การใช้ยาเพนนิซิลลินกับเด็กเล็กหรือคนท้อง มีความเสี่ยงที่จะเกิด อาการแพ้ยาเพนนิซิลลิน ได้ อาการอาจเป็นเพียงแค่ผื่นแพ้หรือรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออกได้
ทำความรู้จัก : ยาเพนนิซิลิน
ยาเพนนิซิลลินจัดอยู่ในประเภทยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาปฏิชีวนะเพนนิซิลชินต้องใช้ยาตามที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเม็ดยาที่ต้องกินเป็นประจำวัน และจำนวนวันที่ต้องกินยา เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคุณหมอหรือเภสัชกรจะส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลเต็มที่ ที่สำคัญยาเพนนิซิลลิน เป็นกลุ่มยาที่มีอัตราการแพ้สูงที่สุด พบได้ร้อยละ 1 – 5
อันตราย!! เด็กเล็กใช้ยาเพนนิซิลลินเสี่ยงแพ้ยาได้
คำเตือนจากเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาเพนนิซิลลิน ดังนี้ สำหรับผู้ที่ใช้ยาเพนนิซิลลินอาจทำให้เกิดอาการแพ้, มีลมพิษ, ผื่นคันตามตัว, ถ้าแพ้รุนแรงอาจทำให้หอบเหนื่อย หรือเป็นลมได้ ถ้ามีอาการแพ้ยา ควรหยุดยา แล้วรีบไปพบหมอทันที คนที่เคยแพ้ยา เพนนิซิลลิน ห้ามใช้ยานี้ รวมถึงยาอะม็อกซีซิลลิน ควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรเพื่อใช้ยาอื่นแทน
ดังนั้น ก่อนใช้ยานี้ ต้องแน่ใจว่าไม่เคยแพ้ยาเพนนิซิลลินมาก่อน สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ต้องระมัดระวังในการใช้ยาเพนนิซิลลินอย่างมากเพราะอาจเกิดการแพ้ได้ง่าย
นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยาเพนนิซิลลินกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร รวมถึงทารกและเด็กเล็ก เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงมีอาการท้องเสีย หรือผื่นคันขึ้นหลังการใช้หรือเกิดอาการแพ้ได้
บทความแนะนำ โรค Stevens-Johnson อาการแพ้ยาที่อาจรุนแรงถึงชีวิตลูกรัก
ลักษณะอาการแพ้ยาเพนนิซิลลิน
1. ผื่นแพ้
ผื่นจากการแพ้ที่ขึ้นมามีได้หลายรูปแบบ บางครั้งจะขึ้นแบบลมพิษ อยู่ไม่กี่ชั่วโมงก็หายไป สักพักก็กลับมาใหม่ แต่ในบางคนหรือเด็กเล็ก ๆ ผื่นที่แพ้อาจจะไม่เป็นปื้นนูน ๆ แบบในผู้ใหญ่ แต่อาจจะพบผื่นนานเป็นวัน ๆ ผื่นที่ขึ้นอาจจะเริ่มขึ้นหลังจากทานยาไปแล้วไม่กี่วัน เวลามีผื่นพวกนี้ขึ้น ทางที่ดีถ่ายรูปไว้ด้วย เวลามาหาหมอจะช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น
บทความแนะนำ ผื่นในเด็ก อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก
2. อาการบวม
เป็นการแพ้ชนิดที่รุนแรงขึ้น โดยจะพบว่ามีอาการบวมทั่วตัว มักจะขึ้นที่หน้า รวมทั้งมีอาการลมพิษทั่วตัว แน่นคอ หายใจไม่สะดวก มีอาการไอ เหนื่อยเหมือนคนเป็นหอบหืด ประวัติการแพ้แบบนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าการแพ้ครั้งต่อ ๆ ไปอาจจะมีความรุนแรงมากกว่าเดิมได้ การแพ้แบบที่ไม่รุนแรงถึงปานกลางพบได้ค่อนข้างบ่อย คือ ประมาณ 1 ใน 5 ของคนทั่วไป
3. อาการแพ้ที่รุนแรง
เป็นอาการแพ้ที่รุนแรงมากขึ้น เพราะอาการที่เกิดขึ้น เริ่มจาก หนังตา ริมฝีปากจะบวม มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน กล่องเสียงบวมทำให้พูดไม่มีเสียงและหายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนเพราะเป็นอันตรายมาก
ได้ทราบแล้วนะคะว่า การแพ้ยามีอันตรายเริ่มตั้งแต่เป็นเพียงผื่น หรือลมพิษ ไปจนถึงหายใจลำบากและความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การใช้ยาโดยเฉพาะกับคนท้องหรือเด็กเล็กต้องใช้ความระมัดระวัง ที่สำคัญควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรจะดีที่สุด พร้อมทั้งปฏิบัติตามในการทานยาหรือการใช้ยาเพื่อป้องกันการแพ้และการดื้อยานะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
แชร์ประสบการณ์ลูกแพ้ยาลดไข้จนปากบวม
เด็กชายอายุ 15 เดือน แพ้ยาไอบูโปรเฟนขั้นรุนแรง จนเกือบเสียชีวิต