เด็กไทยคิดเองไม่เป็น จริงหรอ?
เด็กไทยหลายคนเติบโตมาในระบบการศึกษาภาคบังคับ ผ่านหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่พัฒนามานับครั้งไม่ถ้วน เมื่อตีแผ่โครงสร้างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี พบว่า เด็กไทยจะต้องเรียนเนื้อหาสาระตามกลุ่มการเรียนรู้ทั้งหมด 8 กลุ่ม คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ
เมื่อนักเรียนหรือนักศึกษาไทยได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศ ทำให้หลายต่อหลายคนต้องเจอกับความไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมและบรรยากาศภายในห้องเรียนที่ต่างประเทศ จนเกิดอาการ Culture Shock ด้วยเหตุผลที่ว่าระบบการศึกษาต่างประเทศจะเน้นให้ นักเรียนมีส่วนร่วมในการวิพากษ์ประเด็นที่กำลังศึกษาร่วมกันอยู่ โดยไม่ต้องกลัวว่าความคิดของตัวเองจะผิด ทุกคนไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน สามารถเห็นต่างหรือเห็นแย้งกันได้ เพียงแต่ให้ทุกคนได้กล้าแสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งเราเรียกกระบวนการคิดแบบนี้ว่า การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) น่าเสียดายที่กระบวนการคิดแบบนี้ควรจะเริ่มสอนตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่มาเริ่มสอนเอาตอนที่เรียนระดับมหาวิทยาลัย หรือบางคนอาจไม่เคยได้เรียนเลยด้วยซ้ำ
ในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ. 2556) โดยมีการจัดการเรียนรู้ออกเป็น 6 กลุ่มความรู้ คือ ภาษาและวรรณกรรม สื่อและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ การดำรงชีวิตและโลกของงาน สังคมและความเป็นมนุษย์ และอาเซียน ภูมิภาค และโลก ซึ่งมีการเน้นให้เด็กได้มีการคิดเชิงวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิพากษ์ การคิดและการทำงานอย่างสร้างสรรค์
การพัฒนาหลักสูตรใหม่นี้ จะทำให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็นมากแค่ไหนก็ต้องคอยจับตาดู ตราบใดที่การศึกษาไทยที่ยังคงเน้นให้เด็กท่องจำอย่างบ้าพลัง ไหนจะเน้นการเรียนการสอนเพื่อทำข้อสอบกากบาทลงบนช้อยส์ รวมถึงความคิดของครูที่ว่าความคิดครูถูก ห้ามนักเรียนคิดต่าง จนทำให้เด็กไม่กล้าแสดงออกทางความคิดเห็น และติดนิสัยแบบนี้ตั้งแต่เด็กไปจนโต
ทำไมเด็กจึงควรถูกฝึกให้มีความคิดเชิงวิพากษ์
การคิดเชิงวิพากษ์ คือ กระบวนการรับรู้และคิดแยกแยะ เรื่องราว เหตุการณ์ ข่าวสาร ความรู้ แนวความคิด ปรากฏการณ์ และทฤษฎีต่างๆ โดยมีการศึกษาที่เป็นทั้งคุณและโทษ เป็นประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ต่อการเรียน การฝึก การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความใกล้เคียงกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก (การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล)
ความคิดแบบนี้ เป็นนำเอาข้อมูลความรู้ที่ตัวเองรับรู้ เรียนรู้จากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส ผนวกเข้ากับประสบการณ์เดิมที่รู้อยู่ แล้วใช้สติปัญญาในการตัดสินใจผ่านการคิดรอบด้านว่าจะเชื่อทั้งหมด เชื่อบางส่วน หรือเลือกที่จะไม่เชื่อเลยก็ได้ จนความคิดตกผลึกได้เป็นคำตอบหรือตัวเลือกที่ดีที่สุด เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ หรือประเมิน หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นกระบวนการคิดที่มีปัญญาเป็นตัวนำ
