คงต้องกล่าวยินดีสำหรับคุณแม่ที่ได้ผ่านพ้นการคลอดมาอย่างปลอดภัย และได้ลูกน้อยที่แสนจะน่ารักมาเชยชมสมใจ เพราะเมื่อลูกน้อยเกิดขึ้นมา คุณแม่ต้องทุ่มเทเอาใจใส่เลี้ยงดู แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะลุกขึ้นมาอาบน้ำ แต่งตัว ทำงานบ้านหรือแม้กระทั่งเลี้ยงลูกเพราะร่างกายที่รบหนักตอนคลอด จะต้องอาศัยการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อกลับคืนสุขภาพปกติได้เร็วที่สุด มาดูกันดีกว่าค่ะว่า สิ่งที่ต้องทำหลังคลอดใน 90 วันแรก แม่หลังคลอดควรทำอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องทำหลังคลอดใน 90 วันแรก ทำไมถึงให้มีการลาคลอดได้ 90 วัน คุณแม่รู้ไหมว่าทำไมถึงให้มีการลาคลอดเพื่อพักฟื้นร่างกายถึง 90 วัน ประโยชน์ของการลาคลอดช่วงนี้ที่คุณแม่ต้องเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด เป็นเพราะอะไรกันน่ะ เรามาดูเหตุผลกันค่ะ
ปรับตัวให้เข้ากับลูก
ในช่วง 3 เดือนแรกที่ลูกเกิด คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยตนเอง เพื่อที่จะได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่และลูก เพราะว่าในช่วง 3 เดือนแรกนั้น ลูกน้อยจะตื่นทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง คนเป็นแม่จึงต้องมีเวลาที่จะดูแลลูกมาก ๆ และต้องปรับตัวให้เข้ากับลูก เพื่อที่จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวลูกน้อย และวางแผนการเลี้ยงดูลูกได้หลังจากนี้ ซึ่งกว่าคุณแม่จะได้นอนหลับพักผ่อนก็หลังจาก 3 เดือนไปแล้ว เนื่องจากว่าทารกเริ่มนอนยาวขึ้นนั่นเองค่ะ
เพื่อพักฟื้นร่างกายหลังคลอด
สำหรับกรณีคุณแม่คลอดธรรมชาติ จำเป็นต้องพักฟื้นร่างกายประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอด ต้องใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 6-8 สัปดาห์ ถึงแม้ว่าจะคลอดลูกแล้วแต่ว่าฮอร์โมนยังมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ในช่วงนี้คุณแม่ยังมีความแปรปรวนทางอารมณ์ ซึ่งกว่าที่ร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือคืนสู่สภาวะเดิมต้องใช้เวลามากกว่า 3 เดือน และในช่วง 3 เดือนแรกนี้ แนะนำให้คุณแม่ไม่ควรทำกิจกรรมที่หนักมากเกินไป เช่น ขึ้นลงบันไดหลายครั้งต่อวัน ยกของหนัก หรือแม้แต่ขับรถ เป็นต้น
คุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอะไรบ้าง
หลังจากที่ร่างกายคุณแม่ต้องรับบทหลังกับการคลอดลูกแล้วร่างกายของคุณแม่จะค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาพปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ อวัยวะส่วนต่าง ๆ จะเริ่มปรับเปลี่ยนโดยอาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 5 – 6 สัปดาห์ช่วงหลังคลอดนี้ ควรทำความเข้าใจและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่ รวมทั้งช่วยให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างสวยงามดังเดิมได้เร็วขึ้นด้วย
ให้นมลูกได้อย่างเต็มที่
ทารกควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและได้รับสารอาหารที่เหมาะสมสำหรับทารก หากคุณแม่ลาคลอดในช่วง 3 เดือนแรก จะทำให้คุณแม่ให้นมลูกน้อยได้อย่างสะดวกและการได้รับนมจากเต้านั้น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกด้วยค่ะ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องไปทำงานอาจจะปั๊มนมไม่สะดวก เพราะต้องใช้เวลาในการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าประมาณ 30 นาที ต่อการปั๊ม 1 ครั้ง และต้องปั๊มทุกๆ 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจไม่สะดวกและทำให้ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ลดน้อยลงหลังจากกลับมาทำงานค่ะ
ให้นมจากเต้าดีอย่างไร
นมจากเต้าจะมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกในช่วง 6 เดือนแรก เพราะสามารถป้องกันทารกจากหวัด โรคทางเดินอาหาร โรคติดเชื้ออื่นๆ และโรคภูมิแพ้ แถมยังทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัย มั่นคง ได้รับรู้ความรู้สึกและความอบอุ่นจากแม่ ซึ่งจะมีผลดีในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองด้วย ทั้งยังลดโอกาสในการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคใหลตายในทารกด้วย
ในส่วนของคุณแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของ ภาวะการตกเลือด หลังคลอดบุตร และยังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางด้วย ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ โรคกระดูกพรุน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ช่วยลดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย จึงช่วยให้รูปร่างของคุณแม่เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วขึ้น
อาการที่แสดงว่าลูกต้องการกินนม
- กลอกตาไปมาเร็วๆ
- ดิ้นไปดิ้นมาขณะนอน เอามือถูหน้าไปมา
- ส่งเสียงร้องอ้อแอ้
- พลิกศีรษะไปมา
- เลียริมฝีปาก แลบลิ้นไปมา หรือเริ่มที่จะดูดมือ
- ร้องไห้ งอแง
วิธีบีบน้ำนมแม่ด้วยมือ
- ล้างมือคุณแม่ให้สะอาด
- ประคบอุ่นบริเวณเต้านมประมาณ 3-5 นาที จากนั้นนวดเต้าเบาๆ เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมได้ไหลเวียน
- วางนิ้วโป้ง และนิ้วอื่นๆ ห่างจากหัวนมประมาณ 2-3 เซนติเมตร แต่ให้อยู่ในแนวเดียวกันกับหัวนม ให้วางนิ้วที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และ 6 นาฬิกา
- ออกแรงกดนิ้วลงไปยังหน้าอก หากเต้านมของคุณแม่ใหญ่ให้ดึงเต้านมขึ้นออกก่อนแล้วค่อยกดลงไปยังหน้าอก
- หมุนนิ้วโป้งและนิ้วอื่นๆ ไปในทิศทางเดียวกัน พยายามดันให้นมออกมาแทนที่จะบีบออก ทำต่อเนื่องเป็นจังหวะ
- หมุนมือของคุณไปยังรอบๆ เต้านม เพื่อทำให้ตำแหน่งอื่นๆ นิ่มลงด้วย วางไว้ที่ 12 นาฬิกา และ 6 นาฬิกา หลังจากนั้นเปลี่ยนไปเป็น 2 นาฬิกา และ 8 นาฬิกา ตามด้วย 10 นาฬิกา และ 4 นาฬิกา
ซึ่งคุณแม่ควรบีบน้ำนมหรือปั๊มนมออกอย่างน้อย 8-10 ครั้งใน 1 วัน หากลูกน้อยไม่ได้กินนมจากเต้าแล้ว
สิ่งที่คุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษหลังคลอด
- อาการตกเลือด
- การเคลื่อนไหวร่างกายหลังคลอด
- การรักษาความสะอาดของร่างกาย
- ถ่ายปัสสาวะไม่ออก
- ริดสีดวงทวาร
- ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- การดูแลแผลผ่าตัดหน้าท้อง
- ดูแลแผลฝีเย็บ
- ร่วมเพศหลังคลอดบุตรได้เมื่อไรและจะอันตรายหรือไม่
- เป็นไข้
- เจ็บฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดทางหน้าท้องมาก
- การพักผ่อนร่างกายหลังคลอด
- อาหารประเภทไหนที่ต้องให้ภายหลังคลอด
อาการผิดปกติแบบไหนเตือนให้คุณแม่ระวัง
นอกจากความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เป็นปกติแล้ว คุณแม่ควรจะหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพราะหากปล่อยไปโดยคิดว่า “ไม่เป็นอะไรหรอกเดี๋ยวก็หาย” อาจทำให้อาการดังกล่าวร้ายแรงขึ้นและแก้ไขไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่เองได้ ดังนั้นจึงควรรู้จักและทำควรเข้าใจกับอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เพื่อป้องกันและแก้ไขได้ทันท่วงที
เมื่อไรประจำเดือนจะมา
ถ้าไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประจำเดือน จะเริ่มมีภายใน 6 – 8 สัปดาห์ หลังคลอดประจำเดือนครั้งแรกอาจจะมาไม่มากนัก แต่ถ้าให้นมบุตรประจำเดือนมักจะมาช้ากว่า บางรายไม่มีประจำเดือนเลยขึ้นกับว่าให้นมบุตรมากน้อยแค่ไหน คุณแม่ที่ให้นมบุตร บางรายมีประจำเดือนในเดือนที่ 2 บางรายช้าถึงเดือนที่ 18 หลังคลอด
คุณแม่หลังคลอดสามารถคุมกำเนิดได้โดยไม่ต้องรอให้มีประจำเดือนมาก่อน ควรเริ่มคุมกำเนิดหลังการตรวจร่างกายเมื่อครบ 6 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากพบว่าประมาณร้อยละ 10-15 ของคุณแม่ที่ไม่ให้นมบุตรจะมีไข่ตกภายใน 6 สัปดาห์หลังคลอด และร้อยละ 30 จะมีตกไข่ภายใน 90 วันหลังคลอด ส่วนคุณแม่ที่ให้นมบุตร การตกไข่เกิดขึ้นได้เร็วถึง 49 วันหลังคลอด
