พ่อแม่มือใหม่ อุ้มลูก ไม่ให้เก้ๆ กังๆ อุ้มท่าไหนถึงจะดี

การเป็นพ่อแม่มือใหม่นั้นจะมาพร้อมกับความเหน็ดเหนื่อย ความเจ็บปวดที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะจากการฟื้นตัวหลังคลอดและความเจ็บจากการให้นมจากเต้าลูก และสำหรับคุณพ่อที่ไม่ได้เป็นคนคลอดหรือให้นมลูกก็ตาม ก็จะพบเจอกับความรู้สึกนี้เช่นกัน

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ต้องเตรียมรับมือกับการเลี้ยงลูกในหลายเรื่อง อย่าลืมที่จะซ้อมท่า “ อุ้มลูก ” ไว้ด้วย เพราะถ้าระเบียบท่าไม่ถูก การอุ้มลูกแบบเก้ ๆ กัง ๆ นั้นอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บร้ายแรงของคอ, หลัง และข้อมือได้ของคุณพ่อคุณแม่เองได้

อุ้มลูก ไม่ให้เก้ๆ กังๆ อุ้มอย่างไรให้ถนัดสุด

เรื่องละเอียดอ่อนอย่างการอุ้มเบบี๋นั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามสำหรับตัวพ่อแม่ไปไม่ได้นะคะ เพราะปัญหาเจ็บ ๆ ปวด ๆ โดยทั่วไปของพ่อแม่มือใหม่อาจเกิดได้จากการอุ้มลูกที่ไม่ถูกท่า ซึ่งก็เหมือนกับการทำงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้องซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบของเส้นเอ็นหัวมือตรงบริเวณข้อมือได้

Stephanie Leaf  นักกายภาพบำบัดผู้เชียวชาญด้านปัญหาการบาดเจ็บหลังคลอด ได้แนะนำว่าวิธีหลีกเลี่ยงหรือรักษาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อมือจากการอุ้มลูกน้อยคือ

  • เวลาที่อุ้มลูกอย่าใช้มือและนิ้วมือของไปโอบรอบตัวทารก เพราะหากข้อมืออยู่ในองศาที่ชันเกินไป มันจะไปกดทับเอาเส้นประสาทของนิ้วหัวแม่มือและข้อมือได้ การที่เกิดแรงกดซ้ำ ๆ ที่บริเวณดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือได้
  • เวลาที่ยืนอุ้มลูกนั้น ควรยืนให้สะโพกและเชิงกรานอยู่ในแนวเดียวกับร่างกาย เพราะถ้ายืนให้น้ำหนักสะโพกเอนไปทางด้านใดทางด้านหนึ่ง ก็จะทำให้สะโพก, หลัง และคอนั้นไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
  • อุ้มลูกโดยหงายแขนให้อยู่ในลักษณะที่แบนราบเพื่อประคองทารกน้อย แต่ให้ใช้ความแข็งแรงของทั้งร่างกายในการรับน้ำหนักลูก ไม่ใช่แค่เอามือและข้อมือโอบตัวทารกเข้าหาตัว
  • Rachel Foley นักบำบัดด้านเด็ก ได้แนะนำว่า อย่าได้อุ้มลูกโดยที่นิ้วหัวแม่มือทำมุม 90 องศากับมือ แล้วสอดเข้าใต้รักแร้ลูกเพื่อยกตัว แต่ให้ใช้มือและนิ้วหัวแม่มือของคุณอยู่ในลักษณะที่แบนราบแล้วช้อนลูกจากใต้ศีรษะและหลัง

นอกจากนี้การอุ้มลูกไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้พ่อแม่เกิดเจ็บปวดบริเวณข้อมือเพียงอย่างเดียว แต่พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์ที่ขาดไม่ได้ในยุคนี้ ซึ่งต้องใช้นิ้วหัวแม่มือคอยเลื่อนหน้าจอขึ้น ๆ ลง ๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดกับข้อมือและนิ้วหัวแม่มือได้ ดังนั้นแล้วในขณะที่จำเป็นต้องคอยอุ้มลูกอยู่แทบจะทั้งวัน จึงควรที่จะจำกัดการใช้โทรศัพท์ให้มากขึ้นอีกนิด เพราะเรื่องเล็ก ๆ ที่คิดไม่ถึงก็อาจนำไปสู่อาการเจ็บปวดร้ายแรงในกรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือต้องผ่าตัด แน่นอนว่า การเลี้ยงลูกสามารถช่วยสลับกันดูแล ผลัดกันอุ้มลูกได้ เพื่อให้คุณแม่ได้มีโอกาสพักผ่อนให้มากที่สุด หรือไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องมีอาการปวดจากการอุ้มลูกไปก่อนนะคะ.

ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องและปลอดภัย

ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องลองดูซิว่า คุณแม่จะถนัดท่าไหนมากที่สุด

1.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องอุ้มพาดบ่า (Shoulder hold)

ท่านี้จัดเป็นท่าอุ้มที่ดูธรรมชาติที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อย

  • อุ้มให้ร่างเจ้าตัวน้อยขนานไปกับร่างกายคุณแม่ ยกทารกสูงถึงระดับหัวไหล่
  • ประคองศีรษะและคอลูกหนุนอยู่ตรงหัวไหล่ ส่วนมืออีกข้างรองก้นไว้

ท่านี้จะทำให้ลูกได้ยินเสียงเต้นของหัวใจของคุณแม่ได้ชัดเชียวล่ะ

2.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องท่าอุ้มไกวเปล (Cradle Hold)

ท่าอุ้มนี้ดูง่ายที่สุด และทำให้ลูกน้อยนอนหลับง่ายที่สุดเมื่อถูกอุ้มในท่านี้

  • อุ้มเจ้าตัวน้อยขนานไปกับลำตัวของคุณแม่ในระดับอก ให้ศรีษะลูกหนุนอยู่บนข้อศอก ส่วนอีกมือหนึ่งรองก้นและสะโพกของลูก
  • อุ้มให้ลูกน้อยได้เข้ามาใกล้กับตัว ค่อย ๆ ไกวลูกในอ้อมกอดอย่างช้า ๆ นี่คือท่าเพื่อกล่อมให้ลูกนอนหลับได้อย่างรวดเร็ว

3.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องท่าอุ้มนอนคว่ำ (Belly Hold)

ท่านี้น่าจะเหมาะสำหรับคุณพ่อ ที่มีกำลังท่อนแขนแข็งแรง คุณจะรู้สึกว่าเจ้าหนูจะชื่นชอบกับการอุ้มในท่านี้แน่

  • วางลูกนอนโดยให้หน้าท้องของหนูน้อยอยู่บนท่อนแขน และให้หัวลูกหันไปทางข้อศอก
  • ปล่อยให้เท้าทั้งสองข้างของเบบี๋คร่อมอยู่บนมือข้างที่ใช้ประคอง
  • ส่วนมืออีกข้างวางไว้บนหลังของเจ้าตัวน้อยเพื่อที่จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย
  • ท่านี้จะช่วยทำให้ลูกเรอได้ด้วยนะ คุณอาจจะใช่ท่านี้หลังให้นม ลูบไปที่หลังเบา ๆ เพื่อให้หนูน้อยเรอออกมา

4.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องอุ้มเข้าเอว (Hip Hold)

คุณแม่สามารถอุ้มลูกน้อยกระเตงเข้าเอวได้ เมื่อเจ้าตัวน้อยนั้นอายุเกิน 3 เดือน และมีศีรษะและคอที่แข็งแล้ว

5.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องอุ้มหันหน้าเข้าหากัน (Face-To-Face Hold)

ท่าอุ้มนี้จะช่วยให้แม่ลูกมีปฏิสัมพันธ์กัน ลูกน้อยจะได้มองเห็นหน้าคุณแม่ในขณะที่ถูกอุ้มด้วย

  • ประคองศีรษะและคอของเบบี๋ด้วยมือข้างหนึ่ง
  • ใช้มืออีกข้างหนึ่งช้อนรองที่ก้น
  • อุ้มให้ลูกน้อยหันหน้ามาทางคุณโดยให้ช่วงล่างของลูกเกาะอยู่ต่ำกว่าระดับอกคุณแม่
  • คุณแม่จะใช้ท่านี้ชวนลูกคุย ทำหน้าตลอด หยอกล้อ ยิ้มและเล่นสนุกกับลูกอย่างมีความสุขทีเดียว

