และแล้วก็ถึงเวลาที่ลูกน้อยของคุณแม่ กำลังจะเติบโตขึ้นไปอีกช่วงวัยหนึ่งแล้ว ฟันน้ำนม ซึ่งเป็นฟันชุดแรก กำลังจะผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนขึ้นมาเป็นฟันแท้ ที่จะอยู่กับลูกของคุณแม่ไปอีกนานเท่านาน กระนั้น การดูแลรักษาฟันน้ำนมไปจนกว่าช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนจะเสร็จสิ้น ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และมีผลต่อ ลำดับการหลุดของฟันน้ำนม ซึ่งจะทำให้ฟันชุดที่สอง หรือฟันแท้ของลูก งอกออกมาได้อย่างสวยงาม
ลำดับการหลุดของฟันน้ำนม ตั้งแต่เริ่มต้น จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กินเวลากว่า 6 ปี การขึ้น และหลุดของฟันน้ำนม เป็นหนึ่งในก้าวย่างการเจริญเติบโตของลูก โดยฟันแท้จะเริ่มดันตัวขึ้นมา ทำให้ฟันน้ำนมเริ่มโยก หลุดร่วง และสละหน้าที่ให้กับฟันแท้ในที่สุด
ลำดับการหลุดของฟันน้ำนมลูก สำคัญอย่างไร ?
เด็กส่วนใหญ่จะมีฟันแท้ซี่แรก เมื่ออายุราว 6 ขวบ นั่นหมายความว่า จะเป็นช่วงเวลาที่ฟันน้ำนมเริ่มหลุดเช่นกัน หากแต่ช่วงอายุที่ฟันน้ำนมเริ่มหลุด ไม่สำคัญเท่ากับลำดับการหลุดของฟันน้ำนม และลำดับการขึ้นของฟันแท้ ฟันน้ำนมของเด็กบางคนอาจจะหลุดตั้งแต่ 4 ขวบ หรือบางคนอาจจะเริ่มหลุดค่อนข้างช้า ตอนอายุ 7 ขวบก็เป็นได้ โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ช่วงเวลาผลัดเปลี่ยนชุดฟันของเด็ก ๆ ไม่เท่ากัน ก็มาจากช่วงเวลาที่ฟันน้ำนมเริ่มต้นงอกออกมาให้เห็น ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 3 เดือน – 1 ขวบครึ่ง หากลูกเริ่มมีฟันน้ำนมให้เห็นเร็ว ฟันชุดแรกนี้ ก็จะหลุดไปเร็ว แล้วก็จะมีฟันแท้เร็วตามไปด้วย
ลำดับการหลุดของฟันน้ำนมเป็นอย่างไร ?
การขึ้นของฟันน้ำนมไม่ได้มีลำดับที่ชัดเจนมากนัก ไม่ฟันซี่หน้า ก็ฟันเขี้ยวที่มักจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นก่อนเพื่อน หากแต่การหลุดของฟันน้ำนมนี้ มีลำดับขั้นตอนที่มักจะเหมือนกันในเด็กแต่ละคน
โดยฟันซี่แรกที่มักจะโยกก่อนซี่อื่น ๆ ก็คือ ฟันหน้าสองซี่ล่าง หรือที่เรียกว่าฟันตัด ที่จะหลุดก่อน ต่อด้วยฟันหน้าสองซี่บน จากนั้นจึงจะขยับเข้าด้านข้าง และด้านในคือ ฟันตัดซี่ที่อยู่ด้านข้าง ฟันกรามชุดแรก ฟันเขี้ยว และตบท้ายด้วยฟันกรามชุดที่สอง
ฟันน้ำนมแต่ละซี่ จะหลุดตอนที่ลูกอายุเท่าไหร่ ?