การใช้ยาในระยะหลังคลอด
สิ่งที่คุณแม่จะต้องหลีกเลี่ยงในระยะหลังคลอดให้มากที่สุด คือการใช้ยาที่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยวัยแรกเกิด โดยเฉพาะในช่วงที่คุณแม่กำลังให้นมลูก เนื่องจากมียาบางชนิดที่รับประทานแล้วอาจถูกขับออกมาทางน้ำนมแม่ เช่นยาถ่าย ยาระบาย ซึ่งคุณไม่ควรซื้อมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะทำให้ลูกที่รับประทานนมแม่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นการรับประทานยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยทั่วไปคุณแม่ที่เพิ่งคลอดใหม่ๆ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ รวมไปถึงวิตามินแคลเซียมและธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และสร้างเม็ดเลือดที่สูญเสียไปในการคลอด ส่วนแคลเซียมจะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน ทำให้คุณแม่ไม่เป็นตะคริวหรือฟันผุได้ง่าย ทั้งยังช่วยชดเชยแคมเซียมที่คุณแม่ต้องเสียไป ในระหว่างการให้นมลูกและวิตามินบางส่วนยังสามารถหลั่งออกทางน้ำนม ทำให้ลูกน้อยได้รับประโยชน์จากวิตามินได้ด้วย
น้ำคาวปลา
น้ำคาวปลา คือ เลือดและเนื้อเยื่อที่ออกมาจากมดลูก หลังคลอดจะออกมามาก และมีสีแดงสดในระยะแรก หลังจากนั้นสีจะจางลงคล้ายสีของน้ำล้างเนื้อและมีปริมาณน้อยลงจนกลายเป็นมูกสีเหลืองๆ และมักหมดไปภายใน 2-3 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้เล็กน้อย ในช่วงที่น้ำคาวปลา ออกมากใน 2 – 3 วันแรกนี้ คุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ เพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี
น้ำหนักตัว
จากที่เคยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากในขณะตั้งครรภ์ เมื่อหลังคลอดน้ำหนักของคุณแม่จะลดลงไปประมาณ 6 กิโลกรัม น้ำหนักที่ลดลงมาจากตัวลูกน้อยที่คลอดออกมารวมกับน้ำคร่ำและน้ำที่คั่งอยู่ในร่างกายคุณแม่ จากนั้นน้ำหนักก็จะลดลงเรื่อยๆ จนครบกำหนดตรวจหลังคลอด น้ำหนักของคุณแม่ควรจะเท่ากับตอนก่อนตั้งครรภ์หรืออาจเกินได้สัก 2-3 กิโลกรัม แต่ถ้าน้ำหนักเกินกว่านี้ให้รีบหันมาดูแลควบคุมอาหารและออกกำลังกายให้เหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อรูปร่างที่สวยงามดังเดิม
ท้องผูก
คุณแม่หลายท่านอาจมีอาการท้องผูกอยู่อีกหลายวัน เนื่องจากฮอร์โมนที่ทำให้ลำไส้ของคุณแม่เคลี่อนตัวช้ายังมีอยู่บ้าง และยิ่งหลังคลอดคุณแม่ยังไม่กล้าแบ่งเวลาขับถ่าย เพราะกลัวเจ็บแผลฝีเย็บหรือแผลหน้าท้อง วิธีการแก้ไขหรือช่วยทำให้อาการทุเลานั้นเพียงแค่หมั่นรับประทานอาหารที่มีกากใยมากๆ ทั้งผักและผลไม้ ดื่มน้ำให้มากอาการท้องผูกของคุณแม่ก็จะค่อยๆ หายได้เอง
ผนังหน้าท้อง
หลังคลอดผนังหน้าท้องที่ยืดออกมาในขณะตั้งครรภ์ยังไม่กระชับเข้าที่ คุณแม่บางท่านใช้การอยู่ไฟ การนาบหน้าท้องโดยหม้อเกลือหรือกระเป๋าน้ำร้อน และการรัดหน้าท้อง โดยคิดว่าวิธีการเหล่านี้ จะทำให้ผนังหน้าท้องหดเข้าที่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องนัก การบริหารร่างกายเท่านั้นที่จะช่วยให้ผนังหน้าท้องของคุณแม่หลังคลอดกระชับเข้าที่ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทต่อไป
ขนาดมดลูก
ในวันแรกหลังคลอดมดลูกจะอยู่สูงราวระดับสะดือของคุณแม่ แต่จะค่อยๆ ลดลงประมาณวันละ 1 นิ้วมือเพียง 14 วัน หลังคลอดคุณแม่ก็จะคลำมดลูกทางหน้าท้องไม่พบแล้ว โดยที่ขนาดของมดลูกจะเล็กลงเรื่อยๆเ นื่องจากมีการหดรัดตัวของมดลูก บางครั้งทำให้คุณแม่มีอาการปวดท้องน้อยคล้ายๆ กับปวดประจำเดือนและปวดมากขึ้นขณะที่ให้ลูกดูดนมแม่เนื่องจากมีการหลั่งของฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้นดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ที่มา : bnhhospital , thairath
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีแบ่งเวลา เป็นแม่ที่ดี ทำงานก็เลิศ คุณทำได้ถ้าทำตามนี้
ประกันสุขภาพแม่และเด็ก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 81