บ้านไหนที่มีลูกวัย 2 ขวบขึ้นไป เริ่มเจอพฤติกรรม ลูกเอาแต่ใจ กันบ้างหรือยัง สาเหตุที่ลูกเป็นแบบนี้เป็นเพราะเจ้าตัวเล็กเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น อยู่ในช่วงที่กำลังเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกอยู่ แต่ถ้าหันมามองอีกมุม การที่เอาแต่โทษว่าเป็นนิสัยไม่ดีของลูก อาจเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้ฟังเหตุผลที่ลูกพยายามจะอธิบาย หรือมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปอยู่หรือเปล่า
บางทีอาจไม่ใช่ ลูกเอาแต่ใจ แต่เป็นพ่อแม่นั้นแหละที่เอาแต่ใจตัวเอง!!
เรื่องราวที่พ่อกอล์ฟ ฟักกิ้งฮีโร่ แรปเปอร์ชื่อดังได้แชร์มุมมองในการเลี้ยงน้องชูใจ ลูกสาวตัวน้อยสุดที่รักในวัย 2 ขวบเศษ โดยได้โพสต์ข้อความว่า
“เช้านี้ชูใจไม่ยอมกินข้าว อาหารของเธอเป็นข้าวราดไก่ผัดเห็ดหอมซึ่งปกติทุกเช้าเธอจะฝึกกินข้าวเอง ดีบ้างเลอะบ้าง แต่ช่วงนี้ก็จะพยายามให้กินเองให้จบมื้อโดยนั่งมองอยู่ใกล้ๆ
ผมพยายามกล่อมให้เธอกินข้าวให้หมดจาน ด้วยการบอกว่าถ้ากินหมดจะให้กินแอ๊ปเปิ้ล เธอพยายามกิน เคี้ยวซักพักก็คายเศษไก่และข้าว
ผมดุเธอว่าอย่าคายข้าว ลูกหน้าเสีย เธอไปลากเก้าอี้มาบอกจะขอนั่งตัวนี้ ผมเริ่มอารมณ์เสีย บอกเธอว่าอย่านอกเรื่อง มากินข้าวให้หมด
เธอพูดเศร้า ๆ ว่า หนูปวดฟัน
ผมให้เธอยิงฟันให้ดู ฟันเธอเป็นปกติ ผมดุเธอว่าอย่าโกหก อย่าเอาแต่ใจ มานั่งกินข้าวเดี๋ยวนี้ เธอบอกว่าเธอปวดขาจะขอนั่งเก้าอี้อีกตัว ผมแน่ใจว่าเธองอแงเพื่อเบี่ยงประเด็นการกินข้าวแล้วเถียงเธอว่าเก้าอี้ตัวไหนก็เหมือนกัน ก่อนจะลากจานข้าวมา เอาช้อนตัดชิ้นไก่เพื่อที่จะป้อน บังคับให้เธอกินให้จบ
เมื่อช้อนพลาสติกตัดบนชิ้นไก่ ผมพบว่าข้อมือผมต้องใช้แรงมากกว่าปกติ จึงตัดสินใจตักไก่ทั้งชิ้นลองเคี้ยวและพบว่านี่มันไก่สักยันต์ชัดๆ เนื้อมันเหนียวมาก
ชูใจไม่รู้จักคำว่าเมื่อยกรามหรือเนื้อเหนียว เธอรู้จักแค่คำว่าปวดฟัน
สติผมเริ่มกลับมา ผมลองสังเกตดูเก้าอี้ตัวแรกที่เธอนั่ง มันมีลักษณะเตี้ยและเธอต้องนั่งชันเข่า วันนี้เป็นวันที่ใช้เวลาปล้ำกันกินข้าวนานกว่าปกติ เธอจึงไปลากเก้าอี้ตัวสูงอีกตัวมาเพื่อที่จะนั่งห้อยขา
ชูใจไม่รู้จักคำว่าเมื่อยขา และเก้าอี้ไม่ได้เหมือนกันทุกตัวอย่างที่ผมเถียงเธอ
ฉับพลันนั้นผมจึงคิดได้ ในวัยที่ลูกเริ่มพูดรู้เรื่อง เริ่มเจรจาต่อรองเป็น ไม่เพียงพ่อแม่จะต้องสอนด้วยการพูดกับเขาให้มากขึ้น .. แต่บางครั้งสิ่งสำคัญกลับเป็นการนิ่งและตั้งใจฟังเขาให้มากขึ้น
ผมรีบเอ่ยคำขอโทษลูก ตอนนั้นอยู่ ๆ ภาพก็ย้อนให้คิดถึงตัวเองตอนวัยรุ่น ในวันที่ผมพยายามตะโกนความรู้สึกให้ผู้ใหญ่รับฟังแต่ไม่มีใครได้ยิน มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดกว่าการถูกปิดปากไม่ให้พูดส่งเสียงมากมายนัก
ผมกอดเธอ หอมแก้มเบาๆ ก่อนจะบอกให้เธอลากเก้าอี้ตัวสูงมานั่ง เธอนั่งห้อยขา กินข้าวที่ผมตั้งใจตัดและบดไก่จนละเอียดพอดีคำจนหมดจาน
ระหว่างให้เธอกินแอ๊ปเปิ้ลตามสัญญา ผมเห็นเธอยิ้มให้ผม
รอยยิ้มของลูกไม่มีเสียง
