คุณแม่มือใหม่คงมีความตื่นเต้นผสมกับความกังวลอยู่ไม่น้อยใช่ไหมคะ ในแต่ละวันคุณแม่จะคิดถึงแต่เจ้าตัวเล็ก ว่าตอนนี้ในครรภ์เป็นอย่างไรบ้าง คลอดออกมาแล้วจะแข็งแรงดีหรือเปล่า แต่จะให้ไปพบแพทย์เองทุกครั้งก็คงไม่ไหว ในวันนี้ เราจะมาแนะนำ วิธีการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ไปดูกันเลย!
การตรวจครรภ์เพื่อดูความแข็งแรงของทารก : คุณแม่
วิธีการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกน้อยในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ สามารถตรวจได้ด้วยตัวคุณแม่เองและตรวจโดยคุณหมอ ดังนี้
-
การนับลูกดิ้น
วิธีการที่คุณแม่สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง ทารกน้อยในครรภ์จะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 16 – 20 สัปดาห์ แต่ถ้าใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง สามารถเห็นทารกเคลื่อนไหวได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ การเคลื่อนไหวของทารกที่ต่อเนื่องนานมากกว่า 20 วินาที วิธีการนับลูกดิ้น ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่
-
- Sodovsky ให้นับวันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทุกวัน ถ้าน้อยกว่า 3 ครั้ง / ชั่วโมงให้นับต่ออีก 6 – 12 ชั่วโมง / วัน รวมจำนวนครั้งที่ดิ้นทั้งหมดคิดต่อ 12 ชั่วโมง ถ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ครั้ง ถือว่าทารกดิ้นน้อยลง อย่างไรก็ตามหากทารกดิ้นน้อยลงจริงควรต้องรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อตรวจประเมินสุขภาพทารกในครรภ์โดยวิธีการอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยผ่านคลื่นไฟฟ้า เป็นต้น (จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป)
- The Cardiff “Count – to-ten charf” คือ การนับจำนวนการดิ้นตั้งแต่เวลา 9.00 น. ครบ 10 ครั้ง และไม่ควรใช้เวลาเกิน 12 ชั่วโมง (ถึง 21.00 น.)
สำหรับการนับลูกดิ้นของทารก ถือเป็นวิธีเบื้องต้นในการประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวกมาก ๆ ได้ผลดี ไม่มีค่าใช้จ่าย ปลอดภัย และไม่มีข้อห้าม และทุก ๆ ครั้ง คุณแม่อย่าลืมจดบันทึกการดิ้นของทารกด้วยนะคะ เพื่อความถูกต้องและสม่ำเสมอ นับตั้งแต่ 28 – 32 สัปดาห์ และให้รีบไปพบคุณหมอเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : คำถามที่พบบ่อย: ลูกดิ้นกี่ครั้งถึงปกติ? ถ้าลูกดิ้นน้อยลงทำยังไง?
