อาหารทารกหลัง 6 เดือน
การเริ่มอาหารตามวัยของทารก อาหารทารกหลัง 6 เดือน ไอเดียเมนูอาหาร สำหรับทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป
การเริ่มอาหารตามวัยของทารกหลัง 6 เดือน
เมื่อทารกน้อยอายุครบ 6 เดือนแล้วการทานนมเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรให้อาหารตามวัยที่เหมาะสมแก่ลูก โดยเริ่มทานอาหารตามวัยที่อายุ 6 เดือนวันละเพียง 1 มื้อก่อน ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น จนเมื่อทารกอายุ 8 เดือน ควรได้อาหารตามวัยเพิ่มเป็นวันละ 2 มื้อ และเมื่ออายุ 10-12 เดือน ควรได้อาหารตามวัยวันละ 3 มื้อเหมือนกับผู้ใหญ่ โดยที่อาหารแต่ละมื้อจะทดแทนนม 1 มื้อนั่นเอง
หมอขอสรุปไอเดียง่ายๆ 7 ข้อ เกี่ยวกับอาหารตามวัยของทารกน้อย 6 เดือนขึ้นไป ดังนี้นะคะ
1.ควรเริ่มจากอาหารทีละอย่างก่อนและสังเกตอาการแพ้อาหาร หากทารกไม่แพ้อาหารนั้น ๆ ก็สามารถเริ่มลองทานอาหารชนิดใหม่ ในทุก ๆ 3-5 วัน หากมีความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร เช่น มีประวัติการแพ้อาหารในครอบครัว ก็อาจเริ่มจากอาหารที่มีโอกาสแพ้ได้น้อยก่อน
ส่วนอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพ้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง และอาหารทะเล ควรเริ่มหลังจากที่ทานอาการต่าง ๆ ที่ไม่แพ้บ่อย ได้เรียบร้อยแล้วค่ะ
2.ให้ทารกเริ่มทานอาหารที่บดละเอียดก่อน และเมื่อกินได้ค่อยเพิ่มความหยาบมากขึ้น โดยอาหารที่ให้ทารกอายุ 6 เดือนควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียด ใช้การบดเพื่อให้กลืนได้ง่ายจะดีกว่าอาหารปั่น ซึ่งทารกจะไม่ได้ฝึกทักษะการเคี้ยวและกลืนเมื่อสามารถเคี้ยวและกลืนได้ดี จึงค่อยเพิ่มความหยาบของอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องบดให้ละเอียดมากเพื่อให้ทารกมีความคุ้นเคยกับอาหารที่เป็นชิ้นเล็ก ๆ
เมื่อทารกอายุ 12 เดือนขึ้นไปสามารถทานอาหารได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่โดยเลือกชนิดที่เคี้ยวง่าย นิ่ม ชิ้นไม่ใหญ่เกินไป และรสไม่จัด โดยเมื่อลูกอายุ 2 ปีขึ้นไปก็สามารถทานอาหารได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่แล้วค่ะ
3.ควรให้ทารกทานอาหารรสธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งด้วยเครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำผึ้ง หรือผงชูรส โดยไม่ทานอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด หรือมันจัด เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคฟันผุ ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ได้นะคะ
4.ทารกควรได้ทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ในแต่ละมื้อ ให้ทานเนื้อสัตว์ทุกวันเพื่อให้จะได้รับโปรตีนและธาตุเหล็กที่เพียงพอจากเนื้อหมู ไก่ ปลา ตับและเลือด รวมถึงให้ทานผักและผลไม้ที่หลากหลายทุกวัน
โดยเริ่มจากผักใบเขียวก่อน เพราะมีโอกาสแพ้ได้น้อยกว่า เช่น ผักบุ้ง ตำลึง ผักกาดขาว แล้วจึงตามด้วยผักสีเหลืองส้ม เช่น ฟักทอง แครอท เป็นต้น
