รับมือ!!!โรคภัยในหน้าฝน

ช่วงนี้เริ่มมีฝนพร่ำ ๆ เข้ามาแล้วนะคะ สายฝนเริ่มโปรยปรายมาเมื่อไหร่โรคภัยไข้เจ็บเริ่มถามหา มาดูกันว่าฝนมาแล้วจะพัดเอาโรคอะไรมาบ้าง มาเตรียมการรับมือ!!!โรคภัยในหน้าฝนกันค่ะ ติดตามอ่าน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

รับมือ!!!โรคภัยในหน้าฝน

1. ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ คือ หายใจสูดละอองฝอยจากการไอหรือจามหรือสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ แล้วเอามือเข้าปาก จับจมูก จับตา ระยะฟักตัว 1 – 3 วัน มักระบาดในช่วงหน้าฝนและช่วงหน้าหนาว

อาการ

1. มีไข้สูงเฉียบพลันและจะมีไข้อยู่ประมาณ 3 – 7 วัน อาจมีอาการหนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อตามเนื้อตัว

2. มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ ไอแห้ง ๆ คัดจมูก เจ็บคอมาก น้ำมูกไหล ตาแดงและอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

3. บางคนมีอาการเบื่ออาหาร บางรายมีอาการปวดน่องมากจนเดินไม่ได้ อาจมีอาการแทรกซ้อน คือ หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นสมองอักเสบและเสียชีวิตได้

อาการแบบนี้พบหมอโดยด่วน

1. มีไข้เกิน 3 วัน ขึ้นไป และมีอาการซึมลง อ่อนเพลีย ปวดท้อง ต้องเจาะเลือดเพื่อดูเชื้อโรคที่เกิดขึ้น

2. สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ ปวดหู หูอื้อ มีน้ำไหลออกจากหู ไซนัสอักเสบ คือ น้ำมูกมีสีเหลืองและเขียว ปวดหว่างคิ้วหรือโหนกแก้ม ปอดอักเสบเพราะไอมาก

3. เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก ต้องรีบให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดเพื่อเป็นพลังงานทดแทน

การดูแลรักษา

1. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ แก้ปวด แก้ไอ ลดน้ำมูก ลดอาเจียน ควรดื่มน้ำมาก ๆ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่ย่อยง่าย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

2. ดูแลภาวะแทรกซ้อน คุณหมอจะจัดยาปฏิชีวนะในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดในกรณีที่ทานอาหารไม่ได้ อาจต้องให้ออกซิเจน ยาพ่นละอองฝอย

2. ไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ หูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ

ทั้ง 6 โรคนี้เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดได้จากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เด็ก ๆ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล โรคคอและต่อมทอนซิลอักเสบ จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก ทานอาหารได้น้อย ทั้งสองโรคมักพบได้บ่อย สำหรับโรคหูอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ พบได้น้อยกว่า แต่อาการจะรุนแรงกว่า เพราะเป็นภาวะแทรกซ้อนซึ่งเกิดตามหลังจากการอาการหวัดหรือคออักเสบอีกทีหนึ่ง เช่น โรคหูอักเสบซึ่งมักจะมีหวัดนำมาก่อน แล้วจึงมีอาการปวดหู งอแง มีน้ำไหลออกจากหู และมักตรวจพบเยื่อแก้วหูบวม แดง หรือทะลุ โรคเหล่านี้มักจะพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปี เพราะเป็นวัยที่ร่างกายยังสร้างภูมิต้านทานไม่พอ

บทความแนะนำ รับมือ!!อาการคออักเสบในเด็กให้ถูกวิธี

การดูแลรักษา

1. ในเบื้องต้นหากลูกมีไข้ คุณแม่จัดยาลดไข้ให้ลูกตามฉลากยาแนะนำได้ค่ะ

2. หากลูกไม่มีไข้ก็ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่นอนตากแอร์ หรือตากพัดลม

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

3. ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ไม่ดื่มน้ำเย็น น้ำแข็งหรือไอศกรีม เพราะจะทำให้คัดจมูกและน้ำมูกไหล ไอมากขึ้น อาจใช้บาล์มเมนโมลาทัมทา หรือใช้น้ำมันยูคาลิปตัสหยดที่เสื้อผ้า เพราะไอระเหยจากสารเหล่านี้ช่วยให้จมูกโล่งหายใจสะดวกขึ้น ให้ลูกนอนยกศีรษะสูงเพื่อช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก

4. ควรให้หยุดเรียนเพื่อจะได้นอนพักมาก ๆและป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากโรงเรียน

5. หากมีน้ำมูกมากจนหายใจลำบากและเด็กสั่งน้ำมูกไม่เป็น ให้ใช้น้ำเกลือ 0.9% NSS หยดเข้ารูจมูกข้างละ 2 – 3 หยด จะช่วยให้คราบน้ำมูกนิ่มจนคุณแม่เขี่ยออกได้ง่ายขึ้น หรือหลุดออกมาง่ายเวลาที่ลูกจาม ทำให้หายใจสะดวกขึ้น

6. ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะให้ลูกทานเอง เพื่อป้องกันการแพ้ยา และปัญหาโรคไม่หายขาดเนื่องจากได้รับยาไม่ครบหรือปัญหาเชื้อดื้อยาในภายหลัง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

7. คุณแม่อาจให้ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไข้ ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการ จะช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และอาการไอ ซึ่งจะรบกวนการดื่มนมและการนอนของลูก

8. หากมีอาการรุนแรง อาเจียนมาก หายใจหอบ หรือหายใจไม่ออก ต้องรีบพบคุณหมอโดยด่วน

3. ไข้เลือดออก

เกิดจากเชื้อไวรัส คนติดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด โดยทั่วไปการรับเชื้อครั้งแรกมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด หลังจากที่หายแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันจำเพาะสำหรับสายพันธุ์นั้น ไม่สามารถป้องกันไวรัสหรือเชื้อสายพันธุ์อื่นได้

อาการ

1. มีไข้สูง 39 – 40 องศาเซลเซียสนานติดต่อกัน 3 – 7 วัน

2. หน้าแดงจัด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก ปวดน่อง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร และอาจมีอาการเจ็บคอ แต่ไม่มีน้ำมูก หรือไอ

3. หากมีอาการรุนแรง เช่น ตับโต มีอาการทางสมอง เช่น ซึม มีจุดเลือดตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายเป็นเลือด

4. ความดันโลหิตต่ำลง หรือช็อก ปลายมือปลายเท้าเย็น ซึมมาก ปัสสาวะออกน้อย และอาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

การดูแลรักษา

1. ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง คือ ไม่มีปัญหาทางสมอง ไม่มีเลือดออก ไม่ช็อก สามารถดูแลที่บ้านได้ โดยให้นอนพัก สำหรับเด็ก ๆ อย่าให้ออกไปเล่นซุกซนหรือออกแรงมาก หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก ไม่ให้แคะจมูก เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ และให้ดูแลรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัว

เรื่องน่ารู้ที่สำคัญ : ห้ามใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้มีเลือดออกมาขึ้น

2. ให้ยาแก้อาเจียนในรายที่มีอาการอาเจียนด้วย และควรให้ทานอาหารชนิดอ่อนย่อยง่าย ให้ทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ จะได้ไม่อาเจียนง่าย ไม่ควรให้ทานอาหารที่มีสีแดง เพราะจะทำให้เกิดความสับสนกับการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร

3. ให้ดื่มเกลือแร่หรือน้ำหวานบ่อย ๆ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ สำหรับเด็กที่ทานได้น้อยหรือมีอาการรุนแรง ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความแนะนำ ยาต้องระวัง! อย่าให้ลูกกินตอนเป็น ไข้เลือดออก

อ่าน รับมือ!!!โรคภัยที่มากับหน้าฝน (ต่อ) คลิกหน้าถัดไป

4. โรคท้องร่วง

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำดื่มหรืออาหารที่ไม่สะอาด เมื่อฝนตกเกิดน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เมื่อร่างกายได้รับเชื้อหรือพิษของโรค จะมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจมีไข้ต่ำ ๆหรือไข้สูงร่วมด้วย หากปัสสาวะออกน้อย อาจส่งผลให้ช็อกหรือเสียชีวิตได้

1. ให้ยาระงับอาการ เช่น ลดไข้ ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ยาขับลม และยาฆ่าเชื้อตามแพทย์สั่ง

2. ให้อาการอ่อนที่ย่อยง่ายหรือนมครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อย ๆ

