ลูกไม่ยอมดูดขวดทำอย่างไรดี วิธีทำให้ลูกกินนมจากขวดอย่างได้ผล พ่อแม่ต้องลอง!

ลูกไม่ยอมดูดขวดทำอย่างไรดี ปัญหาของคุณแม่ให้นมส่วนใหญ่ต้องเผชิญ เพราะลูกน้อยติดเต้าทำอย่างไรก็ไม่ยอมเลิกสักที ทำให้คุณแม่หลายท่านเป็นห่วงว่าถ้ากลับไปทำงานแล้ว หรือจำเป็นต้องไปทำธุระที่อื่นที่ไม่สามารถพาลูกไปด้วยได้ คุณแม่จะทำเช่นไร กลัวลูกน้องร้องไห้งอแงไม่ยอมกินไม่ยอมนอน วันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ มาแนะนำคุณแม่ค่ะ

 

วิธีให้ลูกกินนมจากขวด วิธีที่ 1

วิธีง่ายที่สุดคือ คุณแม่ต้องฝึกให้ลูกกินนมจากขวดภายในระยะเวลา 6 สัปดาห์แรกหลังคลอดค่ะ เพราะหลังจาก 6 สัปดาห์ไปแล้ว ทารกแรกเกิดจะดูดนมจากขวดได้ยากขึ้นนั่นเอง สำหรับวิธีการให้ลูกกินนมจากขวดนั้น ผู้เชี่ยวชาญได้มีคำแนะนำ 4 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : เตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ วิธีเลิกขวด ฝึกยังไงให้ลูกเลิกขวดนมได้ภายใน 1 ปีครึ่ง

 

1. เตรียมนมสำหรับทารก

คุณแม่ควรเตรียมนมลูกอาจจะเป็นนมแม่หรือนมชงก็ได้ ซึ่งก่อนจะสัมผัสกับขวดนม อย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนเป็นอันดับแรก เลือกจุกนมที่มีการไหลช้า ๆ และต้องเลือกจุกนมที่คล้ายกับหัวนมของคุณแม่ให้มากที่สุดค่ะ และต้องให้มีขนาดที่เหมาะสมกับปากของทารกด้วย จากนั้นนำนมไปอุ่นแล้วเขย่าเพื่อให้อุณหภูมิคงที่ (ไม่แนะนำให้อุ่นนมจากไมโครเวฟ)

 

2. พาลูกน้อยไปเดินเล่น

หลังจากเตรียมขวดนมให้ลูกแล้ว ให้คุณแม่เตรียมเป้อุ้มแล้วพาลูกไปเดินเล่นเลยค่ะ โดยคุณแม่ต้องอุ้มลูกในท่าที่ให้ลูกสามารถมองเห็นวิวและสภาพแวดล้อมภายนอก (ตามภาพ) อยาให้ลูกหันหน้าเข้าหาเต้า

 

 

3.ลูบลูกเบา ๆ บริเวณก้นของทารก

ให้คุณแม่ใช้มือข้างหนึ่งเอื้อมมาที่บริเวณด้านล่างแถวก้นของลูก แล้วค่อยลูบเบา ๆ จากนั้นก็ยกขึ้นลงประมาณ 1 นิ้ว (ตามรูป) เป็นจังหวะเบา ๆ ทำแบบนี้ประมาณ 2-3 นาที ระหว่างนั้นอาจจะพูดคุยหรือร้องเพลงไปด้วยก็ได้นะคะ

 

 

4.นำขวดนมให้ลูกดูด

เมื่อลูกน้อยเริ่มนิ่งก็ให้นำขวดนมเข้าปาก จากนั้นคุณแม่ก็ลองตบก้นลูกขึ้นลงเบา ๆ วิธีการนี้เป็นการสะท้อนการดูดตามธรรมชาติของเด็กค่ะ แล้วก็เดินไปเรื่อย ๆ พร้อมกับการตบก้นลูกเบา ๆ หากลูกไม่ยอมก็ให้พักก่อน แล้วค่อยลองใหม่ ถ้าไม่ได้อีกค่อยเริ่มอีกครั้งในวันถัดไปค่ะ

 

 

วิธีให้ลูกกินนมจากขวด วิธีที่ 2

สำหรับวิธีนี้เป็นการให้ลูกได้ลองขวดนมในฝัน คุณแม่คงงงใช่ไหมค่ะ จริง ๆ แล้ววิธีการนี้คือการให้ลูกได้ลองกินนมจากขวดขณะนอนหลับตอนกลางคืนนั่นเองค่ะ เริ่มจากคุณแม่ให้ลูกน้อยได้ดื่มนมจากเต้าก่อนแล้วก็สลับมาให้นมจากขวดค่ะ แต่คุณแม่ต้องเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนะคะ ในช่วงที่ลูกงัวเงียนี้ทำให้ลูกน้อยกินนมจากขวดได้ง่ายขึ้นค่ะ

 

วิธีให้ลูกกินนมจากขวด วิธีที่ 3

คราวนี้มาลองอีก 1 วิธี เริ่มจากคุณแม่วางลูกไว้บนตัก โดยทำมุม 45 องศา หยิบจุกนมหลอกให้ลูกดูดก่อนประมาณ 5 วินาที จากนั้นให้ดึงเอาจุกนมหลอกออกแล้วเปลี่ยนเป็นขวดนมแทนอย่างรวดเร็ว พยายามอย่าให้เว้นระยะเวลานานเกินไปนะคะ

 

 

สำหรับเด็กที่มีปัญหาติดนมแม่ ขณะที่คุณแม่ต้องการที่จะทำให้ลูกหย่านมแล้วหันไปดูดนมจากขวดแทน นอกเหนือไปกว่านี้คุณแม่เองก็มีปัญหาในการให้นมจากอกมากพอสมควร แล้วลูกไม่ยอมดูดขวดทำอย่างไรดี งั้นลองปรับกิจวัตรของลูกดูก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยได้เช่นกัน

