จำนวนครั้งในการขับถ่ายของเด็ก ๆ จะแตกต่างกัน ตามแต่ละช่วงวัย โดยเฉลี่ย ทารกอายุ 1 เดือนจะถ่าย 3 – 4 ครั้งต่อวัน และจำนวนครั้งจะค่อย ๆ ลดลง ผกผันกับอายุที่มากขึ้น จนเหลือวันละ 1 ครั้ง เมื่ออายุประมาณ 4 ขวบ
แต่หากคุณแม่พบว่า ลูกไม่ค่อยถ่ายอุจจาระ ถ่ายลำบาก หรือถ่ายไม่ออก ต้องรีบปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และขับถ่ายโดยด่วน ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจเป็น อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็ก ซึ่งจะแก้ปัญหายาก และต้องใช้เวลารักษานานขึ้น
ทำไมเด็กๆ ท้องผูกบ่อย ?
95% ของอาการท้องผูก เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการขับถ่ายของคุณหนู ๆ เด็กเล็กสามารถรับประทานเมนูอาหารที่หลากหลายได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่มักจะเลือกรับประทานแต่ของชอบ เช่น เนื้อสัตว์ ขนมปัง ขนมหวาน ไม่ยอมแตะผักและผลไม้เลย แถมยังดื่มน้ำน้อยเกินไปอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เด็กบางคนไม่กล้าเข้าห้องน้ำในโรงเรียน หรือห้องน้ำสาธารณะ พยายามอดกลั้นเอาไว้ จนอุจจาระสะสมตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ เมื่อทนไม่ไหว จึงค่อยเบ่งออก อุจจาระส่วนแรก ๆ จึงออกมาเป็นก้อนใหญ่ และแข็ง ทำให้ทวารหนักฉีก เป็นแผล และมีเลือดออก
บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำลูกพรุนสำหรับทารก ช่วยขับถ่าย ท้องผูก กินได้ตั้งแต่ตอนอายุเท่าไหร่?
อันตรายจาก อาการท้องผูกเรื้อรังในเด็ก
หากลูกท้องผูก แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ย่อมจะเกิดผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
-
ผลเสียต่อร่างกาย
อย่างแรกที่เห็นชัดก็คือ ขาดสารอาหาร น้ำหนักตัวน้อย การกลั้นอุจจาระเอาไว้นาน ๆ อาจจะเสี่ยงเป็นโรคร้าย เช่น ริดสีดวงทวาร มีติ่งเนื้อที่ทวารหนัก อักเสบ จนอาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด โรคลำไส้อุดตันที่เกิดจากลำไส้ไม่ยอมบีบตัว หรือมีอุจจาระตกค้างจนปวดท้องอย่างหนัก เสี่ยงลำไส้แตก และมะเร็งลำไส้ ซึ่งเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก เริ่มต้นจากการปวดท้อง จนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด
-
ผลเสียต่อจิตใจ
เด็ก ๆ ที่ชอบกลั้นอุจจาระ อาจจะเคยมีประสบการณ์กลั้นไม่ไหว สุดท้ายก็เลอะเปรอะเปื้อนกางเกง ส่งกลิ่นเหม็น รู้สึกอับอาย ขาดความมั่นใจในตัวเอง เด็กบางคนรู้สึกปวดท้องจากการท้องผูก แต่ไม่สามารถอธิบายให้พ่อแม่ หรือคุณครูเข้าใจได้ อาจเพราะกลัวการโดนสวนอุจจาระ ไม่อยากทานยาระบาย กลัวคุณหมอ กลัวโดนเพื่อนล้อ และอื่น ๆ ฯลฯ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ กลายเป็นเด็กที่ชอบโกหก หงุดหงิดง่าย และก้าวร้าวได้
ลูก 2 ขวบ ท้องผูก รู้ได้อย่างไร ? แบบไหนเรียกว่า ท้องผูก ?
เด็ก ๆ อาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับอาการท้องผูกอยู่หรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตเวลาที่ลูกเข้าห้องน้ำ ลูกนั่งนานไปไหม ลักษณะของขับถ่ายของลูกเป็นอย่างไร ทั้งสี และอาการสามารถบอกได้ว่าลูกท้องผูกหรือเปล่า
- ลูกขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อึของลูกเป็นก้อนใหญ่ และแข็ง
- มีอาการปวดท้อง
- ลูกรู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย
- มีอุจจาระติดที่กางเกงชั้นในของลูก
- อุจจาระของลูกมีเลือดปนออกมา
หากว่าลูกท้องผูก ยิ่งอึ ยิ่งรู้สึกเจ็บ ลูกอาจจะยิ่งหลีกเลี่ยงที่จะเข้าห้องน้ำ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหมั่นสังเกต หากลูกทำท่าทางเหมือนปวดท้อง บิดตัวไปมา อย่าให้ลูกกลั้นเอาไว้ เพราะจะยิ่งทำให้อึไม่ออก
กินอย่างไร ไม่เสี่ยงท้องผูก
1. รับประทานผักเยอะ ๆ
เมื่อลูกเริ่มทานอาหารอื่น ๆ ได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกได้รู้จักกลิ่น และรสชาติของผักหลาย ๆ อย่าง เช่น ฟักทอง มะเขือเทศ กวางตุ้ง ผักโขม โดยทำเป็นซุปผัก หรือปั่นผสมกับผลไม้ เพื่อให้ได้รสชาติที่ดียิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องรับประทานเป็นตัวอย่างให้ลูกด้วย
2. รับประทานผลไม้เป็นประจำ
คุณพ่อคุณแม่ควรจะปลูกฝังให้ลูกรับประทานผลไม้ด้วย หลังจากทานอาหารคาวแล้วต่อด้วยผลไม้ล้างปาก โดยเน้นผลไม้ที่มีกากใยสูง และไม่หวานมากนัก เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิล มะละกอ ชมพู่ ทำเป็นน้ำปั่น หรือน้ำผลไม้คั้นสด โดยให้มีเนื้อผลไม้ผสมลงไปด้วย ใยอาหารในผลไม้จะทำให้เนื้ออุจจาระอุ้มน้ำได้มากขึ้น ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง
3. ดื่มน้ำอุ่น ๆ ทุกเช้า
น้ำเปล่าช่วยให้อุจจาระนิ่ม ช่วยกระตุ้นลำไส้ และระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ผลักดันอุจจาระที่คั่งค้างอยู่ออกมาง่ายขึ้น
4. เลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงของหวาน
การรับประทานจุกจิก ระหว่างวัน ไม่ได้ทำให้เสียสุขภาพ แต่ควรจะเลือกของว่างที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงของหวานจำพวก ไอศกรีม ขนมถุง ขนมกรุบกรอบ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม ฯลฯ และเปลี่ยนมาดื่มน้ำผลไม้ โยเกิร์ต ธัญพืชอบแห้ง หรือนมอุ่น ๆ แทน เลือกนมชนิดย่อยง่าย อย่างเช่น การดื่มนมแพะ จะทำให้ลูกสบายท้อง ท้องไม่ผูก เพราะนมแพะมีโปรตีนที่ย่อย และดูดซึมได้ง่าย มีสัดส่วนของโปรตีนเบต้าเคซีนในปริมาณสูง
นอกจากนี้ในนมแพะยังมีโปรตีน CPP หรือ Casein Phosphopeptides ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแร่ธาตุสำคัญ อาทิ แคลเซียม แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และสังกะสี ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญนมแพะยังมี Prebiotics หรือใยอาหาร ซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงในระบบทางเดินอาหาร ช่วยปรับสมดุลลำไส้ให้ทำงานอย่างเป็นปกติอีกด้วย
5. รับประทานอาหารให้อิ่ม และมีประโยชน์
การรับประทานอาหาร และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่จะทำให้ลูกมีระบบขับถ่ายที่ดี ขณะรับประทานอาหาร ก็ควรจะรับประทานให้เต็มที่ หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน หรือดึงความสนใจ เช่น ทีวี แท็บแล็ต เกม กินไป วิ่งเล่นไป ลูกอาจจะอิ่มเร็ว หรือมีอาการท้องอืด จุก เสียด ซึ่งไม่เป็นผลดีกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ และระบบขับถ่าย เช่นกัน
นอกจากอาหารการกินแล้ว นิสัยการขับถ่ายก็จำเป็นที่จะต้องปรับ โดยฝึกให้ลูกขับถ่ายเป็นเวลาหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังอาหารมื้อใด มื้อหนึ่ง ปลูกฝังเรื่องสุขอนามัยที่ดี ฝึกความกล้าในการเข้าห้องน้ำสาธารณะ แต่ถ้าลูกยังมีอาการท้องผูกอยู่บ่อย ๆ ควรพาลูกไปให้คุณหมอช่วยวินิจฉัยอย่างละเอียด หากจำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรจะเป็นยาที่ได้รับการแนะนำจากคุณหมอ ห้ามซื้อยาระบายให้ลูกทานเองเด็ดขาด
ที่มา mayoclinic.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกกินยาก ไม่เจริญอาหาร ปัญหาสำคัญที่คุณแม่ควรแก้ไขตั้งแต่เนิ่น ๆ
ดีท็อกธรรมชาติช่วยลูกขับถ่ายง่ายสบายอารมณ์
ลูกท้องผูก ปัญหาใหญ่ที่พ่อและแม่ไม่ควรมองข้าม