แม่ให้นม ฟังทางนี้! สิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำขณะให้นมลูก
ความกังวลใจอันดับแรกๆ ของแม่ท้องหลังคลอด คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการให้นมลูก โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่จะกังวลมากเป็นพิเศษ กลัวว่าจะไม่มีนมให้ลูกบ้างล่ะ กลัวน้ำนมไม่พอ และไม่รู้จะอุ้มลูกท่าไหนดี วันนี้เรามีคำแนะนำสำหรับ แม่ให้นม ว่าสิ่งไหนที่คุณแม่ควรทำ และไม่ควรทำกันค่ะ
แม่ให้นมทำสิ่งเหล่านี้สิดี!
1. ให้ลูกดูดนมภายหลังคลอดเร็วที่สุด
สิ่งสำคัญสำหรับทารกน้อย คือ คุณแม่ควรให้เจ้าตัวน้อยดูดนมให้เร็วที่สุดหลังจากที่คลอดออกมาแล้ว ภายใน ½ -1 ชั่วโมงหลัง คลอด ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ลูกมีการตื่นตัว กระตุ้นให้เกิดความรัก ความผูกพันระหว่างแม่ลูก และช่วยให้น้ำนมมาเร็ว หากกรณีผ่าตัดคลอด ควรให้ลูกดูดนมหรือมารดาบีบน้ำนมภายใน 4 ชั่วโมงหลังคลอด น้ำนมระยะนี้จะมีสีเหลืองหรือที่เรียกว่าว่า “น้ำนมเหลือง” ซึ่งมีคุณค่าและประโยชน์ต่อทารกอย่างมากโดยเฉพาะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
อาการของทารกน้อยเมื่อหิวนม เจ้าตัวน้อยจะร้องไห้โยเยหรือดูดมือ ดูดนิ้ว และที่สำคัญที่คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ คือ เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ หิวบ่อยมากเรียกว่าตื่นทุก 2-3 ชั่วโมง ยิ่งถ้านมแม่มีน้อยเจ้าหนูอาจจะตื่นทุกชั่วโมงก็เป็นได้
เรื่องน่ารู้: การดูดนมครั้งแรกของทารก ถือเป็นการเรียนรู้และทำความรู้จักกับอกแม่ เด็กบางคนอาจจะแค่ดมหรือเลีย เด็กบางคนก็ดูดเป็นในทันที คุณแม่ไม่ต้องกังวลและไม่ต้องพยายามบีบบังคับให้ลูกดูดให้ได้อย่างถูกต้อง ในครั้งแรกที่เจอกัน แค่การกอดและสัมผัสกันก็ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นแล้ว ลูกน้อยจะสามารถดูดนมได้เองภายในไม่ช้า
2. เรียนรู้เทคนิคการให้นมขณะที่อยู่โรงพยาบาล
ขณะที่อยู่โรงพยาบาล คุณแม่จะมีคุณพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่มาคอยช่วยในการให้นมลูก จัดท่าให้นม สอนการนำทารกเข้าเต้าอย่างถูกต้อง เพื่อจะได้ดูดนมได้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาถึงบ้านแล้ว นี่คือชีวิตจริง !!! ที่ไม่สามารถใช้ตัวสแตนด์อินได้ แรก ๆ จะขลุกขลักมาก เพราะทั้งแม่ต้องเรียนรู้นิสัยทารกน้อย จะหิวตอนไหน ชอบให้อุ้มอย่างไร รวมไปถึงท่าการให้นมของคุณแม่ที่จะให้ลูกเข้าเต้าได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
- ท่าอุ้ม ท่าอุ้มที่เหมาะสมจะช่วยให้ลูกเข้าเต้า ดูดและกลืนน้ำนมได้ดี คุณแม่จึงควรเลือกท่าที่ถนัด ผ่อนคลายและเหมาะสมกับสภาวะของคุณแม่มากที่สุด อาจจะอุ้มในท่านั่ง ท่านอน หรือท่านั่งกึ่งนอนก็ได้
- ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรงตามสบาย ไม่เกร็ง ไม่ควรโน้มตัวไปข้างหน้าหรือเอนไปข้างหลังมากเกินไป เพราะจะทำให้เมื่อยหลัง
- การเอาหัวนมเข้าปากและช่วยให้ลูกอมหัวนมได้ถูกต้อง (latch on) คือ สอดหัวนมเข้าปากลูกให้ลึกถึงลานหัวนม ลิ้นอยู่ใต้ลานหัวนมแม่ เหงือกบนกดบนลานหัวนม ริมฝีปากแยกและแนบอยู่กับเต้านม
องค์ประกอบของท่าให้นมลูก คือ
- ให้ตะแคงลำตัวและศีรษะของลูกให้หันเข้าหาแม่
- ลำตัวของลูกแนบชิดกับตัวแม่
- ศีรษะ ไหล่และสะโพกของลูกควรอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
- ตัวของลูกได้รับการรองรับให้รู้สึกมั่นคง โดยใช้มือแม่หรือหมอนรองช้อนไว้
3. เพื่อนคู่คิดในการให้นม
เพื่อนคู่คิดที่สำคัญและสามารถปรึกษาได้ เริ่มต้นจาก คุณพยาบาลเพราะช่วงที่คุณแม่อยู่โรงพยาบาลนั้นจะมีการสอนให้นมทารกอย่างถูกวิธี เมื่อกลับมาบ้านหากมีคุณย่า หรือคุณยายอยู่ด้วยจะยิ่งดีเพราะท่านจะแนะนำคุณได้ในทุก ๆ เรื่อง หรือการพูดคุยกับแม่ลูกอ่อนด้วยกัน หรือคลินิกนมแม่ให้เปิดบริการให้โทรสอบถามได้ หรือเข้าคอร์สอบรมการให้นมแม่ที่จัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถเป็นเพื่อนคู่คิดในการให้นมแม่ได้
แม่ให้นมต้องอย่าทำสิ่งเหล่านี้ อ่านต่อ
แม่ให้นมต้องอย่าทำสิ่งเหล่านี้!
