ภาวะลำไส้ทะลักในทารก ผนังหน้าท้องไม่ปิดเกิดจากอะไร
ลูกในท้องที่แม่ฟูมฟักจำเป็นต้องยุติการต้้งครรภ์ หมอบอกว่าเป็น ภาวะลำไส้ทะลักในทารก ผนังหน้าท้องไม่ปิดเกิดจากอะไร มาไขคำตอบไปด้วยกัน
เรื่องราวสุดเศร้า สะเทือนใจ จากคุณแม่ท่านหนึ่งได้โพสต์ในกลุ่มคนท้องคุยกัน ข้อความตอนหนึ่งว่า
วันนี้ไม่มีพุงมาอวด มีแต่น้ำตาของแม่ เมื่อวันนี้14/11/60 ลูกน้อยได้จากไปอย่างไม่กลับมาก ด้วยภาวะลำไส้ทะลักในทารก (Gastroschisis) สาเหตุเกิดจากโครโมโซมผิดปกติบางกลุ่ม จะพบความปกตินี้ 1:10,000 ซึ่งแน่นอนค่ะ ลูกเราอยู่ 1 ในนั้น แต่เรายังไม่ทราบว่าเคสเราเกิดจากสาเหตุอะไร
ระหว่างที่เราตั้งครรภ์ มีอาการไข้หวัดบ่อย ต้นเดือนที่ผ่านมาเราป่วยเป็นโรคกรวยไตอักเสบเกิดจากกระเพราะปัสสาวะอักเสบเพราะกลั้นฉี่ พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ บวกกับความเครียดที่สะสม
เราตรวจพบเมื่ออายุครรภ์ได้ 19 สัปดาห์ พบว่ามีลำไส้และตับลอยออกมาอยู่ข้างนอกตัวเด็ก ซึ่งในปัจจุบันได้มีการรักษาตัดเก็บภายหลังจากเด็กคลอด แต่เคสเราพบว่ากระดูกสันหลังน้องมีแค่ครึ่งเดียว คุณหมอสอบถามความสมัครใจเรา ถ้าจะไว้ก็ได้แต่ต้องได้ผ่าคลอดและน้องจะมีอาการหายใจช้า และเสียชีวิตในภายหลังเพราะน้องพิการหนัก
คุณหมอไม่อยากให้เรามีแผลคลอดที่ไม่ได้เลี้ยงลูก ภายหลังจาก 1 สัปดาห์ที่ตรวจเจอได้ทำการยุติการต้้งครรภ์
ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย และขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณแม่ด้วยนะคะ
อ่านภาวะลำไส้ทะลักในทารก และผนังหน้าท้องไม่ปิดเกิดจากอะไร หน้าถัดไป
เด็กไส้ทะลัก
ภาวะลำไส้ทะลักในทารกเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด ลักษณะทารก ผนังหน้าท้องมีรูโหว่ ลำไส้โผล่ออกมาภายนอก ซึ่งกรณีผนังหน้าท้องโหว่ตั้งแต่กำเนิด (Gastroschisis) เกิดจากความผิดปกติในการเชื่อมปิดกั้นของผนังหน้าท้องที่ปิดไม่สนิทตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ สาเหตุที่เกิดภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิดนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ ในบางกรณียังไม่อาจตรวจอัลตราซาวนด์ได้ และถ้าตรวจพบขณะตั้งครรภ์ก็ต้องส่งไปคลอดในโรงพยาบาลที่มีศัลยแพทย์ที่สามารถทำการผ่าตัดทารกได้หลังคลอด
ที่มา : https://www.manager.co.th
ผนังหน้าท้องไม่ปิดเกิดจากอะไร
ผนังหน้าท้องไม่ปิด ความผิดปกติแต่กำเนิด โดยแอดมินหมอแอน เพจ About US Clinic คลินิกอัลตราซาวด์ อธิบายว่า การที่ทารกในครรภ์มีการพัฒนาการปิดของผนังหน้าท้องในระยะตัวอ่อนที่ผิดปกติ ทำให้มีอวัยวะภายในช่องท้อง (+/- ช่องอก) ออกมาอยู่ภายนอกร่างกาย โดยอวัยวะนั้นอาจมีถุงเยื่อบุช่องท้องหุ้มอยู่หรือไม่มีก็ได้
สำหรับอวัยวะที่ออกมาอยู่ข้างนอกเจอได้หลายประเภท พบบ่อยคือ ลำไส้ และตับ บางครั้งความผิดปกติของผนังหน้าท้องนั้นอาจยาวไปถึงช่วงอกหรือท้องน้อยของทารก อาจมีหัวใจ/กระเพาะปัสสาวะ ออกมาอยู่ข้างนอกด้วย
อัลตราซาวดน์จะเห็นอะไร?
เวลาตรวจเราจะเห็นว่าผนังหน้าท้องของทารกนั้นปิดไม่สนิท มีส่วนของลำไส้/ตับ หรืออวัยวะภายในอื่น ๆ ออกมาลอยล่องอยู่ในน้ำคร่ำ ถ้ามีถุงเยื่อบุช่องท้องหุ้มอยู่ก็จะเห็นเหมือนมีก้อนยื่นออกมาจากท้องเด็ก โดยภายในถุงมีลำไส้/ตับที่ยื่นออกมานอกช่องท้องแล้วบรรจุอยู่
2 ชนิดที่พบได้บ่อย คือ gastroschisis(ไม่มีถุงหุ้ม) และ omphalocele(มีถุงหุ้ม)
หลังตรวจพบภาวะนี้แล้ว คุณหมอก็จะตรวจหาความผิดปกติร่วมอื่น ๆ ที่อาจพบได้ และพิจารณาเรื่องการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดค่ะ เพราะบางภาวะของผนังหน้าท้องไม่ปิดนี้สัมพันธ์กับภาวะโครโมโซมผิดปกติหรือกลุ่มอาการ (syndrome) บางอย่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผนังหน้าท้องไม่ปิดแบบมีถุงหุ้มอวัยวะภายใน (omphalocele)
การติดตามอัลตราซาวดน์ เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลทารกที่มีความผิดปกติชนิดนี้ โดยหลังจากได้รับการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์แล้ว (ตามข้อบ่งชี้) ถ้าผลปกติ จะมีการนัดตรวจอัลตราซาวดน์เป็นระยะเพื่อติดตามขนาดก้อน/อวัยวะภายในที่ออกมาอยู่ข้างนอก และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของก้อนและอวัยวะภายในที่แช่อยู่ในน้ำคร่ำเป็นระยะเวลานานนั้นๆ และให้การวางแผนการเตรียมความพร้อมในการคลอดและดูแลหลังคลอด
ภาวะแทรกซ้อนที่เจอได้คือ ก้อนแตก, ลำไส้โป่งพองหรือเน่าตายจากการถูกบีบรัด/บิดขั้ว เป็นต้น ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้คลอดทารกได้ตลอดเวลา
การรักษาทารกผนังหน้าท้องไม่ปิด
ทำได้หลังคลอดเท่านั้นค่ะ โดยต้องอาศัยการผ่าตัดแก้ไขผนังหน้าท้องที่ปิดไม่สนิทนั้น และเก็บอวัยวะภายในที่ยังไม่เสียหายกลับเข้าที่ กรณีมีความเสียหายมาก อาจต้องตัดลำไส้ทิ้งบางส่วน โดยก่อนที่ทารกจะได้รับการผ่าตัดรักษา ก็ต้องมีการดูแลอวัยวะภายในที่ออกมาอยู่ข้างนอกนั้นอย่างถูกวิธีด้วยค่ะ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจทำให้เก็บรักษาอวัยวะนั้นไว้ไม่ได้
การดูแลสตรีตั้งครรภ์และทารกที่มีความผิดปกติชนิดนี้ต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญหลายด้านค่ะ ทั้งสูตินรีแพทย์ที่มีความชำนาญในการติดตามอัลตราซาวด์เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ,กุมารแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิด และ ศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการผ่าตัดแก้ไขผนังหน้าท้องและระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจพบภาวะนี้มักจะมีการส่งตัวไปคลอดรพ.ที่มีทีมครบ เพื่อความพร้อมในการดูแลภาวะฉุกเฉินหลังคลอด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไม่อยากให้ลูกพิการ แม่ต้อง บำรุงครรภ์ ด้วยวิธีนี้!! (มีคลิป)
วิธีนับลูกดิ้น นับอย่างไร ถึงจะรู้ว่าลูกปลอดภัย ไม่เสียชีวิตในครรภ์
สัญญาณอันตรายของแม่ตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการเหล่านี้ ต้องไปพบหมอด่วน