เด็กคอแข็งกี่เดือน ลูกคอแข็งช้า มีวิธีทำให้ลูกคอแข็งเร็วไหม วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันครับ เนื่องจากพัฒนาการของเด็กในแต่ละด้านก็ถือเป็นสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการให้ไปเหมาะสมตามช่วงวัย
ซึ่งสำหรับพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อของลูกก็ถือเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยสังเกตว่ากล้ามเนื้อของลูกน้อยนั้นปกติหรือไม่ เพราะพัฒนาการของกล้ามเนื้อของลูกนั้นจะเริ่มจากศีรษะไปจนถึงปลายเท้าเลย เช่น เริ่มจากการชันคอ นั่ง คลาน ยืน และเดิน เป็นต้น ดังนั้น ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่นั้นสงสัยว่าลูกน้อยมีพัฒนาการกล้ามเนื้อคอล่าช้าหรือไม่ มาตามไปดูคำตอบในบทความนี้กันเลยครับ
ลูกคอแข็งช้าเกิดจากอะไรได้บ้าง?
สำหรับการที่ทารกนั้นคอแข็งช้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุมาก ๆ เลยครับ หากคุณแม่คนไหนยังไม่แน่ใจว่าลูกน้อยนั้นมีความผิดปกติว่าคอแข็งช้าหรือไม่ลองมาพิจารณาสาเหตุเหล่านี้กันดูนะครับว่าเข้าข่ายหรือไม่ โดยสาเหตุหลัก ๆ ก็จะมีอย่างเช่น มีการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผิดปกติ เช่น ตาบอด หรือหูหนวก เป็นต้น, มีความบกพร่องในการควบคุมการเคลื่อนไหว และคุณพ่อคุณแม่นั้นขาดความใส่ใจต่อพัฒนาการลูกน้อย ขาดการกระตุ้นในการสร้างกิจกรรมให้ลูกได้ฝึกการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อคอ เป็นต้น
เด็กคอแข็งกี่เดือน?
ปกติแล้ว พัฒนาการของทารกนั้น จะเริ่มค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ในวัยแรกเกิด จนเมื่ออายุได้ 3 เดือน กล้ามเนื้อคอก็จะเริ่มแข็งแรงดี และนอกจากกล้ามเนื้อคอแล้ว ยังมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่อื่น ๆ ที่พัฒนาควบคู่กันไปด้วย โดยพัฒนาการของกล้ามเนื้อโดยทั่วไปของเด็กทารกสามารถแบ่งได้เป็นช่วงเวลาคร่าว ๆ ดังนี้
- เมื่ออายุได้ 1 เดือน : ทารกเริ่มยกศีรษะได้ชั่วขณะ เพราะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง ช่วงนี้คุณแม่ต้องอุ้มทารกน้อยอย่างระมัดระวัง และควรประคองคอเป็นพิเศษ
- เมื่ออายุได้ 2 เดือน : ทารกเริ่มนอนคว่ำ และยกศีรษะชันคอได้ 45 องศา
- เมื่ออายุได้ 3 เดือน : ทารกสามารถนอนคว่ำ และยกศีรษะชันคอได้ 90 องศา
- เมื่ออายุได้ 4 เดือน : กล้ามเนื้อไหล่ คอ หลัง และสะโพกแข็งแรงขึ้น และสามารถชันคอได้นานขึ้น และสามารถยันตัวขึ้นด้วยปลายแขน
- เมื่ออายุได้ 5 เดือน : ทารกในช่วงวัยนี้สามารถใช้มือยันตัวขึ้น ข้อศอกเหยียดตรงขณะที่นอนคว่ำได้ เมื่อคุณแม่จับทารกน้อยในท่านั่งศีรษะจะตั้งตรงไม่ห้อยหรือคอพับคออ่อน
- เมื่ออายุได้ 5 เดือน : ทารกเริ่มนั่งได้โดยการโน้มตัวไปข้างหน้าและใช้มือยันได้แล้ว
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกวัยคว่ำ หัดพลิกคว่ำพลิกหงาย วัยอันตรายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
เคล็ดลับช่วยพัฒนากล้ามเนื้อคอ
- อุ้มลูกนั่งบนตักของคุณแม่ โดยให้หลังของลูกอยู่ห่างจากลำตัวของคุณแม่เล็กน้อย หรืออุ้มลูกโดยใช้ท่าอุ้มแบบอุ้มมือเดียว โดยใช้มือข้างหนึ่งของคุณแม่ประคองตรงช่วงหน้าอกของลูกไว้ เพราะการอุ้มนั่งหรืออุ้มท่าอุ้มมือเดียวจะช่วยให้กล้ามเนื้อคอ และหลังของลูกแข็งแรงขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่ากล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นพิเศษนะครับ