6.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องท่าเก้าอี้ (Chair Hold) หรือท่าอุ้ม “สวัสดีชาวโลก”

ท่าอุ้มที่จะช่วยให้เจ้าหนูมองเห็นอะไรรอบตัวของเขาได้มากขึ้น เหมือนกำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้

  • อุ้มให้ลำตัวและหลังของลูกชิดอยู่บนหน้าอก เพื่อช่วยในการประคองศีรษะของลูกน้อยด้วย
  • ใช้มือโอบรัดตัวลูกเพื่อป้องกันไม่ให้เอนไปมา
  • ส่วนมืออีกข้างก็ช้อนรองใต้ก้นเอาไว้ เพื่อให้ลูกมีความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย

คุณแม่สามารถใช้ท่านี้ในขณะที่นั่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มือประคองก้นลูก และยังไม่ควรใช้ท่านี้อุ้มทารกที่อายุต่ำกว่า 3 เดือนนะคะ

7.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Football Hold)

ท่าอุ้มนี้เหมาะสำหรับการให้นมลูก คุณแม่สามารถอุ้มลูกในท่านี้ในขณะที่ยืนหรือนั่งก็ได้

  • มือแม่ประคองที่ต้นคอและท้ายทอยของลูกและรองหลังลูกด้วยแขนข้างเดียวกัน
  • ส่วนมืออีกข้างช้อนก้นและประคองหลังเอาไว้เพื่อคอยจัดตำแหน่งศีรษะและคอของลูก
  • เจ้าตัวน้อยจะนอนยาวไปตามท่อนแขนและขาเหยียดตรงไปทางด้านหลัง
  • ขยับลูกน้อยให้ชิดแนบอกเพื่อความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
  • ในขณะที่คุณแม่ให้นม ก็เพียงพยุงลูกให้อยู่ในท่านี้

8.ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องท่าอุ้มวางตัก (Lap Hold)

เป็นท่าที่คุณแม่สามารถใช้ป้อนนมขวดให้ลูกน้อยได้ ในท่าที่วางลูกอยู่บนตัก

  • วางเจ้าตัวน้อยลงบนตักคุณแม่
  • ใช้มือทั้งสองข้างประคองไว้ใต้ศีรษะลูก โดยให้วางอยู่ใกล้กับหัวเข่า
  • อย่าลืมที่จะให้แขนทั้งสองข้างของคุณแม่โอบลำตัวลูกไว้เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยนะคะ

 

8 ท่าอุ้มทารกที่ถูกต้องในแต่ละท่าที่ใช้นั้น ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็กด้วยนะคะ สำหรับทารกแรกเกิดนั้นการต้องประคองศีรษะและคอนั้นเป็นสิ่งสำคัญ จนกว่าลูกจะอายุประมาณ 3-4 เดือน ที่มีพัฒนาการควบคุมกล้ามเนื้อศีรษะและคอได้ดีแล้ว พอที่จะอุ้มลูกในท่านั่งได้ และเมื่อคุณแม่อุ้มลูกควรทำตัวให้สบาย ๆ อย่าไปเกร็งนะคะ รวมไปถึงความมั่นใจที่จะอุ้ม คุณแม่อาจจะรู้สึกกลัว ๆ กล้า ๆ ในครั้งแรก แต่เวลาจะช่วยคุณแม่ทำให้ดีขึ้นได้ค่ะ


ที่มา : www.offspring.lifehacker.com

บทความใกล้เคียงที่น่าสนใจ :

รักต้องอุ้ม อุ้มลูกบ่อยๆ อย่าไปกลัวลูกติดมือ ให้ลูกติดสิดี ถ้าลูกไม่ยอมให้แม่อุ้มซิ..ใจหาย

คุณหมอเตือน อุ้มลูกผิดวิธี ระวังลูกข้อหลุด กระดูกเสื่อม

บทความโดย

Napatsakorn .R