หาก แม่ท้องเป็นเบาหวาน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ นับว่าอันตรายอย่างมาก เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการคลอดก่อนกำหนด ความพิการแต่กำเนิด หรือแม้แต่ภาวะสูญเสียบุตรขณะตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์นั้น ก็สามารถส่งผลให้ แม่ท้องเป็นเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ หากแต่ผลกระทบจากโรคเบาหวาน และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีความร้ายแรงที่แตกต่างกัน
รู้จักกับ “เบาหวาน”
เบาหวาน คืออาการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการ หรือไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) นี้ มีหน้าที่ในการลำเลียงกลูโคสในกระแสเลือด เข้าสู่เซลล์ เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่ออินซูลินบกพร่อง และไม่สามารถขนส่งกลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้ จึงเกิดการสะสมในกระแสเลือด และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกาย เช่น หลอดเลือด เส้นประสาท ไต หัวใจ เป็นต้น ในการตั้งครรภ์ช่วงเริ่มต้น ยังอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก และความผิดปกติแต่กำเนิดอีกด้วย
ประเภทของเบาหวานในคนท้อง
แม้ว่าแม่ท้องจะไม่ได้มีโรคประจำตัวมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะแตกต่างจากโรคเบาหวานที่เป็นมาก่อน เนื่องจากเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) อาจจะจะหายไป หลังจากการให้กำเนิด หรือส่งผลให้อินซูลินในร่างกายมีความผิดปกติ หลังจากคลอดได้
ประเภทของเบาหวานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1. เบาหวานประเภทที่ 1 เกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
2. เบาหวานประเภทที่ 2 เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินที่ผลิตออกมาแล้ว ไปใช้ได้
3. ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และมีอาการของโรคเบาหวานประกอบ เช่น ปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นร้อยละ 3 – 9 ของแม่ท้อง
สาเหตุของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ร่างกายของคนท้องขณะตั้งครรภ์ มีความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้น ต้นเหตุหลัก ๆ ของการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดจากการทำงานของ รก ซึ่งไม่เพียงแต่ลำเลียงอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนอีกด้วย
ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คอร์ติซอล (Cortisol) และฮิวแมนพลาเซ็นตัลแลคโทเจน (Human Placental Lactogen: HPL) ที่ถูกผลิตออกมามากขึ้น มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้กลูโคสสะสมอยู่ในเลือด และไม่ถูกนำไปใช้ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นนั่นเอง
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่อลูกน้อยอย่างไร ?
ความเสี่ยงต่อคุณแม่ที่เป็นเบาหวานก่อนตั้งครรภ์
- ความพิการแต่กำเนิด
- แท้ง หรือสูญเสียทารกในครรภ์
ความเสี่ยงต่อคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- น้ำตาลในเลือดสูง
- ความดันต่ำ
- ธาตุเหล็กต่ำ
- ความดันโลหิตสูง
- ขนาดของหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ
- การพัฒนาระบบประสาทบกพร่อง
- ผลเสียต่อปอด
- คลอดก่อนกำหนด
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
ผลกระทบที่จะเกิดกับลูกน้อยหลังคลอด
- ทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- แคลเซียมในเลือดต่ำ
- ธาตุเหล็กในเลือดต่ำ
- เซลล์เม็ดเลือดแดงสูง เลือดมีความข้น
- หัวใจ หลอดเลือด สมอง และไขสันหลังบกพร่อง
- คลอดก่อนกำหนด
- หัวใจขยายใหญ่
- ปัญหาการหายใจ
- โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน
คุณแม่ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีความผิดปกติของการสร้างอินซูลินในร่างกาย หรือเป็นเบาหวานประเภทที่ 1 ซึ่งอาจไม่แสดงอาการ
- คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือเป็นโรคอ้วน