แต่นั่นกลับเป็นคำสอนคำโตแก่พ่ออย่างผมว่า บางครั้งที่เราคิดถึงแต่ความสบายและเร่งรัดทุกอย่างให้เป็นดังใจตัวเองคิด นั่นคือการเห็นแก่ตัวและเอาแต่ใจของเราเอง
และเรามักโยนความผิดให้เขาด้วยคำว่า .. อย่าเอาแต่ใจสิลูก”
www.instagram.com/p/BbGq1Q1H7t3/?taken-by=ftodah
ถ้าใส่ใจลูกมากขึ้น เราจะรู้ว่าลูกอาจจะไม่ได้เป็นเด็กเอาแต่ใจก็ได้ >>
เพราะเด็กในวัย 2-4 ขวบ แม้เราจะเห็นว่าลูกสามารถพูดได้บ้างแล้ว ทำอะไรด้วยตัวเองพอได้แล้ว แต่นั้นก็ไม่ได้ความว่าจะเป็นความสามารถที่ลูกทำได้ที่สุด ความใส่ใจของพ่อแม่ที่มองเห็น รับรู้ และรับฟัง เปิดโอกาสให้ลูก จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ
แต่สำหรับพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบตามใจมากเกินไปจริง ๆ ให้ตามที่ลูกขอทุกอย่าง พฤติกรรมแบบนี้แหละที่จะนำไปสู่ ความเอาแต่ใจของลูกได้ และทำให้ลูกมีนิสัยเสียติดไปจนโต ดังนั้นพ่อแม่ควรจะเข้าใจถึงความต้องการและปรับวิธีการเลี้ยงลูกให้เหมาะสมตามวัย โดยสอนลูกตั้งแต่อายุยังน้อย ทำอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถปรับให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ไม่เป็นเด็กเอาแต่ใจขึ้นได้
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เอาแต่ใจ
· คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติในวัยเด็กของลูก และเริ่มต้นที่จะฝึกลูกด้วยการไม่ตามใจทุกครั้งที่ร้องไห้งอแง เพื่อจะไม่ติดนิสัยนี้ขึ้นมาตอนโต
· เริ่มฝึกลูกน้อยตั้งแต่วัย 2 ขวบ หัดให้ลูกเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเอง เช่น การให้เริ่มใส่เสื้อผ้า กินข้าว, ดื่มน้ำจากแก้วด้วยตัวเอง ฯลฯ
· หาโอกาสพาลูกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้ลูกได้เจอเพื่อนในวัยเดียวกัน เพื่อลูกจะได้รู้จักการแบ่งปัน การได้รับและการให้
· พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ชวนลูกคุยและรับฟังถึงความต้องการของลูก คิดอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองต้องการ และแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกัน
· เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น ยอมรับว่าลูกเลือกที่จะใส่เสื้อตัวนี้ หรือให้ลูกเลือกหนังสือที่อยากอ่าน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลูกอารมณ์ดีและมีความสุขในสิ่งที่เขาได้เลือกและพ่อแม่ก็ยอมรับ
อย่าลืมนะคะว่า “พ่อแม่” คือคนที่เข้าใจลูกมากที่สุด
ขอบคุณ : instagram.com/ftodah instagram.com/belleinsmile
บทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ :
สุดยอดวิธีรับมือเมื่อลูกสาวกรีดร้องนอกบ้านของพ่อ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่
เมื่อลูกสาวเขวี้ยงส้อมลงพื้น พ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ จึงต้องสอนแบบนี้
มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย
ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!