แม่ลูกอ่อนชอบลืมลูก
ข่าวคราวที่พบเห็นกันบ่อย ๆ แม่ลูกอ่อนชอบลืมลูก ทำไมแม่หลังคลอดขี้ลืมขนาดนี้ ล่าสุดมีข่าว เครื่องบินต้องวกกลับมายังแอร์พอร์ต เพราะผู้โดยสารเพิ่งนึกออกว่า ลืมลูก เรื่องนี้คนทั้งไฟลต์บิน ขำไม่ออกเลยทีเดียว
แม่ลูกอ่อนลืมลูกไว้ที่อาคารผู้โดยสาร
เหตุการณ์แม่ลูกอ่อนลืมลูกไว้ที่อาคารผู้โดยสาร เกิดขึ้นขณะที่เครื่องบินจากสายการบินซาอุดีอาระเบียน แอร์ไลนส์ กำลังบินอยู่บนท้องฟ้า แต่ปรากฎว่า ผู้โดยสารหญิงซึ่งเป็นแม่ของเด็ก เพิ่งจะรู้ตัวว่า ลืมลูกน้อยวัยทารกไว้ที่อาคารผู้โดยสาร!
เรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างที่เที่ยวบินเอสวี 832 สายการบินซาอุดีอาระเบียน แอร์ไลนส์ กำลังเดินทางจาก สนามบินนานาชาติคิงอับดุลลาซิส ในเมืองเจดดะห์ ของซาอุดีอาระเบีย ไปสู่ประเทศมาเลเซีย พอแม่ของเด็กนึกได้ว่าลืมลูก จึงแจ้งกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
ด้านกัปตันเครื่องบินจึงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน เพื่อขอกลับไปสนามบิน โดยบอกว่า “ผู้โดยสารหญิงลืมลูกของเธอที่อาคารผู้โดยสาร และปฏิเสธจะเดินทางต่อ”
เรื่องนี้ดูจะน่าขำสำหรับใครหลาย ๆ คน แต่จริง ๆ แล้วเหตุการณ์แม่ลูกอ่อนชอบลืมลูกนั้น พบเห็นได้บ่อย ๆ แม้แต่ในประเทศไทย มีทั้งการลืมลูกไว้ในรถ บางคนลืมลูกไว้ที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งนอกจากอาการขี้ลืมหลังคลอด ซึ่งเป็นเรื่องปกติของแม่ลูกอ่อนแล้ว คุณพ่อคุณแม่รู้กันหรือเปล่าวว่า มีโรคลืมลูก อยู่จริง ๆ
ทำไมแม่ลูกอ่อนชอบลืมลูก
โรคลืมลูก (Forgotten Baby Syndrome) หรือกลุ่มอาการโรคหลงลืมเด็กทารก (Forgotten baby syndrome: FBS) เป็นศัพท์ “เทียม” ทางการแพทย์ (Pseudo-medical term) ของการหลงลืมเด็กทารกภายใต้ความดูแลของตนจนเด็กได้รับอันตรายในเวลาต่อมา แม้ว่ากลุ่มอาการโรคนี้จะไม่ใช่อาการทางการแพทย์ แต่ก็เป็นที่ใช้กันแพร่หลายในสื่อต่าง ๆ
นายแพทย์เดวิด ไดมอนด์ นักประสาทวิทยาและอาจารย์มหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา อธิบายถึงกลุ่มอาการโรคหลงลืมเด็กทารก หรือ Forgotten Baby Syndrome (FBS) ว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง 2 ระบบ
- Habit Memory คือ เมื่อเราทำอะไรที่เป็นกิจวัตร เราจะทำสิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ เช่น ใส่รองเท้าก่อนออกจากบ้าน และล็อคประตูบ้านทุกครั้ง
- Prospective Memory คือเมื่อเราวางแผนจะทำอะไรบางอย่างที่ไม่ได้เป็นกิจวัตรที่ต้องทำทุกวัน เช่น ต้องแวะปั๊มน้ำมัน เพื่อเติมน้ำมัน
ความจำแบบ Prospective Memory อาจถูกครอบงำด้วยความจำแบบ Habit Memory และทำให้ลืมในสิ่งที่วางแผนไว้ แต่ประสาทอัตโนมัติกลับสั่งให้ทำในสิ่งที่เคยชินแทน