เด็กควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ กระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเนิ่นๆ เพราะหากโอกาสปิดไปแล้ว การจะมาดึงดูดให้พวกเขากลับมาใช้หลักเหตุผลอีกมักเป็นเรื่องยาก ถึงแม้ว่าเด็กจะไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้เทียบเท่าผู้ใหญ่ แต่เด็กทั้งเด็กเล็กและเด็กโต มีความสามารถในการมองหาหลักฐานบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ได้ เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะสร้างสมมติฐานขึ้นมา และเรียนรู้ได้จากการทดลอง
พ่อแม่ควรสอนลูกอย่างไรให้คิดเป็น
พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกเป็นคนคิดเป็นได้ โดยต้องสอนให้ลูกรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ นั่นคือ การพบาบามขวนขวายหาความรู้ และหาหลักฐานมาอธิบายให้ได้ มีงานวิจัยหนึ่ง ที่อธิบายเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ จากการศึกษาเด็กในประเทศยูกันดา 10,000 ราย อายุระหว่าง 10 ถึง 12 ปี ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการสอนสุขภาวะเบื้องต้น ผ่านการใช้สื่อการเรียนรู้อย่างหนังสือภาพ การ์ตูน การร้องเพลง และอุปกรณ์การสอนอื่นๆ มี 12 หัวข้อสุขภาวะที่เด็กๆ ควรปฏิบัติและประเมินสุขภาพของตัวเอง
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ พวกเขาไม่ได้ใช้การสอนกันโต้งๆ แต่เป็นการทิ้งหลักฐานต่างๆ ให้เด็กเป็นผู้เลือกว่า วิธีไหนสามารถรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งผลปรากฏว่า เด็กๆ ที่แม้จะมาจากครอบครัวที่ยากจนก็ยังสามารถจับใจความสำคัญได้จากเรื่องที่พวกเขาเรียนรู้ไป
วิธีการฝึกให้ลูกมีความคิดแบบ Critical Thinking อาจเริ่มจากการตั้งเป็นคำถาม การพูดคุย หรือการถกเถียงกับลูกนั้น ในประเด็นที่ใกล้ตัวลูก ทั้งเรื่องการเรียน เพื่อนที่โรงเรียน ประเด็นในสังคมทั้งโฆษณา ภาพยนตร์ แฟชั่นต่างๆ ตัวอย่างคำถาม
- ลูกคิดว่ามนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากลิงจริงหรือไม่ ?
- เพื่อนคนที่ลูกรู้สึกไม่ชอบคนนี้ ลูกคิดว่าลึก ๆ แล้วเขามีส่วนดีอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ ?
- ลูกคิดดีแล้วหรือว่าจะซื้อของเล่นชิ้นนี้มีอะไรที่ลูกคิดว่าน่าซื้อกว่านี้ จำเป็นกว่านี้หรือไม่ ?
จากนั้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักค้นหาความจริง จากการค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ ทั้งหนังสือ อินเทอร์เน็ต ผู้รู้ ซึ่งคำตอบอาจมีมากกว่าหนึ่ง รวมทั้งการสำรวจจากมุมมองของคนอื่นๆ หลังจกนั้นพิจารณาว่าทางเลือกใดควรเป็นคำตอบที่แท้จริง ที่ดูแล้วสมเหตุสมผลมากที่สุด
ที่มา: thematter, dailynews, kriengsak, สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ลูกวัยอนุบาล จำเป็นต้องเรียนพิเศษไหม ลูกวัยนี้พ่อแม่ควรให้ลูกเรียนเสริมอะไรดี?
ฝึกลูกพูด 2 ภาษา อย่างไรให้ได้ดี วิธีสอนลูกพูดภาษาอังกฤษ สไตล์หมอเด็ก
วิจัยชี้! เด็กที่ชอบโกหก มักจะเป็นเด็กฉลาด