ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ไขบนหัวทารก หรือบางคนก็เรียกว่า ต่อมไขมันอักเสบ แต่ถ้าเป็นทางการแพทย์จะเรียกว่า Seborrheic Dermatitis หรือ Cradle cap นั่นเองค่ะ ซึ่งมักจะเกิดบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก หัวคิ้ว หลังหู แต่ในบางครั้งก็พบได้บริเวณใบหน้าของทารกด้วยค่ะ และทารกจะเริ่มเป็นกันมาก ๆ ในช่วงประมาณ 1-3 เดือน ทำให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านเป็นกังวลกันมาก เพราะไม่ค่อยรู้จักกับผื่นชนิดนี้ วันนี้เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับไขบนหัวทารกมาฝาก พร้อมสาเหตุที่ทำให้เกิดไขบนหัวลูกน้อยด้วยค่ะ จะมีอะไรบ้างตามไปอ่านต่อด้านล่างได้เลย
ลักษณะ ไขบนหัวทารก
ไขมันบนศีรษะทารก มักพบในทารกแรกเกิด และมักเกิดเป็นผื่นบริเวณที่มีต่อมไขมันบนหนังศีรษะ ลักษณะของไขมันบนศีรษะทารกมีดังนี้:
- ผื่น: มักเป็นผื่นสีเหลือง หรือสีน้ำตาลเข้ม
- ตุ่ม: อาจปรากฏเป็นตุ่มแดงๆ คล้ายสิว แต่เล็กกว่า
- สะเก็ด: อาจมีสะเก็ดบางๆ เป็นแผ่นสีขาว หรือสีเหลือง
- ผิวหนัง: ผิวหนังบริเวณที่เกิดไขอาจเป็นสีแดง หรือเกิดบนผิวหนังสีปกติก็ได้
- ผมร่วง: อาจมีขนหลุด หรือผมร่วงได้หากเกิดบนศีรษะ
สาเหตุของ ไขบนหัวทารก
สาเหตุหลัก ๆ ของการเกิดไขบนหัวทารกนั้น ยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดสักเท่าไร แต่ก็ทางทีมแพทย์ได้คาดเอาไว้ ดังต่อไปนี้
1. สัมพันธ์กับฮอร์โมนของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ส่งต่อถึงลูกน้อย ทำให้ฮอร์โมนตรงนี้อาจจะไปกระตุ้นต่อมไขมันของเด็กตอนอยู่ในท้อง ให้มีการทำงานหนักมากกว่าปกติ จนเกิดการผลิตไขมันออกมามาก และได้กลายเป็นการอักเสบขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นไขบนศีรษะของทารกนั่นเอง
2. เกิดจากอากาศที่ร้อนมากเกินไป เนื่องจากความร้อนมีผลทำให้ต่อมไขมันของลูกน้อยทำงานหนักมากขึ้น จนทำให้เกิดผดผื่นที่ศีรษะ
3. การติดเชื้อรา เพราะมีเชื้อราบางชนิดอย่าง Malassezia ที่มีผลต่อต่อมไขมันของลูกน้อย จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดไขบนหนังได้ค่ะ
ไขบนหัวทารก หรือบนหน้าผาก หรือหัวคิ้ว ล้างออกยังไง?
ไข ดังกล่าวที่ว่านี้คือ คือไขมันที่ปกคลุมร่างกายของทารกแรกเกิด ซึ่งจะถูกสร้างตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ เซลล์เยื่อบุผิวทารกและไขมันจากต่อมไขมันที่เกิดขึ้น จะห่อหุ้มตัวทารกเอาไว้เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ป้องกันการสูญเสียน้ำ ช่วยปรับอุณหภูมิและเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยปกป้องผิวทารกจากเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมในช่วงแรกคลอด
เมื่อคุณแม่สังเกตเห็นไขที่ขึ้นบนหัวหรือส่วนอื่น ๆ อย่าใช้เล็บขูดหนัง หรือใส่ถุงมือป้องกันไม่ให้ลูกน้อยใช้มือแกะ เกา เพราะจะทำให้หนังศีรษะเป็นแผล ถลอก และนำไปสู่การติดเชื้อได้ แม้แต่การใช้เบบี้ออยล์ก็ไม่มีคุณสมบัติที่ช่วยกำจัดสะเก็ดหนังศีรษะที่หลุดลอกได้ ซึ่งความจริงแล้วสะเก็ดเหล่านี้จะค่อย ๆ หลุดไปเองภายใน 1 – 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ อาการของโรคนี้มักจะสัมพันธ์กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น หน้าหนาว สภาพอากาศที่แห้ง ผื่นจะกำเริบได้บ่อยกว่า