1. อย่ากังวลมากเกินไป
คุณแม่ไม่ควรวิตกกังวลเรื่องการให้นมจนเกินไป กลัวน้ำนมไม่พอ กลัวลูกไม่อิ่ม และที่สำคัญไม่ควรจัดตารางเวลาการให้นมแก่ลูก
เรื่องน่ารู้: ใน 4 วันแรกหลังคลอด อาจได้ปริมาณน้ำนมน้อย แต่มีคุณค่ามาก ซึ่งช่วงนั้นทารกต้องการปริมาณน้ำนมเพียง 15 มิลลิกรัมต่อวัน ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ สม่ำเสมอทุก 2-3 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อช่วยกระตุ้นให้มีการสร้างและหลั่งน้ำนมเพิ่มมากขึ้น และให้ลูกดูดนมแม่ได้ทุกครั้งตามที่ต้องการ โดยประมาณ 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง หรือดูดทุก 1 – 3 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน และทุก 2-3 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ถ้าลูกหลับนานเกิน 3 ชั่วโมง ต้องปลุกให้กินนม อาการแสดงว่าลูกได้นมเพียงพอคือ ลูกหลับนาน 2-3 ชั่วโมง ถ่ายปัสสาวะวันละ 6-8 ครั้ง ถ่ายอุจจาระอ่อนนุ่ม และน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์
2. อย่ายอมแพ้ง่ายเกินไป
คุณแม่บางคนในช่วงสามสี่วันแรกน้ำนมอาจจะยังไม่มา ควรให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อย ๆ แต่มีคุณแม่อีกส่วนหนึ่งถึงกับถอดใจ ให้ลูกกินนมผงไปเลย เพราะคิดว่าตนเองคงไม่มีน้ำนมให้ลูก เป็นความเชื่อที่ผิด และทำให้ทารกน้อยเสียโอกาสที่จะได้รับคุณค่าทางอาหารและภูมิคุ้มกันที่จะได้รับจากนมแม่ การให้นมแม่ต้องใช้ความพยายาม เข้าใจดีค่ะ ว่าคุณแม่ทั้งเหนื่อยอีกทั้งร่างกายยังไม่เข้าที่เข้าทาง เพราะเพิ่งผ่านการคลอดลูก ต้องมาเหนื่อย อดหลับอดนอน แต่เพื่อลูกแล้วเชื่อได้เลยค่ะว่าคุณแม่ “ทำได้” เพื่อลูกอย่างแน่นอน
3. อย่าหงุดหงิดหรือเครียดเกินไป
เวลาที่คุณแม่รู้สึกหงุดหงิด เครียด อาจจะเป็นเพราะนอนน้อย หรือเหตุผลอื่น ๆ ก็ตาม คุณแม่ควรหาที่ปรึกษาเพื่อระบายความรู้สึก อาจพูดคุยให้คุณพ่อฟังหรือสมาชิกในบ้านก็ได้ เพราะการได้พูดคุยจะช่วยระบายความเครียด ความหงุดหงิดใจได้ และในช่วงเวลาที่ลูกหลับคุณแม่ก็ควรงีบหลับตามลูกเพื่อเป็นการพักผ่อนให้ตนเองไปในตัว
ยากระตุ้นน้ำนมช่วยได้จริงหรือไม่
1. หาสาเหตุของน้ำนมน้อย เพื่อจะได้แก้ไขที่สาเหตุ เช่น การปรับท่าทางการให้นมลูกที่ถูกต้อง, การประคบเต้านมคัดตึง,การกระตุ้นน้ำนมด้วยการปั๊มระหว่างมื้อนม (ควบคู่กับการให้ลูกดูดจากเต้า), ลดความเครียด ความวิตกกังวลของคุณแม่ด้วยการให้กำลังใจ จากคนในครอบครัว มีการวิจัยพบว่า การได้รับกำลังใจจากคนในครอบครัวมีผลต่อกาเรพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำนมแม่
2. หากยังไม่มีน้ำนม ควรปรึกษาคุณหมอเรื่องการจัดยากระตุ้นน้ำนม สำหรับยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือ ดอมเพอริโดน (domperidone) ยานี้มีข้อบ่งใช้ คือ ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน ใช้ลดอาการแสบอกจากกรดไหลย้อน (heartburn) ยามีผลลดการหลั่งฮอร์โมนโพรแลคตินของคุณแม่ที่ให้นมบุตร
3. ดอมเพอริโดนส่งผลทางอ้อม ให้ระดับฮอร์โมนโพรแลคตินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต่อมน้ำนมสร้างน้ำนมมากขึ้น ดอมเพอริโดนจึงถูกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นน้ำนม โดยให้รับประทานก่อนอาหาร 15–30 นาที
สิ่งสำคัญ ห้ามซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด ต้องปรึกษาคุณหมอเท่านั้น เพราะยาอาจมีผลข้างเคียงต่อคุณแม่และทารกได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thaibreastfeeding.org
https://sg.theasianparent.com/
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง