ลูกเอาหัวหรือก้นออก แม่ท้องดูอย่างไร ถ้าลูกไม่กลับหัวจะเกิดอะไรขึ้น

จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกเอาหัวหรือก้นออก ทำไมลูกถึงอยู่ท่าก้น อันตรายจากการที่ทารกอยู่ท่าก้นมีอะไรบ้าง แล้วจะทำอย่างไรดี

ลูกเอาหัวหรือก้นออก จะรู้ได้อย่างไร

ท่าของทารกในครรภ์ มีความสำคัญมากต่อการคลอด เราจึงมักได้ยินคำถามที่แม่ท้องมักจะถามกันอยู่บ่อย ๆ นั่นก็คือ ลูกกลับหัวหรือยัง ลูกเอาหัวหรือก้นออก หรือ ลูกอยู่ท่าไหนแล้ว

 

 

เมื่อแม่ท้องไปพบคุณหมอแล้ว คุณหมอจะตรวจด้วยการคลำหน้าท้อง ประกอบกับการใช้หูฟัง (Stethoscopes) เพื่อให้รู้ว่าทารกอยู่ท่าไหน ในช่วงก่อนคลอด

และนอกจากการตรวจหน้าท้องแล้ว พอปากมดลูกเปิด คุณหมอก็จะทำการตรวจภายใน โดยอาจจะมีการใช้นิ้วมือสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อดูว่าเป็นกะโหลกศีรษะ เป็นหน้า หรือเป็นก้น เพื่อให้แน่ใจว่าทารกอยู่ในท่าอะไร

นอกเหนือจาก 2 วิธีข้างต้นแล้ว ยังสามารถใช้เครื่องตรวจความถี่สูง หรืออัลตราซาวน์ เพื่อตรวจดูว่าท่ารกอยู่ท่าไหน ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ทราบตำแหน่งของทารกได้อย่างแม่นยำ

 

พัฒนาการท่าของทารกในครรภ์

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ลูกในท้องจะยังอยู่ในท่าที่ไม่แน่นอน อาจจะหมุนตัวเฉียงไปเฉียงมาบ้าง ท่าศีรษะบ้าง ท่าขวางบ้าง หรือก็อาจจะมีบางคนที่อยู่ท่าก้น ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะทารกยังตัวเล็กและอยู่ในน้ำคร่ำที่มีมาก จึงทำให้ทารกในครรภ์ขยับไปขยับมาได้ง่าย

เมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 21 – 24 สัปดาห์ ในช่วงนี้ จะมีทารกในครรภ์ประมาณร้อยละ 33 ที่อยู่ในท่าก้น แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ทารกโตขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่ในแนวตั้ง จนเมื่ออายุครรภ์ได้ประมาณ 37 – 40 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงใกล้คลอด ก็จะมีทารกในครรภ์ที่ยังอยู่ท่าก้นเพียงร้อยละ 4 – 6 เท่านั้น

 

สาเหตุที่ทำให้ทารกอยู่ท่าก้น

การที่ทารกคลอดท่าก้น ส่วนใหญ่จะยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดนัก แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกคลอดยาก เช่น

  • ทารกครรภ์แฝด, แฝดน้ำ
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย หรือน้ำคร่ำมากเกินไป
  • ทารกในครรภ์ผิดปกติ เช่น ทารกหัวบาตร, ทารกไม่มีสมอง
  • รกผิดปกติ
  • มีเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน

 

อันตรายจากการคลอดท่าก้น

ในการคลอดปกติ เมื่อทารกเอาศีรษะคลอดออกมาแล้ว ส่วนอื่นก็จะคลอดตามมาได้ เว้นแต่ถ้าทารกโตมาก ก็อาจจะติดไหล่ได้ แต่ถ้าทารกคลอดท่าก้น ก็จะทำให้คลอดยาก ใช้เวลาคลอดนาน หรืออาจจะต้องเสี่ยงต่อการที่ก้นออกมาแล้ว แต่ศีรษะยังติดอยู่ ไม่สามารถคลอดศีรษะออกมาได้

การคลอดท่าก้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ภาวะขาดอากาศอย่างรุนแรง ที่อาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ หรืออาจทำให้ทารกได้รับบาดเจ็บจากแรงกดของทางออกอุ้งเชิงกราน หรือจากการดึงจากการช่วยคลอด

 

ลูกเอาหัวหรือก้นออก

ทำอย่างไรถ้าทารกอยู่ท่าก้น

หากทารกอยู่ท่าขวาง คุณหมอก็จะทำคลอด โดยการผ่าตัดคลอด แต่ในกรณีที่ทารกอยู่ท่าก้น คุณหมอก็จะประเมินปัจจัย และความเสี่ยงต่างๆ ก่อนที่จะเลือกวิธีการคลอดที่ปลอดภัยกับแม่ท้องที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดคลอด หรือการคลอดทางช่องคลอด เพื่อลดภาวะเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับแม่ท้องให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำหรับแม่ท้องท่านใด ที่ทราบว่าทารกในครรภ์อยู่ในท่าผิดปกติ หรือแม่ท้องที่ยังยังไม่ทราบว่าทารกอยู่ท่าไหน ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจไป เพราะคุณหมอที่ดูแล จะคอยให้คำแนะนำที่ดีและปลอดภัยที่สุดกับแม่ท้องทุกคนอยู่แล้วครับ

 

ที่มา doctor.or.th

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ความรู้สึกเมื่อลูกกลับหัว แม่ท้องจะรู้สึกอย่างไร แล้วตอนไหนที่ลูกถึงจะกลับหัว

ยาเร่งคลอด ส่งผลต่อทารกอย่างไร อันตรายกับแม่ท้องมากไหม

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด จะคลอดเองหรือผ่าคลอด ก็ฟื้นตัวเร็วได้

บทความโดย

theAsianparent Editorial Team