สำหรับบางครอบครัว ที่เลือกการทานอาหารมังสวิรัติมาโดยตลอด แต่เมื่อลูกน้อยเกิดขึ้นมา ก็เกิดความกังวลว่า หากเราต้องการให้ลูก กินอาหารมังสวิรัติ เหมือนกันกับคุณพ่อคุณแม่ และคนในครอบครัว สามารถทำได้หรือไม่ แล้วจะเกิดผลดี ผลเสียต่อเด็กในอนาคตหรือไม่อย่างไร มาค้นหาคำตอบไปด้วยกันค่ะ
ให้เด็กเล็ก กินอาหารมังสวิรัติ ได้หรือไม่?
เป็นคำถามที่เราต้องให้ความใส่ใจกันมากพอสมควรเลยค่ะ เนื่องจากครอบครัวที่ต้องการให้เด็กทานมังสวิรัตินั้น ส่วนมาก ตัวคุณแม่เอง ก็มักจะเป็นผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติอยู่เป็นทุนเดิม นั่นหมายความว่า ลูกของคุณ ก็จะได้รับสารอาหารแบบเดียวกันในขณะที่อยู่ในครรภ์นั่นเอง
ซึ่งโดยทั่วไป เราจะเห็นว่าการกินอาหารมังสวิรัตินั้น หากเราต้องการให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบ และเพียงพอ เป็นเรื่องที่จะต้องใส่ใจ และเคร่งครัดพอสมควร โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ที่มีความต้องการทางด้านสารอาหารต่าง ๆ เพื่อการพัฒนา และเจริญเติบโตของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งถ้าหากจะถามว่า เด็กเล็กจะสามารถกินอาหารมังสวิรัติได้หรือไม่? คำตอบก็คือ สามารถกินได้ค่ะ แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า อาหารมังสวิรัติที่เด็กทานเข้าไปนั้น จะต้องมีสารอาหารที่ครบถ้วน ตามหมวดหมู่โภชนาการ เพื่อที่ร่างกาย จะนำสารอาหารเหล่านั้น ไปหล่อเลี้ยงร่างกาย เพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพนั่นเอง
อาหารมังสวิรัติคืออะไร และมีอะไรบ้าง ?
อาหารมังสวิรัติ คืออาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เข้ามาเป็นส่วนประกอบของอาหาร โดยส่วนมากผู้ปกครองที่เลือกให้ลูกทานอาหารมังสวิรัตินั้น มีผลมาจากการแก้สารของเนื้อแดงเป็นต้น หรือตัวเด็กเลือกที่จะไม่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารเอง ซึ่งกลุ่มอาหารมังสวิรัติสามารถแบ่งเป็นอาหารหลัก ๆ ด้วยกัน 4 ประเภท นั่นก็คือ
- กลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง และเส้นก๋วยเตี๋ยว ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงผัก และผลไม้รสหวานอีกด้วย
- กลุ่มโปรตีน ได้แก่ นม ถั่ว ไข่ เป็นต้น
- กลุ่มไขมัน ได้แก่ กรดไขมันไม่อิ่มตัว ที่พบได้ในน้ำมันพืช
- กลุ่มอาหารประเภทวิตามิน และแร่ธาตุ ได้แก่ พืชผักใบเขียว รวมถึงน้ำ ด้วยเช่นกัน
แม้ว่าเนื้อสัตว์จะมีสารอาหารประเภทโปรตีน ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความเจริญเติบโตของร่างกาย แต่เราก็สามารถเลือกสิ่งอื่น ๆ มาทดแทนได้ แต่การจัดมื้ออาหารให้กับทารก ก็ต้องคำนึงถึงปริมาณของพลังงานที่ได้รับจากอาหาร จะต้องมากเพียงพอกับความต้องการของเด็ก
ต้องจำเอาไว้อีกอย่าง นั่นก็คืออาหารที่มีปริมาณกากใยสูง แม้จะส่งผลดีต่อร่างกายผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กเล็กนั้น กากใยจะเป็นอุปสรรคในการดูดซึมแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้
