อาการฟื้นตัวหลังคลอดต้องเป็นแบบนี้!!
1. อาการหลังผ่าตัดคลอด
ที่กล่าวถึงอาการหลังผ่าตัดคลอดเพราะมีกระบวนการดูแลหลายอย่างมากกว่าคลอดธรรมชาติ เพราะการคลอดแบบธรรมชาติจะทำให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว จึงขอกล่าวถึงอาการหลังผ่าตัดคลอดก่อนนะคะ
– หลังผ่าตัดคลอดแล้วคุณหมอจะให้งดน้ำ งดอาหารต่อไปอีก 24 ชั่วโมง เนื่องจากลำไส้จะหยุดทำงานไปไปชั่วขณะหลังการผ่าตัด
– ในช่วงหลังผ่าตัดคุณแม่จะได้น้ำ เกลือแร่และพลังงานต่าง ๆ จากน้ำเกลือ เข้าทางเส้นเลือดโดยตรงแบบไม่ต้องย่อย ไม่ต้องเคี้ยวกันเลยค่ะ
– หลังจาก 24 ชั่วโมงไปแล้ว คุณแม่จะเริ่มจิบน้ำได้ แต่ต้องค่อย ๆ จิบนะคะ หากดื่มแบบกระหายมาก ๆ คุณแม่อาจจะเกิดอาการจุกแน่นได้ และอาจทำให้อาเจียนออกมาหมด
– มื้อต่อไปคุณแม่จะได้เริ่มทานน้ำข้าว น้ำซุปหรือน้ำหวาน จนมื้อสุดท้ายของวันที่สองนี้แหละค่ะที่จะได้ทานอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นโจ๊กหรือข้าวต้ม
– ที่สำคัญคือ เมื่อคุณแม่ทานอาหารเสร็จแล้วอย่าเพิ่งนอนนะคะ ต้องนั่งพักหรือพยายามลุกเดินไปเดินมาสักครึ่งชั่วโมง เพื่อให้ลมที่อยู่ในท้องได้เรอออกมา ซึ่งในช่วงนี้ในท้องจะมีลมระบายออกมาเรื่อง ๆ ทั้งเรอ ทั้งผายลมอีกหลายวันค่ะกว่าจะหายแน่นท้อง
บทความแนะนำ TOP 10 ปัญหาหลังคลอดที่หมอสูติอยากบอก
2. แผลต้องไม่อักเสบ
ตามปกติแล้วหลังผ่าคลอดแผลต้องหายดี คือ เจ็บน้อยลงเรื่อย ๆ แต่บางครั้งลุกเดินก็มีเจ็บขึ้นมาบ้าง สีของผิวหนังบริเวณรอบ ๆ แผล ต้องดูเหมือนสีเนื้อปกตินะคะ แผลต้องไม่บวมแดงหรือเจ็บมากกว่าเดิม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น แผลอักเสบแน่นอนค่ะ ตามปกติการอักเสบมักจะเกิดภายใน 3 วันแรก เลยจากนี้ไปไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการอักเสบของแผลผ่าคลอดแล้วค่ะ
บทความแนะนำ ดูแลแผลผ่าคลอดอย่างถูกวิธี
3. ต้องไม่ปวดมดลูกมากกว่าเดิม
– หลังผ่าคลอดใหม่ ๆ มดลูกที่อยู่ในท้องน้อยจะบีบตัวเกร็งแข็ง ยิ่งบีบจะยิ่งเจ็บ แต่ยิ่งบีบแสดงว่ามดลูกกำลังเข้าอู่
– แต่สิ่งที่หมอสูติฯ กังวลมากที่สุดคือ อาการตกเลือดหลังคลอด แต่ถ้ามดลูกยิ่งบีบตัวมากเท่าไร อาการตกเลือดหลังคลอดจะลดน้อยลงตามไปด้วย
– เมื่อมดลูกเริ่มแข็งตัวดีขึ้นแล้ว มดลูกจะหดตัวเล็กลงวันละ 1 นิ้วมือ ยิ่งทารกดูดนมแม่ จะยิ่งทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น สังเกตได้จากเมื่อลูกดูดนม มดลูกจะบีบตัวคุณแม่จะรู้สึกเจ็บขึ้นมามากกว่าปกติ
– ภายใน 14 วัน มดลูกจะเล็กลงจนหดเข้าไปในอุ้งเชิงกราน จนคลำหาไม่เจอทางหน้าท้องแล้วค่ะ
บทความแนะนำ รู้ได้อย่างไรว่ามดลูกเข้าอู่แล้ว
4. น้ำคาวปลาต้องน้อยลง
– น้ำคาวปลาหลังคลอด ต้องน้อยลงเรื่อย ๆ ในช่วงสามวันแรกจะเป็นเลือดสีสด ๆ คล้ายประจำเดือน ต่อมาจะเริ่มจางลงเรื่อย ๆ จนวันที่ 10 จะเริ่มใส 14 วันควรจะหมดแล้ว