 

1. ลดการให้นมทีละน้อย

ลองเริ่มต้นจากการค่อย ๆ ให้นมลดลง โดยลดจำนวนเวลาการให้นมลง เช่น จากเดิมทีให้วันละ 3 เวลา ก็ลดให้เหลือวันละ 2 เวลา จากนั้นค่อยลดให้เหลือวันละ 1 เวลา แล้วเลิกให้ไปในที่สุด ค่อย ๆ ทำไปทีละขั้น เพื่อปรับความเคยชินให้ลูกน้อย เมื่อลูกได้รับในช่วงเวลาที่น้อยลง ก็จะค่อย ๆ ปรับตัวได้ตามธรรมชาติ จนกระทั่งลูกน้อยจะสามารถลดอาการติดเต้าและหย่านมแม่ได้เอง แต่ระหว่างที่กำลังหัดลดปริมาณนมแม่ลง ก็ควรที่จะหานมอย่างอื่นมาทดแทนลูกด้วย เช่น นมถั่วเหลือง

 

2. เพิ่มปริมาณอาหารอื่นให้ลูก

การเพิ่มปริมาณอาหารให้ลูก ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการติดเต้าได้ เพราะการเพิ่มปริมาณอาหารจะทำให้ลูกอิ่มนานขึ้น โดยจะต้องเพิ่มอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน แล้วให้นมน้อยลง ปรับสัดส่วนของอาหารที่เพิ่มขึ้นและจำนวนนมที่ลงทีละน้อย แล้วเมื่อลูกอิ่มนานขึ้นและได้รับนมน้อยลงไปเรื่อย ๆ จะเกิดความเคยชินจนหย่านมแม่ไปเอง

 

3. ให้นมอื่นแทนโดยเฉพาะเวลาที่ลูกหิว

ลูกที่ติดนมแม่ มักปฏิเสธในการดื่มนมอื่น แต่จะเจาะจงกินนมแม่เท่านั้น ดังนั้นการจะให้นมอื่นแทนจึงทำได้ยาก แต่มีวิธีอยู่โดยการเลือกให้นมในเวลาที่ลูกหิวจริง ๆ คือถ้าไม่ได้ขอก็ไม่ต้องให้ ให้เฉพาะในตอนที่ขอเท่านั้นซึ่งเป็นเวลาที่ลูกหิวจริง ๆ และใช้เวลานั้นเอานมอื่นให้แทน ลูกจะปฏิเสธไม่ได้และยอมกินไปเอง นานวันเข้าจะสามารถหย่านมแม่ได้ในที่สุด

 

4. ใช้ของขมทาที่หัวนม

วิธีนี้เป็นวิธีโบราณที่ทำต่อกันมา คือ การเอาของขมอย่างบอระเพ็ดมาทาที่หัวนม วิธีนี้จะเป็นการสร้างความจดจำให้ลูกน้อยว่านมแม่เป็นสิ่งที่ขม พอเด็กดูดนมแม่จากอกแล้วรับรสบอระเพ็ดเข้าไป เด็กจะรู้สึกเข็ดและจะไม่รู้สึกอยากดูดนมแม่อีก แต่วิธีนี้แนะนำให้ทำกับเด็กที่มีอายุหนึ่งขวบขึ้นไปเท่านั้น

 

5. ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนดูดนมจากอกแม่

บางครั้งที่เด็กติดนมแม่ ก็เพราะต้องการความอบอุ่นเท่านั้น แต่ไม่ได้ต้องการนมแม่จริง ๆ ฉะนั้นการให้นมอื่นแทนนมแม่ แต่ระหว่างการให้นมนั้น ถ้าคุณแม่สร้างบรรยากาศเหมือนดูดจากอกแม่ทุกอย่างก็ช่วยได้เช่นกัน คือกอดลูกไว้ตลอดและคอยพูดคุยกับลูกอย่างอ่อนโยน ให้ลูกรับรู้ถึงความอบอุ่น เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับเด็ก แล้วเด็กจะเคยชินไปเอง

 

6. เปลี่ยนทรงจุกขวดนม จนกว่าลูกจะถูกใจ

การเลือกวัสดุที่ทำจุกขวดนมให้ดี ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ เนื่องจากบางทีการที่เด็กไม่ยอมดูดนมจากขวด ก็เป็นเพราะจุกยางมีเนื้อสัมผัสที่แข็งบาดปาก หรือรูของช่องดูดนั้นเล็กจนทำให้อากาศออกมาแทนน้ำนมในขวด ส่งผลให้ลูกน้อยท้องอืดและไม่รู้สึกอยากอาหาร คุณพ่อคุณแม่ต้องเลือกจุกนมที่อ่อนนุ่มและระบายนมได้ดี อาจเป็นวิธีที่ต้องลงทุนกันสักหน่อย แต่เพื่อลูกน้อยแล้วก็คุ้มค่า

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

สัญลักษณ์ก้นขวดนมลูก สัญลักษณ์ใต้ขวด บอกอันตราย! ขวดนมไม่ปลอดภัย อย่าซื้อให้ลูก

วิธีเลิกขวด ลูกเลิกขวด กี่ขวบ ถึงจะดี? ฝึกลูกเลิกขวดนม ป้องกันฟันผุ แม่อย่าใจอ่อน!

ของใช้แม่ให้นม สำหรับแม่มือใหม่ ของที่ต้องเตรียมไว้สำหรับแม่และลูกน้อยมีอะไรบ้าง

ที่มา : 1

บทความโดย

Khunsiri