ลูกแรกเกิดน้ำท่วมปอด ความเสี่ยงของการผ่าคลอดตามฤกษ์คลอด โดยไม่คำนึงถึงสภาพร่างกายแม่ สุขภาพของลูกน้อย น้ำท่วมปอดเกิดจาก ก่อนคิดถึงฤกษ์คลอด คิดถึงชีวิตลูกด้วย
ลูกแรกเกิดน้ำท่วมปอดจากฤกษ์คลอดที่ไม่เหมาะสม
รศ.นพ.นพดล สโรบล MBBS,MRCOG สูตินรีแพทย์ กล่าวถึงลูกแรกเกิดน้ำท่วมปอด หรือน้ำท่วมปอดในทารกแรกเกิด จากการคลอดตามฤกษ์ที่ไม่เหมาะสม ว่า ทุกวันนี้ในบ้านเรามีทารกจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาน้ำท่วมปอดเนื่องจากถูกผ่าคลอดออกมาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เร็วเกินไป เด็กยังไม่พร้อม ยังไม่สามารถปรับตัวได้ ผมกำลังพูดถึงกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องกำหนดวันผ่าคลอด
สำหรับอายุครรภ์ที่เหมาะสมสำหรับผ่าคลอดคือระหว่าง 38-40 สัปดาห์ นั่นคือ ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ ในระยะ 5 ปีหลังผลงานวิจัยทั้งจาก ยุโรปและอเมริกาชี้ชัดว่า อายุครรภ์ที่ปลอดภัยที่สุด คือตั้งแต่ 39 สัปดาห์ขึ้นไป แม้กระทั่งช่วง 38-39 สัปดาห์ยังเร็วไปนิดนึง
น้ำท่วมปอด คืออะไร น้ำท่วมปอดเกิดจาก อะไร
ระหว่างที่อยู่ในท้องแม่ ปอดของทารกยังไม่ทำงาน เต็มไปด้วยน้ำ ทารกยังไม่ต้องหายใจ เขาได้รับออกซิเจนจากกระแสเลือดผ่านจากรกมาทางสายสะดือ ทันทีที่คลอดออกมา ทารกต้องเริ่มหายใจเอง ปอดของเขาจะขจัดน้ำออกไปเพื่อให้อากาศเข้ามาแทนที่ ในกรณีที่ทารกคลอดเร็วเกินไป ปอดไม่สามารถขจัดน้ำได้ทันท่วงที เขาตกอยู่ในสภาวะน้ำท่วมปอด หายใจเร็วและหอบ ขาดออกซิเจน ดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด เหมือนคนกำลังจมน้ำ ลองนึกภาพดูสิครับ น่าสงสารเหลือเกิน ต้องอยู่ในตู้อบ ช่วยด้วยออกซิเจน ถ้าโชคดีอาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 2-3วัน แต่ทารกบางคนโชคไม่ดี ทรุดตัวลง มีภาวะแทรกซ้อน ปอดไม่ทำงาน ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ บางกรณีถึงกับเสียชีวิตก็มี แทนที่จะได้ออกมาลืมตาดูโลกอยู่ในอ้อมกอดแม่ ดูดนมแม่ กลับต้องมาทนทุกข์ทรมาน เพียงแค่เพราะถูกผ่าคลอดออกมาเร็วเกินไป เพียงแค่พ่อแม่ของเขาอยากให้เกิดตามฤกษ์
ตอนนี้ผมอยากให้ท่านทั้งหลายลองดูคลิปของทารกแรกเกิดที่มีปัญหาน้ำท่วมปอดตามในลิงค์ที่ผมแนบมา
น่าสงสารมากครับ ใครเห็นก็ต้องสงสาร คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องหัวใจสลาย หลังจากดูคลิปนี่แล้ว ผมอยากถามพ่อแม่ทั้งหลายว่า “คุ้มไหม…คุ้มไหมครับ กับการได้ฤกษ์ที่ต้องการ”
ในเมื่อรู้ว่าไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นทำไมในบ้านเรายังมีการเลือกวันผ่าคลอดที่เร็วเกินไป ก่อน 38 สัปดาห์ ทำให้เกิดการเสี่ยงต่อปัญหาน้ำท่วมปอดในทารกแรกเกิด อยู่เรื่อย ๆ ละครับ คำตอบคือ การขาดความรู้ความเข้าใจ การหลงเชื่อในฤกษ์ยามและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง การตัดสินใจเลือกวันผ่าคลอดเป็นการตกลงกันระหว่างสูติแพทย์เจ้าของไข้กับแม่ที่ตั้งครรภ์
ที่มา : https://www.newtv.co.th/
ก่อนจะห่วงแต่ฤกษ์คลอด ห่วงชีวิตลูกด้วย
ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.วิบูลพรรณ ฐิตะดิลก เปิดเผยถึงความนิยมการผ่าคลอดโดยใช้ฤกษ์คลอดว่า การผ่าตัดคลอดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับเหตุผลที่พ่อแม่เลือกวิธีการผ่าตัดคลอดมาจากหลายปัจจัย เช่น กลัวความเจ็บปวดจากการคลอดธรรมชาติ หรือบางคนอาจจะไม่อยากให้ช่องคลอดฉีกขาด เป็นต้น แต่เหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากการห่วงความปลอดภัยของเด็ก และการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็ทำให้พ่อแม่เชื่อว่าการผ่าตัดและดมยาสลบ มีความปลอดภัยสูงขึ้นกว่าเดิม ส่วนเหตุผลรองลงมาคือ ความต้องการเลือกฤกษ์เกิดเด็ก แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกของ 2 ฝ่าย ทั้งแพทย์และคนไข้
ข้อดี VS ข้อเสียของการผ่าตัดคลอด
ข้อดีของการผ่าคลอด
โอกาสที่ทารกจะบาดเจ็บจากการคลอด เช่น ติดไหล่ จะน้อยลง ขณะที่แพทย์ก็สามารถกำหนดเวลาที่เหมาะสมได้ ทำให้ไม่ต้องเฝ้าคลอดนาน
ข้อเสียของการผ่าคลอด
- คนไข้มีโอกาสต้องผ่าตัดซ้ำสูง ซึ่งกระทบต่อระบบสุขภาพในภาพรวม เช่น การแย่งห้องผ่าตัด และอาจเกิดปัญหาเมื่อตั้งครรภ์ใหม่แล้วไปคลอดในสถานพยาบาลที่ไม่มีห้องผ่าตัดอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- เสียเลือดมากกว่าปกติ
- เพิ่มโอกาสที่จะติดเชื้อ
- เพิ่มความเสี่ยงจากเรื่องวิสัญญี
- บางครั้งการตามใจคนไข้อาจทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากเลือกเวลาที่ไม่เหมาะสม เวลาที่แพทย์หรือบุคลากรผู้ช่วยไม่พร้อม
- คนไข้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
- การมีแผลผ่าตัดที่ตัวมดลูกทำให้เสี่ยงต่อมดลูกแตกเวลาตั้งท้องครั้งใหม่
- กรณีตั้งครรภ์ใหม่ พบรกเกาะต่ำได้บ่อยขึ้น และฝังตัวลึกกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องตัดมดลูกทิ้ง
ที่มา : https://mgronline.com/home
จะเห็นได้ว่า การผ่าคลอดตามฤกษ์คลอดโดยไม่คำนึงถึงร่างกายของแม่ท้องและลูกในครรภ์ อาจก่อให้เกิดผลร้ายอย่างลูกแรกเกิดน้ำท่วมปอดได้ หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัว อยากผ่าคลอดตามฤกษ์จริง ๆ ควรพูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ก่อนตัดสินใจไปหาฤกษ์ผ่าคลอดจากหมอดูนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
15 ภาพผ่าคลอด ที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน ลงมีด ดูดน้ำคร่ำ จนลูกคลอด
ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง แม่ผ่าคลอด มีลูกได้กี่คน อันตรายไหม และต้องดูแลตัวเองยังไง
บล็อกหลังคลอดลูก ปลอดภัยแค่ไหน มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ อาการคนท้อง และพัฒนาการของทารกในครรภ์