เลือกผ่าคลอด
9 เรื่องที่แม่ตั้งครรภ์ต้องเจอ หากแม่อยาก เลือกผ่าคลอด ความเสี่ยงผ่าคลอดสำหรับคุณแม่ที่เลือกผ่าคลอด นี่คือสิ่งที่เราจะบอก คุณแม่อาจจะต้องเจอเรื่องเหล่านี้ในช่วงระหว่างและหลังจากการผ่าตัดได้
9 เรื่องของแม่ท้องที่เลือกผ่าคลอดต้องรู้!!
#1 อาการหนาวสั่น
เมื่อยาชาเริ่มออกฤทธิ์ คุณแม่บางคนอาจจะเริ่มรู้สึกมีอาการหนาวสั่นอย่างรุนแรง คล้าย ๆ กับว่าจะมีไข้ จนอาจคิดไปเล่น ๆ กันนี่กำลังอยู่ในห้องผ่าตัดหรือขั้วโลกเหนือกันเนี่ยะ
#2 เตียงผ่าตัดมีสายรัด
ในขณะที่แพทย์ดำเนินการผ่าคลอด คุณแม่ที่นอนอยู่บนเตียงจะถูกสายรัดตัวเอาไว้ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดหรอก เพราะตอนนี้ยาชาที่ฉีดไปเริ่มออกฤทธิ์แล้ว
#3 รู้สึกกดดันและตื่นเต้น
ในช่วงเวลาที่ผ่าคลอด คุณแม่อาจไม่มีความรู้สึกถึงความเหนื่อยกับการพยายามที่จะต้องเบ่งคลอด แต่กลับเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและกดดันได้อย่างมหาศาล กับการที่คุณหมอและพยาบาลมายืนรุมล้อมที่หน้าท้อง มันเป็นช่วงเวลาเพียงชั่วขณะเท่านั้น และมันจะผ่านไปรวดเร็วเมื่อคุณแม่ได้ยินเสียงลูกน้อยออกมาจากหน้าท้องของคุณแล้ว
#4 มีลมในท้องมาก
ในขณะที่หน้าท้องของคุณแม่ถูกเปิดและหลังจากลูกน้อยได้ออกมาแล้วจะมีลมอากาศเข้าไปแทน คุณแม่บางรายจึงมีอาการอืดแน่นท้อง เรอบ่อย ลมหรือแก๊สในท้องนี้อาจจะสร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้คุณแม่ได้เช่นกัน ต้องหาทางระบายออก เช่น เมื่อคุณแม่เริ่มฟื้นตัวให้ลุกเดินเพื่อให้ลำไส้กลับมาทำงานได้ดีขึ้นและให้อาการอืดท้องลดลงรับประทานอาหารที่มีใยอาหารเพื่อให้ร่างกายมีการขับถ่ายออกมา และป้องกันอาการท้องผูก
#5 อาการชา
หลังผ่าคลอด บ่อยครั้งที่คุณแม่อาจรู้สึกชาบริเวณรอบ ๆแผลผ่าตัด หรือบริเวณขาบ้าง ซึ่งมันอาจจะหายหรือไม่หาย หรือหายแค่บางส่วน ถ้าคุณแม่มีข้อกังวลในเรื่องนี้ให้ปรึกษากับคุณหมอนะคะ
#6 อาการบวม
การบวมไม่ใช่แค่จะเกิดในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น คุณแม่ที่เพิ่งผ่าตัดมา จะได้รับการสูบฉีดของเหลวในร่างกายจนทำให้สังเกตเห็นว่าข้อเท้าและเท้าอาจจะบวมขึ้น คอยดูแลอาการบวมได้ด้วยการพยายามคอยยกเท้าให้สูง และอาการบวมต่าง ๆ จะค่อย ๆ หายไปภายในสองสามวัน หลังร่างกายคุณแม่ฟื้นกลับมาสู่สภาพปกติ และเริ่มที่จะมีเหงื่อออก
#7 ปวดหัวหน่าว ปวดอวัยวะเพศ ปวดแผลผ่าคลอด
อาการปวดหัวหน่าว ปวดอวัยวะเพศ บางคนปวดแผล เสียวตรงแผลผ่าคลอด เป็นเพราะหลังผ่าตัดคลอดบุตร ในช่วงต้นสูติแพทย์จะมีการสั่งให้ยากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกหยดเข้าสู่กระแสเลือดทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ยานี้ทำให้มดลูกบีบตัวแรงเพื่อหยุดเลือดที่ออกทางช่องคลอดและขับน้ำคาวปลาออกมา จึงทำให้คุณแม่หลังคลอดมีอาการปวดหน่วงท้องน้อย ลักษณะปวดบีบเป็นพักๆ ร้าวลงหัวหน่าวได้ เมื่อหมดฤทธิ์ยาอาการเหล่านี้จะทุเลาลง
Read : อาการหลังผ่าคลอด
#8 การพักฟื้นร่างกาย
หลังผ่าคลอดอาจจะรู้สึกเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด แม้จะอยากหน้าลูกน้อยเป็นสิ่งแรก แต่ก็ไม่ควรที่จะรีบลุกขึ้นในทันทีนะคะ เพราะการผ่าตัดทำให้คุณแม่เสียเลือดมากซึ่งอาจจะทำให้หน้ามืดวิงเวียนศีรษะได้ เมื่อคุณแม่แข็งแรงพอที่จะลุกหรือยืนได้แล้ว ค่อย ๆ พยายามเคลื่อนไหวหรือพลิกตัวบ่อย ๆ เปลี่ยนอิริยาบทเพื่อลดความตึงจากแผลผ่าตัดบนหน้าท้อง ซึ่งอาการปวดแผลจะค่อย ๆ ทุเลาลงหลัง 48 ชั่วโมง คุณแม่ที่ผ่าคลอดจึงมีระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3-4 วันนานกว่าคุณแม่ที่คลอดเองด้วยวิธีธรรมชาติแต่บางรายก็สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพียง 1-2 วัน ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวและสุขภาพของคุณแม่
#9 ความรู้สึกผิด
คุณแม่ที่เลือกผ่าคลอดอาจจะรู้สึกผิด ที่คิดว่าไม่สามารถคลอดลูกเองตามที่ตั้งใจไว้ได้ แต่การผ่าคลอดนั้นไม่ใช่ทางออกที่ง่ายเหมือนกัน การมีลูกด้วยวิธีการผ่าคลอดนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะไม่สามารถมีความสัมพันธ์หรือสายใยที่ดีต่อลูกน้อยซะเมื่อไหร่ และคุณแม่ก็สามารถกอดทารกน้อยในอ้อมอกเพื่อให้ได้กินนมแม่เฉกเช่นเดียวกับคุณแม่ที่คลอดลูกเองได้เช่นกัน
คนแรกผ่าคลอด ท้องสองคลอดเองได้ไหม
สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดในท้องแรกและท้องสองมีความประสงค์อยากจะคลอดเอง ลองมาสำรวจกันคร่าวๆ นะคะว่าเข้าข่ายคลอดเองได้หรือไม่
- ต้องเป็นคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดทางขวางเท่านั้น ตรงนี้ต้องปรึกษาคุณหมอที่เคยทำการผ่าคลอดให้นะคะว่าคุณแม่ได้รับการผ่าในแนวไหน
- คุณหมอจะทำการตรวจสอบอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่ามีขนาดเหมาะสมหรือมีขนาดกว้างพอที่จะคลอดเองได้หรือไม่
- ต้องไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกหรือผ่าตัด เช่น กรณีผ่าตัดเนื้องอกมาก่อน
- ไม่เคยมีปัญหาเรื่องมดลูกแตกมาก่อน
- ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ โดยเฉพาะภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
- ต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากหมออย่างใกล้ชิด
หลังผ่าคลอดแล้วมีลูกคนต่อไปได้เมื่อไหร่
คุณแม่ที่ผ่าคลอด คุณหมอจะไม่แนะนำให้มีลูกเกิน 2 คน และควรเว้นช่วงห่างของการมีลูกประมาณ 2 ปี เพื่อให้ร่างกายแม่ผ่าคลอด กลับมาแข็งแรง ฟื้นฟูสุขภาพให้ดีดังเดิม ระหว่างนั้นคุณแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ บำรุงร่างกาย หมั่นออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อสุขภาพ
ถ้าแม่ผ่าคลอดต้องการมีลูกมากกว่า 2 คนขึ้นไป หมอจะตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทั้งตรวจภายใน ตรวจมดลูก และดูข้อจำกัดของคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาแล้ว เช่น
- จำนวนแผลที่เคยผ่าคลอด และความหนาบางของแผล
- อายุของคุณแม่มากเกินไปหรือไม่
- พังผืดในช่องท้องที่มากเกินไปหรือไม่
- โรคประจำตัวของคุณแม่มีหรือไม่ อาจอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขณะที่ตั้งครรภ์ได้
ในปัจจุบัน การผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องนั้นเป็นหนึ่งในวิธีการทำคลอดที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทารกมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น และการวินิจฉัยภาวะผิดปกติในกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อทารกในครรภ์ นำไปสู่การผ่าตัดคลอด เพื่อช่วยทารกในครรภ์ให้คลอดออกมาเร็วที่สุด การเลือกผ่าคลอดที่คุณแม่ตัดสินใจเลือกจึงไม่ได้ทำให้ความกล้าหาญลดลงเลย
Credit content :
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
คลิปผ่าคลอด ขั้นตอนการผ่าตัดคลอดลูก คลิปจำลองแม่ท้องผ่าคลอด วิธีการผ่าคลอด
คลอดธรรมชาติ vs ผ่าคลอด คุณแม่อยากเลือก วิธีคลอดลูก แบบไหน?
เผยขั้นตอนคลอดลูก ทั้งคลอดเอง VS ผ่าคลอด แบบที่แม่ท้องควรรู้!!