5.ทารกอายุ 6 ถึง 8 เดือน อาจให้ทานข้าวสวยมื้อละประมาณ 4 ช้อนทานข้าว (1 ช้อนทานข้าว = 1 ช้อนโต๊ะ) ต้มกับน้ำแกงจืดหรือน้ำซุปประมาณครึ่งถ้วยตวง ใส่ผักที่อ่อนนุ่ม 1 ถึง 2 ช้อนทานข้าว และอาหารที่มีโปรตีนสูง ในรูปแบบที่อ่อนนุ่มง่าย ได้แก่ ไข่แดง ตับ เต้าหู้อ่อน สลับกันไป ตัวอย่างเมนูอาหารเช่น ข้าวบดตับไก่ใส่เต้าหู้-ตำลึง เป็นต้น
ทารกอายุ 9-11 เดือนสามารถให้ทานอาหารตามวัยเป็นข้าวสวย 4 ช้อนทานข้าว ต้มกับน้ำแกงจืดหรือน้ำซุปประมาณครึ่งถ้วยตวง ใส่ผักที่อ่อนนุ่ม 2 ช้อนทานข้าว และอาหารที่มีโปรตีนเข้มข้น เช่น ไข่ ตับ เลือด หมูสับหรือบดประมาณ 1-2 ช้อนทานข้าว ตัวอย่างเมนู เช่น ข้าวต้มไข่-ตำลึง-หมูสับ เป็นต้น
เมื่ออายุครบ 1 ปีขึ้นไป สามารถให้เริ่มทานข้าวสวยได้แล้วนะคะ อาจให้ทานครั้งละประมาณ 6 ช้อนทานข้าว หรือ 1 ทัพพี กับอาหารผัดหรือทอด ต้มจืด อาหารที่มีโปรตีนสูงประมาณ 3 ช้อนทานข้าวหมุนเวียนกัน ไปใส่ผักใบเขียวหรือเหลืองส้ม 1-2 ชนิดประมาณ 3-4 ช้อนทานข้าว ตัวอย่างเมนู เช่น ข้าวผัดไข่-แกงจืดผักหวาน เป็นต้น
6.ควรป้อนอาหารทารกด้วยความนุ่มนวล สังเกตว่าทารกหิว หรืออิ่ม อย่างไรและป้อนอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของทารก คอยกระตุ้นให้ทารกทานอาหารแต่ไม่ควรบังคับ หรือป้อนนานจนเกินไป และงดสิ่งดึงดูดความสนใจขณะที่ทานอาหาร เช่น โทรทัศน์ หรือของเล่น ฝึกให้ทารกนั่งทานอาหารที่โต๊ะอาหารประจำ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ขณะที่ป้อนอาหารควรสบตาและพูดคุยกับทารกตลอดเวลา เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความรักกับทารกนะคะ
7.ข้อควรระวังในการให้อาหารของทารกคือ
- ไม่ควรให้อาหารที่เป็นเม็ด เช่น ถั่ว เพราะอาจสำลักได้
- ไม่ควรให้ทารกดื่มน้ำผลไม้เกิน 2-4 ออนซ์ต่อวัน
- หลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบ ขนมซอง น้ำหวาน น้ำอัดลม และอาหารปรุงรสต่าง ๆ ทุกชนิด
ไอเดียอาหารทารกหลัง 6 เดือน ต่าง ๆ ทั้ง 7 ข้อที่หมอเล่ามานี้ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเริ่มอาหารตามวัยของทารกน้อยนะคะ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับลักษณะอาหารที่เริ่มได้ตามความเหมาะสมในแต่ละบ้านและสุขภาพของลูก เช่น หากลูกแพ้ไข่ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรเริ่มอาหารที่มีส่วนผสมของไข่จนกว่าลูกจะหายแพ้ แต่ก็สามารถให้ลูกทานอาหารตามวัยที่มีคุณค่าอาหารทดแทนไข่ได้ เช่น เนื้อสัตว์ ตับ เลือด และวิตามินจากแหล่งอาหารอื่น ๆ เป็นต้นค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีฝึกลูกเดิน พัฒนาการทารก เดินได้ตอนไหน สอนลูกเดิน หัดลูกเดินอย่างไร ฝึกให้ลูกเดินได้เร็วๆ
พาลูกกินข้าวนอกบ้าน การเตรียมตัวพาลูกน้อยทานข้าวนอกบ้าน ทำอย่างไรให้แฮปปี้ไปทั้งครอบครัว
ลูกสําลักอาหาร ปฐมพยาบาล อย่างไร ป้อนอาหารเด็กเล็ก ต้องระวัง! อาหารอันตราย
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก พัฒนาการเด็ก ทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี