อาการครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษ อันตรายไหม แม่ท้องไม่อยากเป็น มีวิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษได้ไหม แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) พบได้ร้อยละ 5-10 แม้ว่าความเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษจะไม่สูงมาก แต่เมื่อเป็นแล้วอาการรุนแรงก็จะนำไปสู่การเสียชีวิตของแม่ตั้งครรภ์และลูกในท้องได้ ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ สำหรับสาเหตุของครรภ์เป็นพิษยังไม่แน่ชัด แต่อธิบายได้ว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูงในระหว่างตั้งครรภ์ จึงส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่นทั่วร่างกาย สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ
สำหรับอาการครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์
อาการครรภ์เป็นพิษเป็นอย่างไร
- มือและเท้าบวมมากในขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น รวมถึงสมองบวม
- เจ็บจุกแน่นที่ลิ้นปี่หรือบริเวณชายโครงขวา เนื่องจากตับโตขึ้น หรือมีเลือดออกในตับ -เหนื่อยหอบ, หายใจลำบาก, นอนราบไม่ได้ เนื่องจากน้ำท่วมปอด
- หากมีเลือดออกในสมองอาจทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงการทำงานของหลายระบบอวัยวะอาจล้มเหลวจากครรภ์เป็นพิษ เช่น มีไตวาย ตับวาย เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งทารกในครรภ์จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยจะอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ทารกตัวเล็ก รกลอกตัวก่อนกำหนด จนอาจเสียชีวิตในครรภ์เช่นกัน
สำหรับอาการครรภ์เป็นพิษนั้น สามารถตรวจพบได้จากภาวะความดันโลหิตสูง โปรตีนรั่วในปัสสาวะ และปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่มีส่วนทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงและชนิดรุนแรง
วิธีป้องกันครรภ์เป็นพิษ
ถ้าแม่ท้องไม่อยากเจอกับอาการครรภ์เป็นพิษ ต้องลดความเสี่ยงดังนี้
- ฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
- ลดอาหารเค็ม อาหารมัน และกินอาหารที่มีโปรตีนเพิ่มขึ้น
- ดื่มน้ำให้มากกว่าหรือเท่ากับ 8 แก้วต่อวัน
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ยกเท้าสูงเวลานั่งหรือนอน
ภาวะครรภ์เป็นพิษเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
แม่ท้องมักจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ ทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งตัวแม่ท้องและทารกในครรภ์ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
ครรภ์เป็นพิษเสี่ยงต่อแม่ท้อง
- ชัก
- การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
- มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์
- ภาวะเลือดออกในสมอง
- น้ำท่วมปอด
ครรภ์เป็นพิษเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
- ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์
- ทารกแรกคลอดน้ำหนักตัวน้อย
- ทารกคลอดก่อนกำหนด
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
แม่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ
- ตั้งครรภ์ครั้งแรก
- ตั้งครรภ์แฝด
- ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
- เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว
- ตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์
- มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย
- มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์
อาการครรภ์เป็นพิษถือเป็นอันตรายร้ายแรง ทั้งกับตัวแม่ท้องเองและทารกในครรภ์ ดังนั้น แม่ท้องควรไปหาหมอทุกครั้งตามนัด ดูแลตัวเองระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะแม่ท้องกลุ่มเสี่ยง
รู้กันไปแล้วว่าอาการครรภ์เป็นพิษ ต้องสังเกตอย่างไร มาโหวตกันหน่อยว่า ขณะตั้งครรภ์ คุณพ่อแพ้ท้องด้วยหรือไม่ ถ้ากดโหวตไม่ได้ คลิกที่นี่
อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่เกี่ยวกับอาการครรภ์เป็นพิษ
อาการครรภ์เป็นพิษ ตามใจปากช่วงท้องต้องระวัง ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษเกิดจากสาเหตุใด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
อาการคนท้องไตรมาสแรก ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง
โรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง 10 โรคอันตรายที่คุณหมอพบบ่อย
ไข้หวัดใหญ่อันตรายกว่าที่คิด เด็กเล็กเสี่ยงตาย แม่ท้องเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
เรื่องจริงที่แม่ท้องใกล้คลอดต้องเจอ โค้งสุดท้ายแล้วคนท้องต้องเจออะไรบ้าง?
ที่มา : bumrungrad, 2, mamastory