3. ให้จิบน้ำเกลือ ORS เพื่อทดแทนของเหลวที่เสียไป

4. งดกินของแสลงตอนท้องเสียจนกว่าอาการจะดีขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ นมวัว เปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองแทน หากลูกไม่ยอมกินสามารถใช้นมเดิมที่กินอยู่แต่ผสมน้ำให้เจือจางกว่าปกติ 1 เท่าตัว

5. เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นจึงค่อย ๆกลับไปดื่มนมตามปกติ

6. ห้ามใช้ยาหยุดถ่ายในเด็ก เพราะเชื้อโรคจะคั่งในร่างกายจนเป็นอันตรายได้

บทความแนะนำ กันไว้ดีกว่าแก้!!!ใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก

5. โรคน้ำกัดเท้า

เป็นการติดเชื้อราที่ผิวหนัง มักเป็นหลังจากเกิดบาดแผลที่ผิวหนังบริเวณที่เปียกชื้นบ่อย ๆ เช่น ฝ่าเท้า ง่ามนิ้วเท้า

อาการ

มีผื่นแดงเป็นวงที่มีขอบชัดเขตชัดเจน มีขุย คันมาก เท้ามีกลิ่นเหม็น บางครั้งอาจมีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกลุ่ม อาจเป็นแผลขอบไม่เรียบ หรือแผลแยกเป็นร่องลึก หากเป็นแผลจะเจ็บมาก

การดูแลรักษา

1. ใช้ยาทารักษาเชื้อรา หากมีอาการมากต้องไปพบคุณหมอเพื่อจัดยาให้รับประทาน

2. การรักษาความสะอาดของเท้าไม่ให้มีบาดแผล ไม่ให้อับชื้น ไม่ควรสวมถุงเท้าซ้ำกันหลายวัน เพราะจะอับเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อรา ควรนำรองเท้าไปตากให้แห้งเสมอและใช้แป้งที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราโรยที่บริเวณเท้า

6. โรคมือ เท้า ปาก

โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ทำให้มีอาการไข้ เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส ซึ่งมีหลายตัวที่ทำให้เกิดได้ โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุด คือ เอนเตอโรไวรัส 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่าเชื้อ อีวี71

อาการ

เด็กที่เป็นโรคมือเท้าปาก มักเริ่มด้วยอาการไข้ เจ็บปาก กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล เพราะมีแผลในปากเหมือนแผลร้อนใน และมีผื่นเป็นจุดแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว แขน ขาได้ มักมีอาการอยู่ 2-3 วันจากนั้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์ แต่บางรายมีอาการหนักมากจนกินอาหารและน้ำไม่ได้

อาการแทรกซ้อนที่ต้องระวัง

– เด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม

– บ่นปวดศีรษะมาก ปวดทนไม่ไหว

– มีอาการพูดเพ้อไม่รู้เรื่อง สลับกับการซึมลง หรือเห็นภาพแปลก ๆ

– ปวดต้นคอ คอแข็ง มีการรับรู้สับสน ซึมลง และอาเจียน

– มีอาการสะดุ้งผวา ตัวสั่น ๆ แขนหรือมือสั่นบ้าง

– มีอาการไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้

การรักษา

การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการทั่ว ๆ ไปตามแต่อาการของผู้ป่วย เช่น เจ็บคอมาก รับประทานอะไรไม่ได้ หากเด็กดูอ่อนดูเพลียจากการขาดอาหารและน้ำ ให้พยายามป้อนน้ำ นมและอาหารอ่อน ในรายที่เพลียมากอาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด หรือหยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลในปาก

บทความแนะนำ แม่เตือน! โรคมือเท้าปาก ทำลูกไข้สูงจนช็อก

หน้าฝนย่างกรายเข้ามาพร้อมกับโรคภัยไข้เจ็บ อย่างนี้ต้องระมัดระวังเจ้าหนูให้ดีนะคะ หากเจ็บป่วยขึ้นมาต้องรีบดูแลรักษาเพื่อไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน

ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.bumrungrad.com

https://www.si.mahidol.ac.th

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5 โรคหน้าร้อนที่เด็กต้องระวัง

แพทย์ชี้! โรคผิวหนังที่พบบ่อยในเด็กและผู้ใหญ่