– ขณะที่คุณแม่นอนอยู่บนเตียงอาจจะรู้สึกว่าน้ำคาวปลาไม่ค่อยไหล แต่พอลุกขึ้นมาจากเตียงไหลเป็นทาง หรืออาจจะมีเลือดหลุดเป็นก้อนออกมา ไม่ต้องตกใจค่ะ เพราะขณะที่นอนบนเตียงช่องคลอดจะตั้งขึ้น ทำให้เลือดคั่งค้างอยู่ในโพรงมดลูก ปริมาณที่ขังไว้อาจจะถึง 1 แก้วใหญ่ ๆ ทีเดียวค่ะ พอลุกขึ้นมาเท่านั้นแหละเลือดที่ขังอยู่นี้ก็จะไหลออกมาเป็นเทน้ำเทท่า พอไหลออกมามาก ต่อ ๆ ไปก็จะไหลน้อยลงไปเอง
– ปกติแล้วคุณแม่ที่ผ่าคลอดน้ำคาวปลาจะออกน้อยกว่า หมดเร็วกว่าปกติ สำหรับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ เยื่อบุต่าง ๆจะหลุดออกมาเองตามธรรมชาติเช่นกัน น้ำคาวปลาจึงออกมานานกว่า เพราะกรณีผ่าคลอดคุณหมอจะเช็ดทำความสะอาดในโพรงมดลูก ถูจนเกลี้ยงทีเดียวจนโพรงมดลูกเรียบลื่น จึงไม่จำเป็นต้องไปกินยาขับน้ำคาวปลาใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะคุณหมอเช็ดทำความสะอาดหมดแล้วก็คงไม่มีน้ำคาวปลาออกมาค่ะ อาจจะเกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่เองมากกว่าหากไปทานยาขับน้ำคาวปลา
5. ลุก- นั่งยังไงไม่เจ็บแผล
วันแรกหลังคลอดคุณแม่ต้องนอนพักอยู่บนเตียงเท่านั้น จนวันที่สอง ที่สามถึงจะเริ่มลุกเดินได้บ้าง ระหว่างที่พักฟื้นอยู่โรงพยาบาลมีเคล็ดลับนิดหน่อยที่จะทำให้คุณแม่ไม่เจ็บแผลมากเกินไป ช่วยได้เยอะทีเดียวค่ะ คือ
– เตียงของโรงพยาบาลสามารถปรับหัวสูงต่ำได้ เวลาที่คุณแม่จะลุกขึ้นให้ปรับหัวเตียงสูงสักคืบ จะพักอยู่กี่วันหรือกี่คืนก็ให้ปรับเตียงสูงไว้นิด ๆ ตลอด เพราะเวลานอนราบหน้าท้องจะหย่อน แผลก็ไม่ตึงจะทำให้เจ็บน้อยลงหน่อยเพราะถ้านอนราบไปเลยแผลจะตึงทำให้เจ็บมาก
– เวลาจะลุกจากเตียงให้ตะแคงตัวลงเท่านั้น เพราะถ้าหงายงัดขึ้นแผลจะถูกรั้งเจ็บตึง
– เวลาจะนอนก็เอาก้นลงก่อนแล้วเอามือยันตัวตะแคงตัวลงนอน ตอนลุกก็ให้ตะแคงตัวก่อน ค่อย ๆ ยันตัวขึ้นมา ถ้าทำเช่นนี้รับรองว่าเจ็บน้อยลงค่ะ
– ปกติแล้วแผลผ่าตัดจะแห้งและเปิดแผลได้ภายใน 7 – 10 วัน คุณแม่จะเจ็บแผลมาก ๆ ในช่วง 3 – 4 วันแรกหลังจากนั้นจะไม่เจ็บมากแล้วและจุค่อย ๆ ทุเลาความเจ็บลงเรื่อย ๆ
ได้ทราบอาการหลังผ่าคลอดและอาการฟื้นตัวหลังคลอดกันแล้วนะคะ ขอให้คุณแม่ภูมิใจได้เลยค่ะ ว่าเราได้ทำหน้าที่ของผู้หญิงอย่างสมบูรณ์แบบในขั้นตอนหนึ่งของชีวิต แผลแค่นี้เดี๋ยวก็หายแล้วนะคะ ขอให้คุณแม่และคุณลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงในเร็ววัน
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
วารสาร วิชัยยุทธ ศูนย์สุขภาพสตรีและเด็ก
คู่มือดูแลคุณแม่หลังคลอด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชันแนล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทำอย่างไรเมื่อติดเชื้อหลังคลอด
การปฏิบัติตนหลังคลอดจากโรงพยาบาลจนถึงบ้าน