อยากมีครรภ์คุณภาพ ลูกในท้องแข็งแรง ต้องดูแลแบบนี้ แท็กสามีได้เลย

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพครรภ์

อยากมีครรภ์คุณภาพ ลูกในท้องแข็งแรง ต้องดูแลแบบนี้

อยากมีครรภ์คุณภาพ ลูกในท้องแข็งแรง เรามีวิธีดูแลสุขภาพครรภ์มาฝาก แม่ท้องทำตามวิธีง่ายๆดังนี้ได้เลย

1. ฝากครรภ์ และไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง

การจะดูแลลูกในครรภ์ตลอด 9 เดือน ให้พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกอย่างแข็งแรงนั้น จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร

คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์นะครับ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด การเลือกสถานที่ฝากครรภ์นั้น ควรเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกที่สะดวกที่สุด หากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดีใหญ่ เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่

ที่สำคัญคือต้องไปพบคุณหมอตามนัด เพื่อตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการผิดปกติ ก่อนที่คุณหมอนัด เช่น มีเลือดออก หรือมีความรู้สึกว่า ลูกไม่ดิ้น ก็สามารถไปพบคุณหมอก่อนนัดได้นะครับ เรียกว่า เป็นกรณีฉุกเฉินอย่าใจเย็น หรือรอให้ถึงวันนัด เพราะอาจจะไม่ทันเวลา ทำให้ลูกในท้องเป็นอันตรายได้

2. รับประทานอาหารให้เหมาะสม

โภชนาการระหว่างตั้งครรภ์นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆสำหรับแม่ท้อง เพราะนอกจากแม่ท้องต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพของคุณแม่เองแล้ว ร่ายกายของแม่ท้องยังต้องเตรียมพร้อม สำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์อีกด้วย

แม่ท้องควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยเคล็ดลับการเลือกทานอาหารตอนท้องนั้น มีดังนี้ครับ

เนื้อสัตว์ : แม่ท้องสามารถเลือกทานเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ แต่ไม่ควรติดหนัง

นมสด : หากแม่ท้องไม่สามารถดื่มนมได้เพราะมีอาการแพ้หรือเพราะสาเหตุอื่นๆ ก็อาจดื่มนมถั่วเหลืองแทนได้ แต่ควรทานเนื้อสัตว์ ไข่ หรือถั่วเมล็ดเสริมให้มากขึ้น

ไข่ : ระหว่างตั้งครรภ์ควรรับประทานทุกวัน วันละประมาณ 1 ฟอง จะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้

ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง : หากแม่ท้องเลือกทานข้าวซ้อมมือ ก็จะทำให้ได้รับวิตามินบี1 เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในข้าวซ้อมมือนั้นมีกากใยซึ่งช่วยป้องกันอาการเหน็บชาตอนท้องได้อีกด้วย

ผักและผลไม้ : แม่ท้องควรทานผักและผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล ควรทานผลไม้หลังอาหารทุกมื้อหรือทานเป็นอาหารว่างก็ได้

ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง : ควรรับประทานเต้าหู้สลับกับเนื้อสัตว์และควรทานถั่วเป็นประจำ

ไขมัน : ควรเลือกใช้น้ำมันที่ได้จากพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง เพราะไม่มีคอเรสเตอรอล และยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายอีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว แม่ท้องไม่ควรใช้วิธีอดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือเพื่อลดน้ำหนักนะครับ เพราะนั่นจะทำให้ทารกในครรภ์ไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นในการเจริญเติบโต และสร้างอวัยวะ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้

>> ตัวอย่างตารางอาหารประจำวันของคนท้อง กินบำรุงสมองลูกในครรภ์ <<

3. อย่าลืมรับประทานโฟลิก

โฟลิก มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนท้องและทารกในครรภ์ การรับประทาน โฟเลต หรือ กรดโฟลิก จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 20 - 50 นอกจากนั้นยังช่วยลดการเกิดภาวะทารกในครรภ์โตช้าและโรคออทิสติก (autism) ได้อีกด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าผู้หญิงก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์ ควรเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีโฟลิก เป็นเวลาอย่างน้อย 1 – 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์