การตรวจครรภ์เพื่อดูความแข็งแรงของทารก : คุณหมอ
-
การวัดความสูงยอดมดลูก
การตรวจวัดความสูงของยอดมดลูก เมื่อทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงเติบโตตามปกติ ส่งผลให้ยอดมดลูกมีขนาดสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 18 ถึงสัปดาห์ที่ 34 ถือว่าทารกมีการเจริญเติบโตเป็นไปในทิศทางที่ดีและปกติค่ะ
-
การตรวจการดิ้นของทารกในครรภ์
ซึ่งคุณแม่จะรับรู้การดิ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ขึ้นไป การที่เด็กดิ้นน้อยลงมักพบร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง และอยู่ในภาวะอันตราย ทารกจะดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นประมาณ 12-48 ชั่วโมง การที่ทารกดิ้นน้อยลงจึงเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบคุณหมอ โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์ ขึ้นไป
-
การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวนด์
เป็นการตรวจโครงสร้างของทารกในครรภ์ว่าเจริญเติบโตปกติดีไหม และใช้เพื่อค้นหาความพิการแต่กำเนิด ยังสามารถตรวจเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของทารกได้อีกด้วย ทั้งปริมาณน้ำคร่ำ ลักษณะของรก ตำแหน่งที่รกเกาะ รวมไปจนถึงสายสะดือ จะเรียกว่าการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวนด์
วิธีนี้จะทำได้ 2 แบบ คือ การตรวจผ่านทางช่องคลอด และการตรวจผ่านหน้าท้องของคุณแม่ โดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในปัจจุบันมีการพัฒนาค่อนข้างมาก มีทั้งแบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ จึงทำให้คุณหมอมองเห็นและตรวจทารกในครรภ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
-
การนำเซลล์ของทารกในครรภ์มาตรวจหาโครโมโซม หรือดีเอ็นเอ
ในรายที่สงสัยว่ามีโรคทางพันธุกรรมชนิดต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาการดาวน์และโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น วิธีการในการนำเซลล์ทารกในครรภ์มาตรวจ ได้แก่ การเจาะดูดน้ำคร่ำ การตัดเนื้อรก และการเจาะดูดเลือดทารกโดยตรง
บทความที่เกี่ยวข้อง : NIFTY TEST ช่วยหาอาการดาวน์ซินโดรมตั้งแต่ในท้องแม่
-
การตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกโดยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
โดยอาศัยหลักการว่า ถ้าทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรงไม่ขาดออกซิเจน เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ ขึ้นไป เมื่อทารกดิ้นจะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจทารกเร็วขึ้น
ผลกระทบโดยต่อตรงการเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในครรภ์
-
โรคของแม่
คุณแม่ที่มีปัญหาสุขภาพหรือเป็นโรคต่าง ๆ ช่วงก่อนตั้งครรภ์หรือในช่วงตั้งครรภ์ เช่น
-
- โรคเบาหวาน อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เสียชีวิตในครรภ์
- โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้ทารกเติบโตช้าในครรภ์
- โรคหัวใจ อาจทำให้ทารกขาดออกซิเจนและเติบโตช้าในครรภ์
- การติดเชื้อหัดเยอรมันในการตั้งครรภ์ระยะแรก อาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้อกระจก หูหนวก และเติบโตช้าในครรภ์
- โรคซิฟิลิส อาจทำให้ทารกบวมน้ำ และเสียชีวิตในครรภ์ เป็นต้น
โดยถ้าหากคุณแม่มีการควบคุมหรือรักษาโรคที่แม่เป็นก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบถึงทารกได้
-
การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อยในครรภ์ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ช้า และอวัยวะต่าง ๆ อาจไม่สมบูรณ์อีกด้วย
-
จิตใจของแม่ก็สำคัญ
คุณแม่ที่มีความวิตกกังวลมาก ๆ อาจจะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า และคลอดก่อนกำหนด เพราะว่าภาวะเครียดจะทำให้สารเคมีและฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียดหลั่งออกมากขึ้น จนทำให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูกและรกมีการหดตัว ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์จึงลดน้อยลง ผลตามมาทำให้เกิดการแท้ง ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ทารกติดเชื้อในครรภ์สูงขึ้น
-
พฤติกรรมของแม่
คุณแม่ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และควรทานให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การหลีกเลี่ยงการรับประทานยา โดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร การหลีกเลี่ยงสารเสพติดทุกชนิด
อย่างไรก็ตาม ถ้าในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติ ต้องรีบเข้าไปปรึกษาคุณหมอทันทีเลยนะคะ เพื่อจะได้แก้ไขหรือรักษาได้ทันท่วงที และอย่าลืมมาร่วมบอกเล่า แชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทำ IF ระหว่างตั้งครรภ์ ได้ไหม? ส่งผลอย่างไรต่อลูกน้อย?
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คนท้อง เป็นอย่างไร อันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์แค่ไหน?
โรคธาลัสซีเมียอันตรายมากแค่ไหน ตรวจธาลัสซีเมีย ระหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
ที่มา : ranodhospital