือขวาจับฟองน้ำชุบน้ำล้างสบู่ทางด้านหน้าออก ต่อจากนั้นล้างสบู่ทางด้านหลังบ้าง โดยเปลี่ยนเป็นมือขวาจับต้นแขนซ้ายของลูก ตัวลูกจะเอนมาพิงกับท่อนแขนและมือข้างขวาของคุณแม่ ใช้มือซ้ายจับฟองน้ำชุบน้ำล้างสบู่ออกให้หมด อุ้มลูกขึ้นมาระวังลูกจะลื่นหลุดมือนะคะเพราะตอนนี้เนื้อตัวเจ้าหนูชุ่มไปด้วยน้ำ
8. จากนั้นเช็ดตัวให้แห้งเช็ดส่วนหน้าและส่วนหลัง เช็ดบริเวณซอกหู รอบนอกหูด้วยคัตตอลบัด เป้นอดันเสร็จเรียบร้อยสำหรับขั้นตอนการอาบน้ำ ทีนี้มาดูขั้นตอนการทำสะอาดส่วนต่าง ๆ ของทารกกันค่ะ
ขั้นตอนการทำสะอาดส่วนต่าง ๆ ของทารก
1. ตา ไม่ต้องทำความสะอาดอะไรในดวงตา ร่างกายของทารกจะผลิตน้ำตาออกมาทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เป็นกลไกธรรมชาติค่ะ การทำความสะอาดเพียงแค่ใช้สำลีก้อนหรือสำลีแผ่นจุ่มน้ำอุ่นบีบจนแห้งเช็ด ทำความสะอาดบริเวณดวงตา ด้วยการเช็ดจากหัวตาไปหางตาข้างขวา แล้วนำสำลีก้อนใหม่ชุบน้ำบิดแห้ง เช็ดตั้งแต่หัวตาไปหางตาด้านซ้าย เพียงเท่านี้ก็สะอาดแล้วค่ะ
2. จมูก ถ้ามีน้ำมูกเปียก ๆ ตรงปลายจมูก อาจใช้สำลีพันก้านชุบน้ำอุ่นเช็ดในจมูกของลูก แต่ต้องระวังคุณแม่อย่าเช็ดให้ลึกนะคะเป็นอันตรายค่ะ
3. ปาก ปากของทารกน้อยในระยะแรกนี้ไม่ต้องการการทำความสะอาด โดยเฉพาะถ้าดูดนมแม่ แต่ถ้าดูดนมผสมใช้ผ้าสะอาด หรือใช้ผ้าอ้อมผ้าของเจ้าหนูชุบน้ำบิดหมาดเช็ดคราบนมในปาก มิฉะนั้นอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นซึ่งจะเห็นเป็นคราบขาวที่กระพุ้งแก้มและลิ้น
4. หู ให้ใช้สำลีหรือสำลีพันก้านจุ่มน้ำ เช็ดบริเวณรอบ ๆ ใบหูก็เพียงพอค่ะ ไม่ควรเช็ดเข้าไปในรูหูนะคะ
5. สะดือ กว่าสะดือของเจ้าตัวน้อยจะหลุดมักจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ในระหว่างนี้ต้องคอยดูแลให้สะดือแห้ง และสะอาดอยู่เสมอจนกว่าจะหลุด ปล่อยให้สะดือของลูกถูกอากาศบ้าง จะได้แห้งและหลุดง่าย คุณแม่ควรหมั่นสังเกตสะดือลูกน้อยว่ามีเลือดหรือหนองหรือมีกลิ่นเหม็นรุนแรงให้พาไปพบคุณหมอทันทีอย่าปล่อยไว้อาจเกิดการติดเชื้อได้
การดูแลสะดือทารกแรกเกิด วิธีเช็ดสะดือที่ถูกต้อง
1. ล้างมือผู้เช็ดให้สะอาด
2. ใช้มืออีกข้างหนึ่งยกสายสะดือขึ้น แล้วจึงใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% พอชุ่มเช็ด รอบสะดือจากด้านในออกด้านนอก
3. ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% อีกก้อนหนึ่งเช็ดจากโคนสะดือไปยังปลายสะดือ การเช็ดสะดือควรเช็ดทุกวันหลังอาบน้ำจนกว่าสะดือจะหลุด
6. เล็บ ควรตัดให้สั้นอยู่เสมอ ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า ต้องระมัดระวังเวลาตัดด้วยนะคะ ควรตัดขณะที่เจ้าตัวน้อยกำลังหลับ
7. ผิวหนัง การรักษาความสะอาดและดูแลผิวหนังให้แห้งสะอาดเป็นสิ่งสำคัญนะคะ
8. อวัยวะเพศ
อวัยวะเพศชาย (จุ๊ดจู๋) วิธีทำความสะอาดเจ้าจำปี
1. ให้คุณแม่ขยับส่วนผิวหนังที่คลุมปลายเจ้าจำปีขึ้น-ลงแต่เพียงเบา
2. แล้ววักน้ำอุ่น ๆ ล้างเบา ๆ ให้สะอาด เพราะถ้าดูแลความสะอาดไม่ดีพอจะมีเมือกเหลืองๆ ซึ่งก็คือเหงื่อไคลสะสม อาจทำให้ลูกติดเชื้อไวรัสและมีอาการคันมากได้ค่ะ
อวัยวะเพศหญิง (จิ๊มิ๊)
หลังจากอาบน้ำแล้ว ให้ใช้สำลีชุบน้ำเช็ดบริเวณอวัยวะเพศและแคมทั้งสองข้างให้สะอาด เมื่อแห้งดีแล้วจึงใส่ผ้าอ้อม สิ่งสำคัญห้ามโรยแป้งเพราะจะทำให้สะสมอุดตันอาจติดเชื้อโรคได้
บทความแนะนำ ชวนคุณแม่!!!มาทำความสะอาดทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี
การอาบน้ําทารกวันละกี่ครั้ง
การอาบน้ําทารกแรกเกิด หลังจากที่คุณแม่พาลูกน้อยกลับบ้าน เพียงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก็พอ เพราะผิวของทารกแรกเกิดไม่ได้สกปรก โดยเฉพาะทารกแรก จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ พิจารณา จากสภาพอากาศ ความเหมาะสม แล้วค่อยเพิ่มจำนวนครั้งการอาบน้ำทารกเป็นวันละ 2 ครั้ง และสระผมให้ทารกวันละครั้ง
อาบน้ําทารกตอนไหนดี
การอาบน้ำให้ทารกสามารถอาบให้ลูก ก่อนให้นมในมื้อสายหรือช่วงเย็นก่อนค่ำก็ได้
ขั้นตอนการอาบน้ำทารกไม่ยากใช่ไหมคะ สำหรับคำแนะนำขั้นตอนการอาบน้ำและดูแลทำความสะอาดทารกน้อย ค่อย ๆ ฝึกฝนไปคะ เรียกว่าเรียนรู้กันไปในแต่ละวันทีเดียว เดี๋ยวก็อยู่ตัว รู้จักรู้ใจกันดีไปเอง เป็นกำลังใจให้นะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ “คุณแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” มิ่งขวัญ ลิรุจประภากร ผู้เขียน
เอกสารดูแลเจ้าตัวเล็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
สูตรเพิ่มน้ำนมแม่หลังคลอด ตามตำราจีน คนจีนกินอะไรบำรุงน้ำนมให้ไหลพุ่งปรี๊ด!
ทารกนอนแอร์กี่องศา ทารกนอนพัดลมได้ไหม กลัวลูกปอดติดเชื้อ ปอดบวม แม่ต้องทำอย่างไร