- คุณแม่ที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน
- คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โดยทั่วไป แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 24 – 28 สัปดาห์ จะได้รับการตรวจหาเบาหวานขณะตั้งครรภ์อยู่แล้ว ซึ่งจะใช้เวลาตรวจประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงก็จะทราบผลได้ว่า เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์หรือไม่
การตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักจะส่งผลกระทบต่อลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่ท้องที่มีการฉีดอินซูลินเข้าไปในร่างกาย เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดภาวะตายคลอด (stillbirth) ได้ การตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ จึงมีความจำเป็น โดยสามารถตรวจได้ด้วยวิธีการเหล่านี้
- การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น โดยนับว่าลูกดิ้น หรือเตะกี่ครั้งในช่วงเวลาหนึ่ง รวมทั้งสังเกตการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ด้วย
- อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจดูว่าอวัยวะต่าง ๆ ของลูกทำงานได้เป็นปกติดีหรือไม่
- การประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ วิธี Nonstress test โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่าง จังหวะการเต้นหัวใจทารก กับการดิ้น
- การประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ วิธี Biophysical profile ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการอัลตร้าซาวด์ และ การตรวจความสัมพันธ์ของจังหวะการเต้นของหัวใจทารก กับการดิ้น (Nonstress test)
- การตรวจดอปเลอร์อัลตร้าซาวด์ เป็นการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูระบบการไหลเวียนของเลือด ว่าเป็นปกติหรือไม่
การดูแลตัวเอง ลดความเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ออกกำลังกายเบา ๆ ให้อัตราการหายใจ และการเต้นของหัวใจ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เดินหลังอาหารเช้า หรือเที่ยงสัก 15 นาที การวิจัยพบว่าการออกกำลังกาย เป็นวิธีรับมือกับระดับน้ำตาลกลูโคสที่เพิ่มสูงขึ้นในกระแสเลือดได้ดีที่สุด เนื่องจากจะช่วยให้ร่างกายสามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่หลาย ๆ มื้อ การงดอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นปกติ พยายามรับประทานอาหารเช้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน และกำหนดเวลารับประทานอาหารกลางวัน อาหารเย็น และอาหารว่างอีก 2 มื้อ วิธีนี้จะทำให้ร่างกายได้รับอาหารทุก 3 – 4 ชั่วโมง และไม่ขาดอาหารนานเกินไป
- ทานผักให้มากขึ้น ผักควรจะมีปริมาณ 1/3 ของจาน และควรจะเป็นผักต้ม หรือนึ่ง ไม่ควรนำไปทอด
- ทานผลไม้ไม่เกิน 2 ผลต่อวัน ทานผลไม้สด หรือแช่แข็งก็ได้ แต่หลีกเลี่ยงผลไม้ที่ผสมน้ำเชื่อม น้ำตาล หรือน้ำผลไม้ และควรทานก่อนอาหาร เพื่อป้องกันน้ำตาลในเลือด
- ทานแป้งไม่ขัดสี ขนมปังธัญพืช ปริมาณที่ควรทานคือ ขนมปัง 2 – 3 แผ่น ข้าวกล้อง พาสต้า หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว 1 ถ้วยตวง
- เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เลือกทานอาหารที่ไม่ติดหนัง และไม่ติดมัน พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงอย่าง เบคอน ไส้กรอก และกุนเชียง เป็นต้น
การดูแลสุขภาพ ฝากครรภ์ และหมั่นพูดคุย ปรึกษาแพทย์ จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ทั้งคุณแม่ และลูกในท้อง มีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์
ที่มา : rochester , stanfordchildrens
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การกินอาหารของทารกในครรภ์ ลูกรับสารอาหารจากแม่ทางไหน กินอะไรเพิ่มน้ําหนักลูกในท้อง
ตั้งครรภ์อ่อนๆ ท้องอืด เรอ อาหารไม่ย่อย ลมในท้องเยอะ วิธีบรรเทาอาการท้องอืด
อยากให้ลูกขาว ทำอย่างไร อาหารบำรุงผิวให้มีออร่า ฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์