แท้งค้าง คืออะไร วิธีป้องกันไม่ให้เสี่ยงแท้งลูก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก

โดยทั่วไปอาการแท้งที่เกิดขึ้นจะพบได้ประมาณ 15 – 20% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนภาวะ แท้งค้าง แม้จะพบเพียงแค่ 1% แต่เป็นปัญหาที่ยากจะรู้ว่ามีการแท้งเกิดขึ้น และทารกในครรภ์เสียชีวิตจริง ๆ มานานเท่าไหร่แล้ว

แท้งค้าง ภาวะเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้แบบที่แม่ท้องไม่รู้ตัว

 

ภาวะแท้งค้าง จัดเป็นการแท้งชนิดหนึ่ง ที่ทารกเสียชีวิตภายในครรภ์มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่แพทย์จะตรวจพบและทำการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะแท้งค้างนั้นยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ว่า เหตุใดทารกที่เสียชีวิตในครรภ์จึงไม่แสดงอาการแท้งออกมา แต่สาเหตุของการแท้งค้าง อาจเกิดขึ้นได้จาก

  • ทารกในครรภ์มีโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกเสียชีวิตมากที่สุด
  • พฤติกรรมของแม่ทั้งก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • การติดเชื้อของทารกในครรภ์ หรือการติดเชื้อจากแม่แล้วมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์
  • แม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
  • สารพิษจากสิ่งแวดล้อมที่แม่ได้รับขณะตั้งครรภ์

 

สัญญานที่อาจเกิดภาวะแท้งค้างที่ควรสังเกต

  • จากที่เคยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แต่อาการเหล่านั้นหายไป
  • จากที่เคยมีอาการคัดตึงเต้านม แต่อาการนั้นหายไป
  • ขนาดท้องไม่โตขึ้นตามอายุครรภ์
  • ทารกไม่ดิ้นในอายุครรภ์ที่ควรดิ้น เช่น ท้องแรกลูกควรเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 – 20 สัปดาห์
  • รู้สึกว่าลูกดิ้นแล้วหยุดดิ้น มีการดิ้นน้อยลง
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

หากพบอาการเหล่านี้อย่ายิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดที่นัด ในบางกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงก็อาจส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่มากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาการนี้เกิดขึ้นแค่ประมาณ 1% เท่านั้น หากคุณแม่ดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ อยู่ในที่ที่ลดการเผชิญกับสารพิษหรือมลภาวะเป็นพิษต่าง ๆ ก็จะช่วยทำให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ ปลอดจากโรคภัยและไม่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะดังกล่าวนี้ขึ้นได้นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องไตรมาสแรก คำแนะนำและความเสี่ยงของคุณแม่มือใหม่

พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง แม่ท้องไตรมาสแรก

ท้องแรกกังวลเหลือเกิน กลัวว่าทำโน่นทำนี่แล้วจะแท้ง! ไม่ต้องกลัวไปนะคะ เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับ พฤติกรรมเสี่ยงแท้ง แม่ท้องไตรมาสแรก อันไหนทำได้ อันไหนต้องห้าม เป็นคำเตือนให้แม่ท้องระมัดระวังตัว และคำแนะนำในการดูแลสุขภาพให้ดี

ปัจจัยที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร

ปัจจัยเสี่ยงต่อการแท้งบุตรมีหลายอย่าง ปัจจัยส่วนหนึ่งสามารถป้องกันได้ แต่ปัจจัยบางอย่างก็ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ เช่น อายุของคุณแม่ที่มากขึ้น หรือในบางครั้งอาจไม่พบปัจจัยเสี่ยงในคุณแม่ที่แท้งบุตรเลย (โดยเฉลี่ยอาจพบการแท้งบุตรตามธรรมชาติได้ถึงร้อยละ 10-15)

การเตรียมตัวคุณแม่เพื่อป้องกันการแท้งบุตร

  1. ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์
  2. ควรรักษาโรคประจำตัวให้เป็นปกติหรือควบคุมโรคได้ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน ภูมิคุ้มกันผิดปกติ (SLE และ antiphospholipid syndrome) เป็นต้น
  3. ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  4. ควรลดน้ำหนักตัวให้เป็นปกติก่อนการตั้งครรภ์
  5. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ

แม่ท้องไตรมาสแรกต้องเลี่ยงอะไรบ้าง

  • หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารที่ไม่สุก ชีสหรือเนยแข็ง ไส้กรอกและแฮม ชาและกาแฟ น้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อบางโรคระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน โดยการหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนแออัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค
  • งดการสูบบุหรี่ / การดื่มแอลกอฮอล์ / การใช้สารเสพติด

กิจกรรมของคุณแม่ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

การออกกำลังกาย

สามารถทำได้ตามปกติเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ โดยหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกีฬาที่อาจมีการกระแทก การกระโดด และการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วมาก ดังนั้น คุณแม่สามารถออกกำลังกายโดยการวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค โยคะ และอื่น ๆ ได้อย่างปลอดภัย

การมีเพศสัมพันธ์

ในการตั้งครรภ์ที่ปกติการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ดังนั้น ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย

การทำงานบ้าน / ยกของหนัก

การยกของหนักอาจทำให้คุณแม่มีอาการปวดเสียดมดลูกได้ เช่นเดียวกันกับการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อน การทำงานหนักก็ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ทางที่ดีคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีหรือสิ่งที่อันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง สารระเหย โลหะหนักที่ผสมในสารเคมี รังสีจากที่ทำงาน เป็นต้น

ถ้าคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น ปวดท้องตลอดเวลา เลือดออก หรือมีภาวะแท้งคุกคาม ให้หยุดกิจกรรมทุกอย่าง นอนพักผ่อนให้มาก และพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาต่อไป

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แชร์ประสบการณ์แม่ สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน จนกระทั่งฉันแท้ง!! และตั้งรับไม่ทัน

แม่ท้องควรรู้!! ดื่ม “ชาดอกคำฝอย” อาจเสี่ยงแท้ง

งานวิจัยชี้ ดื่มกาแฟเกินวันละ 2 แก้ว เสี่ยงท้องยาก และแท้งบุตร

ที่มา Haamor

 

 

บทความโดย

Napatsakorn .R