ช่วงอายุที่ฟันน้ำนมของลูกจะเริ่มหลุดคือตั้งแต่ 4 – 7 ขวบ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าลูกมีฟันโผล่ขึ้นมาให้เห็นตอนอายุกี่ขวบ โดยทั่วไปแล้ว เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ จะรู้สึกว่า ฟันน้ำนมสองซี่ด้านหน้าเริ่มจะโยก ตอนอายุประมาณ 5 ขวบ ลูกอาจจะรู้สึกมันเขี้ยว และเอาลิ้นไปดัน ๆ เจ้าฟันโยกเยกคู่นี้ไม่หยุดเลยทีเดียว
ฟันน้ำนมของลูกจะค่อย ๆ ผลัดกันโยก และหลุดออกไป กระทั่งมีฟันแท้ซี่ใหม่เข้ามาทดแทน จนถึงอายุ 8 – 13 ปี ฟันแท้เกือบครบทุกซี่ ยกเว้นฟันกรามด้านในสุด ก็จะขึ้นมาเรียงกันอย่างสวยงาม และไม่มีควรจะมีฟันน้ำนมเหลืออยู่แล้วในตอนนี้
ฟันแท้ซี่แรกของลูก จริง ๆ แล้วอยู่ตรงไหน ?
คุณแม่หลายท่านอาจจะคิดว่า ฟันน้ำนมคู่หน้าที่มักจะโยกก่อนใครเพื่อน จะเป็นตำแหน่งที่ฟันแท้ซี่แรกจะงอกออกมา อันที่จริง ฟันแท้ซี่แรกของลูกได้โผล่ขึ้นมา ตั้งตระหง่านอยู่ก่อนที่ฟันน้ำนมคู่หน้าจะโยกเสียอีก โดยตำแหน่งของฟันแท้ซี่แรกนี้ คือฟันกรามซี่ในสุดบนสันเหงือก เมื่อคุณแม่จับดูแล้วรู้สึกถึงอะไรแข็ง ๆ ใต้เหงือกด้านในสุดของลูก ก็แสดงว่าฟันแท้ซี่แรกของลูกกำลังจะงอกออกมาแล้ว
ฟันน้ำนมโยก แต่ไม่หลุด จำเป็นไหมต้องไปหาหมอ ?
ฟันน้ำนมหลุดมักจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แม้ว่าจะน่ารำคาญไปบ้าง แต่ไม่ควรจะสร้างความเจ็บปวด แสนสาหัสอะไรขนาดนั้น ทันตแพทย์บางท่านอาจจ่ายยาแก้ปวด หรือแนะนำให้ประคบเย็น เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด เมื่อฟันเริ่มโยก คุณพ่อคุณแม่สามารถบอกให้ลูกขยับ หรือโยกฟันไปมาเบา ๆ เป็นระยะ หากฟันโยกมาก ๆ เข้า ลองหมุนฟันเบา ๆ ก็อาจจะช่วยให้ฟันหลุดได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ การกระชากฟันที่เริ่มโยกให้หลุดออกทันที เพราะอาจจะเป็นการทำลายเส้นประสาท หรือรากฟันได้
โดยปกติ ฟันน้ำนมที่โยก จะสามารถหลุดออกได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์ เพื่อถอนฟันเสียด้วยซ้ำ หากแต่ฟันน้ำนมที่โยกนั้น ไม่ยอมหลุดออกมา และน่ารำคาญเสียเต็มที่ ก็สามารถไปพบคุณหมอ เพื่อถอนออกได้
ปัญหาอะไรบ้าง ที่อาจเกิดจากฟันน้ำนมไม่หลุดตามลำดับ ?