สำหรับคุณแม่ท้องปกติทั่วไป แนะนำให้รับประทานโฟเลต หรือกรดโฟลิกในปริมาณ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 – 3 เดือน และทานต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์ แต่สำหรับคุณแม่ท้องที่มีความเสี่ยงสูงบางราย อาจต้องการโฟลิกในปริมาณที่มากขึ้นตามคำแนะนำของคุณหมอครับ

นอกจาก กรดโฟลิก ที่คุณหมอให้แล้ว ในบ้านเรามีอาหารที่มีกรดโฟลิก หรือ โฟเลต ให้เลือกกินมากมาย เพราะ กรดโฟลิก หรือโฟเลต นั้น มีอยู่ในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด เช่น คะน้า ปวยเล้ง กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง บล็อกโคลี่ ถั่วลันเตา นอกจากนั้นยังมีแหล่งอาหาร ที่อุดมไปด้วย กรดโฟลิก หรือ โฟเลต อีกมากมายอย่างเช่น ปลา นมสด ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ข้าวซ้อมมือ และผลไม้ตระกูลส้ม เป็นต้น

>> โฟลิก ต่างกับโฟเลตอย่างไร <<

4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่คุณหมอไม่ได้สั่ง

ในแต่ละปี จะมีเด็กทารกจำนวนไม่น้อย ที่ต้องเกิดมาพร้อมความผิดปกติ อันเนื่องมาจากการใช้ยาไม่ถูกต้องระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น แม่ท้องจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดที่คุณหมอไม่ได้สั่งหากไม่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง สัปดาห์ที่ 8 - 10 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระยะที่ลูกน้อยของคุณกำลังพัฒนาสมอง หัวใจและปอด

หากก่อนหน้าที่จะตั้งครรภ์นั้น แม่ท้องกินยาเช่น ยาแก้สิว ยาแก้ปวดท้อง หรืออาหารเสริมต่างๆ คุณแม่ควรนำยาที่กินไปปรึกษาคุณหมอว่ายังกินต่อไปได้หรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องนะครับ

ติดตามวิธีดูแลครรภ์ต่อในหน้าถัดไป>>>

5. งดบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด

สารนิโคตินในบุหรี่ สามารถส่งผ่านไปยังทารกทางรกได้ ซึ่งจะเข้าไปกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจและการเต้นของหัวใจ ไม่ว่าจะมาจากการที่แม่ท้องสูบบุหรี่เองหรือได้รับควันพิษจากควันบุหรี่มือสองก็ตาม

ควันบุหรี่ ที่ส่งผ่านไปยังลูกน้อย ส่งผลให้ลูกคลอดออกมาตัวเล็กกว่าปกติ น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ มักจะเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และอาจทำให้เกิดความพิการรุนแรง หรือมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้า เหมือนเด็กปัญญาอ่อน

และหากแม่ท้องดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แอลกอฮอล์ก็จะไปทำลายเซลล์ประสาท ทำให้ทารกมีปัญหาการเจริญเติบโต มีปัญหาด้านความจำ และนอกจากนั้นยังทำให้เด็กทารกมีร่างกายที่ผิดปกติอีกด้วย

6. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุก

แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือแม้แต่แหนม หรืออาหารหมักดอง ก็ไม่ควรรับประทานนะครับ เพราะอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีพยาธิซึ่งทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

เมื่อแม่ท้องทานเนื้อสัตว์สุกๆดิบๆเข้าไป เช่น สเต็ก หรือลาบดิบ ก็อาจทำให้แม่ท้องได้รับเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) ทำให้เกิดโรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) หากแม่ท้องได้รับเชื้อนี้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ก็มีความเสี่ยงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ที่จะติดต่อไปสู่ทารกในครรภ์ผ่านทางรก ทำให้มีโอกาสแท้ง หรืออาจถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตหลังคลอด หรือหากไม่เสียชีวิตก็อาจมีอาการม้ามโต ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน ตาเหล่ หรือหัวลีบได้

7. พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงลูกได้ดี ส่งผลให้ลูกในท้องมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์

แม่ท้องจึงควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ในทุกๆ คืน และควรนอนกลางวันเพิ่มเติมด้วย ซึ่งแม่ท้องต้องพยายามเปลี่ยนเวลานอนให้เหมาะสม ราวๆ ก่อน 4 ทุ่ม เพื่อให้คุณแม่หลับลึก พักผ่อนอย่างเต็มอิ่ม ช่วยเรื่องสุขภาพร่างกายของแม่ท้องเอง แถมลูกก็จะสมบูรณ์แข็งแรง อีกด้วย

นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องที่แม่ท้องควรใส่ใจ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระหว่างการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แม่ท้องอาจจะออกกำลังกายโดยการเดินวันละประมาณ 20 – 30 นาที โดยหากได้ออกไปเดินรับแสงแดดอ่อนๆตอนเช้า หรือตอนเย็น ก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงแดดอีกด้วย นอกจากนั้น แม่ท้องอาจเลือกออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะ ตามที่คุณหมอแนะนำก็ได้นะครับ

คนท้องที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายพร้อมต่อการคลอด ช่วยให้คลอดง่าย อุ้งเชิงกรานแข็งแรงมากกว่าคนท้องที่ไม่ออกกำลังกายเลย

หากคุณแม่ท้องไม่แน่ใจเกี่ยวกับสภาพร่างกาย หรือมีข้อสงสัยเรื่องออกกำลังกายตอนท้อง ก็อาจจะปรึกษาคุณหมอที่ดูแลครรภ์ ถึงข้อจำกัด ประเภทและระยะเวลาที่เหมาะสมในการออกกำลังกายก็ได้นะครับ หรือถ้าโดยปกติ คุณแม่ออกกำลังกายสม่ำเสมออยู่แล้ว ควรสอบถามเพิ่มเติมด้วยว่าการออกกำลังกายที่เคยทำอยู่ ยังคงทำต่อได้หรือไม่ และทำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพและช่วงอายุครรภ์ของคุณแม่ที่สุด

8. ไม่เครียดตอนท้อง

ความเครียดของแม่ท้อง จะไปกระตุ้นการผลิตสารเคมี และฮอร์โมนต่างๆในร่างกาย ที่ทำให้หลอดเลือดแคบลง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก อาจทำให้คลอดก่อนกำหนด และยังอาจทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ได้

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า แม่ท้องที่มักจะอารมณ์หงุดหงิดอยู่เสมอ ลูกที่คลอดออกมาจะเป็นเด็กโยเยเลี้ยงยาก และเมื่อลูกได้รับความเครียดมาจากแม่ สมองของทารกก็จะสั่งการให้เตรียมพร้อมเพื่อตอบสนองต่อความเครียดเหล่านั้น ซึ่งหากสมองทองทารกมีการตอบสนองที่มากเกินไปก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดโรคสมาธิสั้นหรือโรคในกลุ่มออทิสติกได้ครับ

ทราบถึงวิธีดูแลสุขภาพครรภ์กันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำไปใช้ เพื่อสุขภาพครรภ์ที่ดีกันนะครับ


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

วิธีเล่นกับลูกในท้อง ยิ่งเล่น ลูกยิ่งฉลาดตั้งแต่อยู่ในครรภ์นะจ๊ะ

งานบ้านที่ควรเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ เพราะบางอย่าง อาจส่งผลอันตรายต่อลูกในท้องได้

คนท้องนอนท่าไหน ไม่ให้ปวดหลังและปวดเอว

บทความโดย

P.Veerasedtakul