นอกจากอากาศแล้วยังพบสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้อีก เช่น การระคายเคืองของผิวหนังที่เกิดจากการเกา หรือขัดถูที่แรง การสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองหนังศีรษะหรือสระผมด้วยน้ำร้อน แต่โดยปกติแล้ว เด็กทารกส่วนมากหายได้เอง
หากคุณแม่ต้องการที่จะล้างไขบนหัวทารกออก ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าที่อ่อนนุ่ม ชุบน้ำมันมะกอกให้ชุ่ม ๆ แล้วนำมาเช็ดเบา ๆ ตรงที่มีไขหัวอยู่ ถูกแบบวน ๆ คล้ายกับการนวดศีรษะหลาย ๆ ครั้งเพื่อให้น้ำมันได้ซึมลงไปที่ชั้นของไขมันบนหนังศีรษะทารก จากนั้น ไม่นานคราบไขมันเหล่านั้นก็จะหลุดออกมาเป็นชิ้น ๆ หลังจากนั้นสระผมลูกน้อยด้วยแชมพูสำหรับเด็กอ่อน เพื่อล้างครบน้ำมันมะกอกออก ถูหนังศีรษะของทารกด้วยฟองน้ำนุ่ม ๆ อย่างนุ่มนวล และใช้แปรงขนอ่อนค่อย ๆ แปรงออก
อย่างไรก็ตาม ถ้าทารกเกิดสะเก็ดที่ศีรษะเป็น ๆ หาย ๆ ให้สังเกตว่าลูกแพ้นมวัวหรือไม่ โดยดูว่าลูกมีผื่นที่ผิวหนังตรงบริเวณอื่นด้วยหรือไม่ หรืออาจเกิดจากการแพ้แชมพูที่ใช้ หากไม่แน่ใจอาการควรพาเจ้าตัวน้อยไปพบคุณหมอนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไขทารกแรกเกิด ถ้ามีเยอะดีหรือไม่ ต้องกินอะไรล้างไขลูกก่อนคลอดไหม
วิธี ทำความสะอาด ไขที่หัวทารก
1. ใช้น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยขจัดไขบนหัวของทารกได้ หากคุณแม่ไม่ได้กังวลเรื่องของความเหนอะหนะ เพราะน้ำมันมะกอกมีความอ่อนโยนต่อผิว สามารถทาทิ้งไว้สักประมาณ 15 – 30 นาที จากนั้นก็สระผมล้างออกได้ตามปกติเลยค่ะ
2. ใช้ผลิตภัณฑ์อาบสระที่เป็นสูตรออยล์
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ นั่นก็คือ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก ๆ โดยให้เน้นเป็นสูตรออยล์ เพราะในระหว่างอาบน้ำสระผมให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่จะได้ใช้ออยล์นั้นนวดเบา ๆ ให้ลูกน้อยบริเวณที่เป็น คราบไขมันบนหัว ด้วยค่ะ เพราะตัวออยล์สามารถซึมเข้าไปทำให้ผื่นไขมันนิ่มลงได้ และจะค่อย ๆ หลุดออกมาเองค่ะ นอกจากนี้ ยังช่วยสมานแผลไม่ให้เห็นรอยแผลบนผิวหนังของลูกน้อยอีกด้วย
3. เลือกใช้ครีมที่มีเซรามายด์และกรดอะมิโน 17 ชนิด
อย่างที่เรารู้ ๆ กันว่าผิวของเด็ก ๆ นั้น มีความบอบบางมาก การเลือกใช้ครีมที่เหมาะสมจึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สำคัญ โดยให้ทาครีมไปทั่วใบหน้าหลังอาบน้ำเช้า-เย็นทันทีเลยค่ะ เพื่อเป็นการรักษาความนุ่มชุ่มชื้นของผิว และทาครีมซ้ำบริเวณผื่น หน้าผาก หลังใบหู ตามต้องการได้เลยค่ะ ซึ่งครีมที่ทาไปจะช่วยลดการอักเสบ แล้วทำให้ผื่นยุบลง แถมยังช่วยเสริมชั้นผิวลูกน้อยให้แข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ
4. ใช้ครีมสเตียรอยด์อ่อน ๆ
หากหนังศรีษะลูกน้อยมีลักษณะอักเสบแดง ๆ เรื่อๆ คุณแม่อาจใช้ครีมสเตียรอยด์ครีม ที่มีฤทธิ์อ่อน ๆ นำมาทาบาง ๆ ก็สามารถทำให้ลูกน้อยมีอาการดีขึ้นได้ค่ะ
จากข้อมูลข้างต้น สรุปได้ว่า ไขที่ขึ้นบนหัวหรือตามหน้าของเด็กทารกนั้นไม่ได้เป็นอันตราย มันแค่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งของทารกแรกเกิดเท่านั้นและก็สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะส่วนใหญ่มักเจอแค่ช่วงแรกเกิดจนถึง 3 เดือนเองค่ะ เมื่อลูกโตขึ้นมันจะค่อย ๆ หลุดออกไปเอง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
จริงหรือไม่? ดื่มน้ำมะพร้าวตอนท้องช่วยล้างไขทารกได้
ไขที่ตัวทารก เกิดจากอะไร ที่ขาว ๆ เคลือบทารกแรกเกิดอยู่เต็มไปหมด
สิวที่หนังศีรษะ สิวที่หัว เกิดจากอะไร รักษายังไงให้หายขาด
ที่มา : maeneptune, regagar, rakluke