- อุ้มลูกขึ้นพาดบ่า โดยใช้มือประคองบริเวณลำคอด้านหลัง และพาลูกเดินระยะใกล้ ๆ ให้ลูกมองเห็นวัตถุที่น่าสนใจในระยะ 1 ฟุต เพื่อให้ลูกได้พยายามขยับศีรษะ และใช้สายตามอง
- ใช้ของเล่นสีสดใส และมีเสียงมาเล่นกับลูก ให้ลูกมองและหัน เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อคอ
- ค่อย ๆ จับลูกนอนคว่ำคร่อมขาที่เหยียดตรงของคุณแม่เพื่อฝึกชันคอ
- ลองให้ลูกนั่งเก้าอี้สูงสำหรับทารกดูนะครับ และจะต้องเป็นเก้าอี้ที่มีสายรัดแน่นหนา การฝึกนั่งเก้าอี้จะช่วยฝึกให้ทารกนั้นพยุงตัวเองให้ตั้งตรงได้อัตโนมัติ และกระตุ้นให้มีการฝึกตั้งศีรษะร่วมด้วยครับ
- การอุ้มลูกไว้ด้วยเป้สำหรับใส่ทารกก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อบริเวณคอได้เช่นกันครับ อุ้มสะพายข้างหน้า หรือข้างหลังก็ได้นะครับ เมื่อทารกสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ก็จะไปกระตุ้นให้ทารกนั้นมองสิ่งต่าง ๆ และเริ่มที่จะหันทั้งซ้ายขวามากยิ่งขึ้นแต่ก่อนที่จะใช้งานเป้อย่าลืมตรวจสอบอุปกรณ์เป้ว่าล็อกแน่นหนาหรือไม่ด้วยนะครับ เพื่อความปลอดภัย
ลูกคอแข็งช้าผิดปกติไหม?
สำหรับเด็กบางคนที่คอแข็งช้า ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกน้อยอาจจะมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าปกติ หรือลูกอาจมีปัญหาด้านกล้ามเนื้อ หรือระบบประสาทได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอหากลูกมีอาการ ดังนี้
- เมื่ออายุได้ 3 เดือนแล้ว ลูกยังไม่สามารถยกศีรษะให้พ้นพื้นได้
- เมื่ออายุได้ 4 เดือน แล้วจับนอนคว่ำ ลูกไม่ยอมยกศีรษะ หรือชันคอขึ้น หรือดึงลูกขึ้นมานั่งจากท่านอนหงายแล้วลูกไม่สามารถควบคุมศีรษะได้
ข้อควรระวังในช่วงที่ทารกยังคอไม่แข็ง
- สำหรับเวลาที่จับลูกเรอ ควรที่จะประคองลำคอ และศีรษะของทารกเอาไว้ตลอดนะครับ เพื่อป้องกันเวลาที่ศีรษะนั้นเกิดการโอนเอน
- และถ้าหากทารกนั้นยังคอไม่แข็งเวลาอุ้มทารก หรือจะวางลูกลงบนเบาะนอน แนะนำให้สอดมือหนึ่งข้างไปที่บริเวณหัวไหล่เพื่อยกประคองศีรษะ และลำคอ และใช้มืออีกข้างประคองที่กันนะครับ
- เนื่องจากทารกนั้นยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณคอได้ เวลาที่ทารกนั้นนั่งคาร์ซีท, รถเข็นเด็ก หรืออุปกรณ์สำหรับให้นั่งต่าง ๆ แนะนำให้ปรับให้มีความเหมาะสม ไม่ควรเอนตัวโน้มไปข้างหน้ามากเกินไป หรือเอนไปข้างหลังมากเกินไปครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง : กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มีกิจกรรมอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้ เกี่ยวกับ เด็กคอแข็งกี่เดือน เด็กคอแข็งช้าเกิดจากอะไร รวมถึงเคล็ดลับที่จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อคอ หวังว่าจะคลายข้อข้องใจ และเป็นประโยชน์ให้สำหรับทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกคอแข็งเร็วกว่าปกติ ก็ต้องสงสัยว่ามีปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งผิดปกติ ทำให้ดูเหมือนเด็กคอแข็งเร็ว นอกจากนี้ยังอาจจะมีกล้ามเนื้อส่วนอื่นที่เกร็งด้วย เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น ซึ่งควรได้รับการตรวจประเมินจากคุณจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีนะครับ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เล่นอย่างไร ให้ลูกหัวไว ในช่วงขวบปีแรก
ลูกฉี่แบบไหนผิดปกติ ลูกฉี่สีไหนอันตราย เสี่ยงโรคร้ายที่พ่อแม่ไม่เคยรู้
ลูกนอนหนุนหมอน และผ้าห่มได้เมื่อไหร่ ทารกคออ่อนนอนหมอนได้ไหม?