วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุ
แพทย์แนะพ่อแม่ดูแลฟันน้ำนมลูก อย่าให้เสียไปก่อนวัยอันควร ทำไมทารกถึงฟันน้ำนมผุได้ง่าย วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุ เพื่อไม่ให้ฟันน้ำนมผุ พ่อแม่และผู้ปกครองต้องดูแลลูกอย่างไร ข้อควรระวังสำหรับเจ้าตัวน้อย
สาเหตุที่ฟันน้ำนมผุ ทำไมทารกถึงฟันน้ำนมผุได้ง่าย?
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะผู้ปกครองหมั่นตรวจเช็คสุขภาพช่องปากของเด็ก หมั่นทำความสะอาด แปรงฟันอย่างถูกวิธี เพื่อลดการเกิดฟันน้ำนมผุ เนื่องจากพบว่าเด็กอายุไม่ถึงขวบฟันน้ำนมเริ่มผุแล้ว โดยนายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัญหาฟันน้ำนมผุสำหรับเด็กเป็นปัญหาคาใจของหลาย ๆ ครอบครัว โดยฟันน้ำนมผุสามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กอายุยังไม่ถึง 1 ปี สำหรับสาเหตุที่ฟันน้ำนมผุได้ง่ายก็เพราะว่า
- ชั้นเคลือบฟันน้ำนมบางประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าฟันแท้
- โดยเฉพาะฟันน้ำนมซี่หน้าบน ที่ฟันน้ำนมอาจผุได้จากพฤติกรรมเสี่ยงหลับคาขวด เนื่องจากการดูดขวดนมแล้วปล่อยให้เด็กนอนหลับคาขวด ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องปากย่อยน้ำตาลในนมเกิดกรดทำลายเคลือบฟันของเด็กได้
- ฟันน้ำนมผุยังอาจเกิดจากฟันที่มีการสะสมแร่ธาตุไม่สมบูรณ์จากการคลอดก่อนกำหนด หรือแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
- การรับประทานขนมเหนียวบ่อย ๆ แล้วไม่แปรงฟัน ก็จะทำให้ลูกฟันผุได้ง่าย
เมื่อลูกฟันน้ำนมผุ
เมื่อลูกฟันผุ ผลกระทบที่ตามมา คือ อาการปวดฟัน ฟันผุเป็นหนอง มีเชื้อโรคในช่องปาก โดยเฉพาะฟันกราม หากผุแล้วลุกลามมาก อาจส่งผลให้ต้องถูกถอนไปก่อนเวลาอันสมควร ทั้งนี้ เมื่อพบว่าลูกมีฟันน้ำนมผุ ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาและรับคำแนะนำ วิธีดูแลทันตสุขภาพที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุซ้ำต่อไป
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวต่อว่า เมื่อลูกฟันน้ำนมผุ ทันตแพทย์จะแนะนำให้รักษารากฟันน้ำนมไว้ก่อน โดยยังไม่ถอนออกจนกว่าฟันแท้จะขึ้น ซึ่งการรักษารากฟันน้ำนมในเด็ก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะเก็บรักษาฟันน้ำนมเอาไว้ในช่องปากจนใกล้เวลาฟันแท้จะขึ้นเพื่อให้เด็กได้ใช้ฟันในการเคี้ยวอาหารตามปกติ และไม่ให้สูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนวัยอันควร ฟันน้ำนมไม่ใช่มีประโยชน์ในการบดเคี้ยวอาหารอย่างเดียว ยังใช้เป็นที่เก็บรักษาช่องว่างเพื่อให้ฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ขึ้นได้อย่างเหมาะสม ถ้าสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลา เช่น ถูกถอนฟันไปก่อนที่ฟันแท้จะขึ้นมีโอกาสจะสูญเสียช่องว่างบริเวณฟันที่ถูกถอนไป ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงล้มเอียงมาปิดช่องว่างได้
นอกจากนี้ ฟันน้ำนมซี่หน้ายังช่วยในการออกเสียงให้ชัดเจนและสวยงาม ทำให้เด็กมั่นใจในการพูดคุย ถ้าฟันน้ำนมผุทะลุโพรงประสาทฟัน เด็กจะมีอาการปวดฟัน และเมื่อถ่ายประเมินภาพรังสีดูแล้ว ยังสามารถจะเก็บรักษาฟันน้ำนมซี่นั้นได้ ทันตแพทย์เด็กจะแนะนำให้รักษารากฟันน้ำนมไว้
วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุ
- สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ ควรปฏิบัติดังนี้ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง คือตอนเช้าและก่อนนอน
- ควรใช้เวลาแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที เลือกใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์แต่ควรเลือกรสชาติที่ไม่เผ็ด
- ผู้ปกครองควรแปรงฟันซ้ำในส่วนที่เด็กแปรงไม่สะอาด
- ควรใช้ไหมขัดฟันช่วยเสริมการทำความสะอาดซอกฟัน
- ควรพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟัน
วิธีป้องกันฟันน้ำนมผุเป็นเรื่องสำคัญ อย่าปล่อยให้ลูกฟันผุ โดยเฉพาะฟันน้ำนมผุ อย่าคิดว่าแค่ฟันน้ำนมผุไม่เป็นอะไรมากนะคะ เพราะมีผลต่อสุขภาพลูกมากกว่าที่คิดเสียอีก
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกแรกเกิดเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง ปัญหาที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด แม่ต้องรู้และระวังลูกน้อยเอาไว้
หนูน้อย 5 ขวบฟันผุ 14 ซี่ หมอต้องวางยาสลบ ถอน-ครอบฟัน เย็บอีก 9 เข็ม
ฟันหน้าผุยกแผง! ปล่อยลูกดูดนมนอน ดูดนมมื้อดึก แม่แปรงฟันลูกไม่ดี คิดว่าแค่ฟันน้ำนม
พาลูกหาหมอฟันครั้งแรก พาลูกไปหาหมอ ตรวจสุขภาพทารก ฉีดวัคซีนทารก แม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร