วิธีกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย
วิธีกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย พ่อแม่สามารถทำได้ทุกคน โดยนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ พ่อแม่นิยมเลี้ยงลูกโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต ล้วนเป็นสิ่งที่ทำลายพัฒนาการเด็กมากขึ้น ทำให้เด็กขาดทักษะทางด้านการสื่อสาร สมาธิ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปี
กิจกรรมที่เหมาะกับเด็กวัยแรกเกิด – 5 ขวบ คือ การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือกิจกรรมทางกายภาพ หากจะแบ่งเป็นช่วงอายุ เราสามารถแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 : เด็กอายุ 0-1 ปี
เด็กกลุ่มนี้ พ่อแม่ควรเน้นกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายแบบเบาๆ เช่น การให้นอนคว่ำชันคอขึ้นแล้วหันไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อย ให้ลูกน้อยได้ลองชันตัวขึ้นจากพื้น การเอื้อมมือหยิบจับลูกบอลหรือของเล่น การคลาน การนั่งและเอี้ยวตัวไปเล่นของเล่นได้อย่างอิสระ การยืนโดยให้เกาะกับสิ่งของอื่นอยู่ และการเล่นกับพ่อแม่ ทั้งหมดนี้ พ่อแม่ต้องค่อยๆ ดูตามพัฒนาการของลูก ดูว่าลูกเรามีความพร้อมในแต่ละกิจกรรมเมื่อไหร่ เพื่อจะได้ส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยอย่างดีที่สุด
กลุ่มที่ 2 : เด็กอายุ 1-5 ปี
เด็กวัยนี้ พ่อแม่ควรจัดตารางเวลาให้ลูกน้อยได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน โดยเน้นทักษะที่ใช้การเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดดให้เท้าพ้นพื้นทั้ง 2 ข้าง การกระโดดเชือกหรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง การทรงตัวโดยการยีนขาเดียว การปีนป่าย การปั่นจักรยานสามล้อ รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การขีดเขียนเป็นเส้นๆ บนกระดาษ การปั้นดินน้ำมัน การต่อบล็อก การวาดรูปอย่างง่ายๆ หรือจะเป็นการเล่นบทบาทสมมติ การทำครัว หรือแม้แต่การช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน
หน้าที่ของพ่อแม่ มีเพียงแค่คอยสนับสนุนให้ลูกได้เล่นตามความชอบของตัวเอง เป็นการเล่นเพื่อความสนุกสนานจริงๆ ไม่ใช่เป็นการเล่นเพื่อฝึกฝนให้ลูกเล่นเกมเก่ง และคอยดูแลลูกน้อยอยู่ห่างๆ คอยสังเกตว่าลูกของเราเล่นมากไปไหม เพราะไม่ควรให้ลูกเล่นจนอ่อนเพลียเกินไป
สำหรับพ่อแม่คนไหนที่ไม่รู้ว่าจะให้ลูกทำกิจกรรมอะไรดี พ่อแม่สามารถดูตารางส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้ที่นี่ สำหรับสถานที่ทำกิจกรรม พ่อแม่สามารถทำที่ไหนก็ได้ ทั้งที่บ้าน ในหมู่บ้าน ชุมชน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สนามกีฬา หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าสถานที่สาธารณะเป็นสถานที่ที่มีการใช้ร่วมกัน ถึงแม้ว่าตัวเรามีววิทธิในการใช้ ก็ต้องไม่ไปรบกวนคนอื่นด้วยนะคะ
อีกอย่าง อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญในการทำกิจกรรมนี้ เป็นการใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพภายในครอบครัว การสร้างความอบอุ่น สายสัมพันธ์ที่เหนี่ยวแน่น ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ดีสำหรับลูกน้อยในอนาคต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ภาษา การสื่อสาร และสังคม
ที่มา: กรมอนามัย
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อุณหภูมิร่างกายทารกแรกเกิด แม่ต้องวัดอุณหภูมิ จะได้รู้ว่า ลูกตัวร้อนหรือลูกตัวเย็น
แม่ผัวลั่น อาบน้ำร้อนมาก่อน จะป้อนกล้วยลูก2เดือน พอห้ามกลับโดนไล่ไปอยู่กับหมอ
ความลับของทารก รู้ไหม..ลูกน้อยคิดอะไรอยู่