จริง ๆ แล้วในช่วงทารกแรกเกิดจนถึง 5 เดือน ทารกทุกคนได้กินอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว เพราะในช่วงนี้ทารกจะรับประทานแต่นมแม่หรือนมผสม ซึ่งทารกจะมีธาตุเหล็กเพียงพอสำหรับร่างกายประมาณ 6 เดือนแรก แต่หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับสารอาหารอื่น ๆ ที่ต้องกินควบคู่ไปกับนมแม่ด้วย เช่น การให้ทานเนื้อสัตว์ต่าง ๆ และเนื้อปลา ที่เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และให้สารอาหารหลายชนิดที่ไม่ค่อยพบในพืชผัก อย่าง ไอโอดีน ทอรีน วิตามินบี-12 วิตามินดี กรดไขมัน ดี เอช เอ เพื่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีของลูก
บทความที่เกี่ยวข้อง : 7 เมนูมังสวิรัติ ง่าย ๆ อร่อยคลีน กินได้ทุกวัน แถมดีต่อสุขภาพ
ความเสี่ยงจากการทานอาหารมังสวิรัติต่อลูกน้อย
ส่วนอาหารจากพืชจะมีสารบางอย่างที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม การให้ลูกกินอาหารมังสวิรัติตั้งแต่ในวัยเด็ก อาจจะมีความเสี่ยง อาทิ
- น้ำหนักแรกเกิด คุณแม่ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำ จะส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยน้อยกว่าแม่ที่รับประทานอาหารปกติ รวมถึงภาวะการคลอดก่อนกำหนด นอกจากทารกจะมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำแล้ว เส้นรอบศีรษะ และความยาวของตัวเด็กที่แม่รับประทานอาหารมังสวิรัติก็น้อยกว่าด้วย
- การเจริญเติบโต สำหรับเด็กที่กินอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดในช่วง 5 ขวบแรก จะมีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กที่รับประทานอาหารปกติ
- ภาวะโรคโลหิตจาง ซึ่งเกิดได้จากการขาดธาตุเหล็ก ขาดวิตามินบี-12
- ปัญหาโรคขาโก่งในเด็ก ที่เกิดจากการวิตามินดี สำหรับในเด็กที่กินอาหารมังสวิรัติอาจจะได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ
- ความสำคัญต่อระบบสมองของลูกน้อย ซึ่งจะได้รับจาก ดี เอซ เอ ที่มีมากในเนื้อสัตว์ และปลา และมีน้อยในไข่ และนม
แต่การรับประทานอาหารมังสวิรัตินั้นก็ช่วยส่งผลดีต่อลูกได้ เช่น ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ได้ฝึกให้ลูกมีนิสัยการกินที่ดีไม่ตามใจปาก มีน้ำหนักที่ไม่เยอะเกิน เป็นต้น
ดังนั้นก่อนที่คุณแม่ตัดสินใจจะให้ลูกได้รับประทานอาหารมังสวิรัติในช่วงวัยเด็ก ควรคำนึงถึงผลดีผลเสีย สุขภาพ และความเสี่ยงอื่น ๆ ที่จะตามมาของลูกด้วย แต่ถ้าคุณแม่มีความพร้อมที่จะให้ลูกได้กินอาหารมังสวิรัติ
ทางสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แนะนำว่าควรให้เด็กดื่มนม และกินไข่ร่วมด้วยทุกวัน และกินอาหารให้ครบวันละ 3 มื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย และป้องกันการเกิดปัญหาการขาดสารอาหาร ซึ่งมีมากกว่าในช่วงอายุอื่นและในภาวะปกติทั่วไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด 17 ประการ สำหรับผู้ทานมังสวิรัติและมังสวิรัติ
อาหารว่างของทานเล่นแบบมังสวิรัติ ง่ายๆรวดเร็วและดีต่อสุขภาพ
เมนูมังสวิรัติคนท้อง คนท้องกินมัง ต้องกินเมนูอะไร ถึงจะดี