ในกรณีที่คุณไม่ใช่บุคคลหลักที่ไปรับไปส่งลูกที่เนอสเซอรี่ หรือเมื่อคุณต้องพาลูกขึ้นรถไปกับคุณเพื่อทำในสิ่งที่ไม่ใช่กิจวัตรประจำวัน โรคหลงลืมเด็กทารก (Forgotten Baby Syndrome) อาจเกิดกับคุณ
ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่คุณทำเป็นประจำ คุณก็ยังมีโอกาสที่จะลืมได้ ถ้ามีหลายเรื่องที่ต้องจำในเวลาเดียวกัน
วิธีป้องกันอันตราย จากแม่ลูกอ่อนที่ชอบลืมลูก
- หากกลัวลืมลูกไว้ในรถ พ่อแม่ควรตรวจเช็คเบาะหลัง และคาร์ซีท ก่อนลงรถทุกครั้ง หรือวางกระเป๋า โทรศัพท์มือถือไว้ที่เบาะหลัง จะได้ดูเบาะหลังเสมอเมื่อถึงจุดหมายปลายทาง
- เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณให้ลูกนั่งอยู่ที่เบาะหลัง ให้วางตุ๊กตาตัวใหญ่ๆ ไว้ที่เบาะหน้าข้างคนขับ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า เจ้าตัวน้อยของคุณนั่งอยู่ข้างหลังนะ
- ถ้าแม่ลูกอ่อนกลัวหรือกังวลว่าจะลืมลูก ให้ตั้งระบบเตือนความจำจากโทรศัพท์มือถือ อาจจะเป็นการตั้งว่า อย่าลืมดูเบาะหลังก่อนลงจากรถ หรือตั้งเป็นโน้ตเลยว่า ตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน จะทำให้คุณแม่ไม่ลืมว่า ต้องทำอะไร หรือลูกอยู่ตรงไหน
- พูดคุยกับสามี คนในครอบครัว คนใกล้ชิด ถึงเรื่องลูกเสมอ ๆ เพื่อเป็นการตอกย้ำให้แม่รู้ตัวว่า ลูกอยู่ตรงไหน นั่งอยู่ตรงไหน หรือเปิดวิดีโอคอล เวลาออกไปข้างนอก ซึ่งปลายสายมักจะถามถึงเรื่องลูกเองว่า น้องมาด้วยหรือเปล่า หรือน้องอยู่กับใคร
ข้อควรระวังสำหรับแม่ลูกอ่อนที่ชอบลืมลูก
- หากคุณแม่มีความเครียด วิตกกังวลเรื่องอื่น ๆ มากเกินไป จะไปคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ตลอด จนทำให้แม่ลูกอ่อนลืมลูกได้ ดังนั้น คุณแม่พยายามไม่เครียดนะคะ หาวิธีผ่อนคลายตัวเองด้วย
- พยายามไม่ทิ้งลูกไว้ในรถตามลำพัง แม้เพียงไม่กี่นาที เพราะการทำเช่นนี้อาจกลายเป็นนิสัยที่ไม่ดีติดตัวคุณไป และมีโอกาสที่จะลืมลูกได้ในสักวัน
- ในกรณีที่เจ้าตัวน้อยไปกับคุณพ่อ หรือคุณตาคุณยาย เมื่อถึงจุดหมายปลายทางให้เขาช่วยถ่ายรูปเจ้าตัวน้อยส่งมาให้คุณ เพื่อคุณจะได้มั่นใจว่า จะไม่เกิดการลืมเด็กไว้ในรถโดยไม่ได้ตั้งใจ
ถ้าแม่ลูกอ่อนชอบลืมลูก อย่าลืมทำตามวิธีที่แนะนำนะคะ
ที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ตารางอาหารทารกขวบปีแรก ลูกน้อยในแต่ละวัยควรกินอะไร เท่าไหร่ ถึงจะพอดี?
ลูกแหวะนม สำรอกนม ทารกแหวะนม สำรอกนม เกิดจากอะไร อันตรายไหม และควรดูแลอย่างไร?
ลูกไม่ค่อยได้ยิน แม่จะรู้ได้อย่างไร วิธีสังเกตพัฒนาการทางการได้ยิน ต้องเช็คตั้งแต่ทารก
วิธีเลี้ยงทารกให้ฉลาด อารมณ์ดี โดยใช้อ้อมกอดของพ่อแม่