-
ฟันเก ฟันซ้อน
หนึ่งในหน้าที่ของฟันน้ำนมก็คือการจับจองพื้นที่ว่างเอาไว้ รอจนกว่าฟันแท้จะพร้อม และงอกขึ้นมาทดแทน การที่ฟันน้ำนมของลูกหลุดก่อนถึงเวลาอันเหมาะสม สาเหตุจากฟันผุ ฟันไม่แข็งแรง โรคเหงือก และอื่น ๆ อาจจะทำให้ฟันแท้งอกออกมามีลักษณะเก หรือเบี้ยว เช่นเดียวกันกับกรณีที่ฟันน้ำนมหลุดช้าเกินไป ก็อาจจะทำให้ฟันแท้ที่อยู่ใต้เหงือกไม่อาจดันให้ฟันน้ำนมหลุดออกไป ฟันแท้อาจจะงอกขึ้นมาซ้อนกับฟันน้ำนม จึงทำให้เกิดฟันเก ฟันซ้อนได้
อย่างไรก็ตาม การเกิดฟันเก หรือฟันซ้อน อาจจะไม่ได้มีสาเหตุมาจากลำดับการหลุดของฟันน้ำนมเสียทีเดียว กล่าวคือ แม้ว่าจะถอนฟันน้ำนมออกตามเวลาที่เหมาะสม ก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาฟันซ้อน หรือฟันเกได้ หากลักษณะฟันยังเป็นเช่นนี้ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาวะฟันซ้อน หรือฟันเก สร้างปัญหาอื่น ๆ ในช่องปากได้ในอนาคต
-
ฟันหลอ สาเหตุจากฟันหลุดก่อนกำหนด
ฟันน้ำนมที่หลุดก่อนกำหนด จากฟันผุ หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ จะทำให้ลูกฟันหลอชั่วคราวอย่างแน่นอน ซึ่งการรักษาพื้นที่ว่างเอาไว้สำหรับฟันแท้ สามารถทำได้โดยใส่เครื่องมือที่เรียกว่า Space maintainer ซึ่งจะช่วยรักษาขนาดช่องว่างระหว่างฟัน เพื่อรอให้ฟันแท้งอกขึ้นมาตามเวลาที่เหมาะสม ช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาฟันเก ฟันซ้อน เนื่องจากฟันน้ำนมหลุดเร็วเกินไปได้ หากฟันน้ำนมของลูกหลุดก่อนอายุ 4 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาลูกไปปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเช่นกัน
-
ฟันน้ำนมหลุดช้า หรือไม่ยอมหลุด
นอกจากจะมีกรณีที่ฟันน้ำนมหลุดก่อนอายุ 4 ขวบแล้ว ก็ยังมีกรณีที่ลูกอายุ 8 ขวบ แต่ฟันน้ำนมก็ยังไม่ยอมโยก และหลุดไปเสียที ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในช่องปาก หรือไม่ก็ได้ ทางที่ดีคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ เพื่อเอกซเรย์ดูว่าฟันแท้ของลูกเป็นอย่างไร
โดยปกติแล้วฟันน้ำนมจะโยก ก็ต่อเมื่อถูกฟันแท้ที่อยู่ด้านล่างดันขึ้นมาเพื่อจะแทนที่ หากกระบวนการนี้ไม่เกิดขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่าลูกน้อยจะมีฟันแท้ไม่ครบทุกซี่
-
ฟันเกิน
กรณีที่มีจำนวนฟันในปากมากเกิน ก็อาจจะทำให้ฟันแท้ขึ้นผิดปกติได้เช่นกัน
ควรดูแลฟันแท้ที่ขึ้นใหม่อย่างไรบ้าง ?
หลังจากจัดการกับฟันน้ำนมที่หลุดไปแล้ว การดูแลฟันแท้ที่ขึ้นใหม่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ ครึ่งปี และสอนลูกเรื่องการแปรงฟันให้ถูกวิธี เช่น ต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง แต่ละครั้งต้องนานมากกว่าหนึ่งนาที ลูกควรใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟัน เพื่อขจัดคราบ และเศษอาหารตามซอกฟัน ป้องกันฟันผุ และโรคเหงือก การรู้จักรักษาอนามัยในช่องปากตั้งแต่ยังเล็กเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้นิสัยนี้ติดตัวไป จนถึงวัยผู้ใหญ่
source : stlouisbraces
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง
เช็กด่วน! รูเล็กๆข้างหูของลูก สัญญาณร้ายที่ไม่ควรมองข้าม